สิบกิโลแรกยากกว่าแสนกิโลหลัง

20190707_firstten

เสาร์ที่ 20 กรกฎาคมนี้ จะเป็นวันครบรอบ 50 ปีการไปเยือนดวงจันทร์ของยานอะพอลโล 11

โลกกับดวงจันทร์นั้นห่างกัน 384,400 กิโลเมตร หรือ 40 เท่าของระยะทางกรุงเทพ-ลอนดอน ยานอะพอลโลใช้เวลาในการเดินทางเกือบ 103 ชั่วโมง

จรวดที่ส่งอะพอลโล 11 ไปดวงจันทร์นั้นมีชื่อว่า Saturn V ซึ่งมีเครื่องยนต์ 3 stage ด้วยกัน

Stage 1 มีเชื้อเพลิง 2 ล้านลิตร

Stage 2 มีเชื้อเพลง 1.3 ล้านลิตร

Stage 3 มีเชื้อเพลิง 0.3 ล้านลิตร

Stage 1+2 มีเชื้อเพลิงมากกว่า Stage 3 ประมาณ 11 เท่า แต่ถูกใช้หมดไปตั้งแต่ 9 นาทีแรกที่ออกเดินทาง

ส่วน Stage 3 ที่มีเชื้อเพลิงน้อยกว่าใครเพื่อนนั้น ถูกใช้งานสำหรับการเดินทางอีกหลายแสนกิโลมตรและร้อยชั่วโมงที่เหลือ

เหตุผลที่ช่วงแรกต้องใช้เชื้อเพลิงเยอะขนาดนั้น ก็เพราะว่ายานต้องพาตัวเองออกจากแรงโน้มถ่วงของโลกให้ได้

ผมว่าชีวิตคนเราก็ไม่ต่างกัน

สิบกิโลแรกยากกว่าแสนกิโลหลัง

ลองถามคนที่ไม่เคยออกกำลังกายแต่สุดท้ายกลับมาวิ่งมาราธอนได้ หรือคนที่ฐานะยากจนแต่สร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นเศรษฐีได้ หรือสตาร์ทอัพที่เกือบเจ๊งในช่วงปีแรกแต่กลับมาเติบโตเป็น 10 เท่าในภายหลังได้

สิบกิโลแรกยากกว่าสิบกิโลถัดไป และล้านแรกนั้นยากกว่าล้านถัดไปเสมอ

เหตุเพราะช่วงแรกนั้นเรามีแรงโน้มถ่วงของอดีตฉุดรั้งเราไว้อยู่ เราจึงจำเป็นต้องออกแรงให้มากที่สุดเพื่อพาตัวเองออกจากแรงโน้มถ่วงนั้น

การพาตัวเองออกจากแรงโน้มถ่วงฟังแล้วดูเหนื่อยหนักก็จริง แต่ข่าวดีก็คือเมื่อผ่านจุดนั้นมาแล้ว การเดินทางอีกแสนกิโลที่เหลือก็อาจจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นอีกต่อไปครับ

—–
ขอบคุณภาพจาก Flickr: NASA on The Commons

ขอบคุณข้อมูลจาก Space.com NASA’s Mighty Saturn V Moon Rocket Explained (Infographic)