ตอนเด็กๆ เราจะมีนิสัยชอบพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราเก่งแค่ไหน
สมัย 6 ขวบผมชอบพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นว่ากินเผ็ดได้ด้วยการกินโบโลน่าพริกทั้งแผ่นโดยไม่สะทกสะท้าน (แท้จริงแล้วผมพยายามกัดให้ไม่โดนพริก แล้วใช้วิธีกลืนพริกไปทั้งดุ้นเลย)
พอเรียนประถมผมก็มักจะเดินออกจากห้องสอบเป็นคนแรกๆ เพื่อให้คนอื่นเห็นว่าเราทำข้อสอบเสร็จเร็วแค่ไหน
พอวัยรุ่น ผมก็ชอบพูดแทรกคนนั้นคนนี้เพื่อแสดงให้เขารู้ว่าผมก็รู้เรื่องนี้นะ
แม้กระทั่งอายุมากขึ้นแล้ว นิสัยนี้ก็ยังไม่หาย เพียงแต่เพิ่มชั้นเชิงและความแนบเนียน
กลับดึก เพราะต้องการพิสูจน์ให้หัวหน้าเห็นว่าเราเป็นพนักงานที่ดีแค่ไหน
ซื้อมือถือรุ่นใหม่ เพื่อพิสูจน์ให้เพื่อนเห็นว่าเราก็มีเงินและมีรสนิยม
ไปวิ่งและแคปจอขึ้นเฟซบุ๊คเพื่อให้เห็นว่าเรารักสุขภาพ
ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดอะไร เพียงแต่อยากชวนมาตั้งคำถามว่าแรงที่ผลักดันให้เราทำอย่างนั้นแท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่?
อยากเติบโตในหน้าที่การงาน? อยากดูดี? อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น?
และการที่เราต้องพิสูจน์นั้น แสดงว่าลึกๆ แล้วเราขาดความมั่นใจรึเปล่า?
คนที่หน้าตาดีจริงๆ ไม่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองหน้าตาดี คนที่มีฐานะจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตัวเองมีฐานะ และคนที่มีบารมีจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตัวเองมีบารมี
การที่เราต้องพิสูจน์ อาจแปลว่าเรายังขาดสิ่งนั้นอยู่ก็ได้
ในทางกลับกัน การเติบโตอย่างแท้จริง หรือการประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง อาจหมายถึงการไปถึงจุดที่ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกต่อไป
ไม่ใช่เพราะว่าเก่งทุกอย่าง แต่เพราะเข้าใจแล้วว่าเราไม่ต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง
ถ้าทำได้ เราก็แค่รู้ตัวว่าทำได้ ไม่จำเป็นต้องอวดใคร
ถ้าทำไม่ได้ ก็แค่ยอมรับว่าเราทำไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องอายใคร
ถ้าเราสามารถใช้ชีวิตแบบนี้ ผมว่ามันก็น่าจะดีนะครับ
—–
อ่านบทความวันละตอนจาก Anontawong’s Musings ได้ที่
LINE: bit.ly/tgimline
Facebook: bit.ly/tgimfb
Twitter: bit.ly/tgimtwt