เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงชายผู้ถึงจุดสูงสุดในหน้าที่การงานไป มีผู้อ่านเข้ามาแสดงความเห็นหลายท่าน มีท่านหนึ่งถามคำถามน่าสนใจว่า การที่ผู้ชายคนนี้ปฏิเสธที่จะลองสัมภาษณ์ตำแหน่งงานที่สูงกว่าเดิมเพื่อจะได้มีเวลากับครอบครัว แสดงว่าเขากำลังอยู่ใน comfort zone อยู่รึเปล่า
ผมจึงตอบไปว่า หรือเราจะโดนนิทาน comfort zone หลอกเราอยู่?
พวกเรามักจะลืมคิดไปว่า เรื่องราวต่างๆ ที่เรายึดมั่นว่าเป็นความจริงนั้น ส่วนใหญ่มันเป็นนิทานที่เราเลือกที่จะเชื่อเท่านั้น (อ่านโดยละเอียดได้ในบทความ คุณจะเชื่อนิทานเรื่องไหน)
นิทาน comfort zone บอกเราว่า เราต้องไม่กลัวที่จะออกจากพื้นที่ comfort zone ของเรา เราต้องกล้าทำอะไรที่ยากกว่าเดิม เสี่ยงกว่าเดิม เราจะได้เติบโต และสุดท้ายสิ่งที่ได้รับกลับมามันจะเหนือกว่าการที่เราเอาแต่อยู่ใน comfort zone แน่นอน
ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็เชื่อนิทานเรื่องนี้มาตลอดนะครับ
แต่ผมก็กลับฉุกคิดได้ว่า การออกจาก comfort zone ที่เราได้ยินมา มักจะผูกติดกับเรื่องงานเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่มันแทบไม่เคยพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์เลย
นิทาน comfort zone จึงเชียร์ให้เราออกไปพูดต่อหน้าธารกำนัล แต่ไม่เคยเชียร์ให้เราคุยกับพ่อให้มากขึ้น
นิทานเรื่องนี้สอนให้เราออกไปตามหาความฝัน แต่ไม่เคยสอนให้เรากลับบ้านเร็ว
นิทานบอกให้เรากล้าทักทายคนแปลกหน้า แต่ไม่เคยบอกให้เราสะสางเรื่องค้างคาใจกับคนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด
ผู้ชายคนที่ผมพูดถึงเมื่อวาน การที่เขาปฏิเสธการเปลี่ยนงานเพราะอยากจะทำหน้าที่เป็นพ่อที่ดี อาจไม่ใช่คนที่ขาดความกล้าก็ได้
จริงๆ แล้วเขาอาจมีความกล้ามากกว่าพวกเราที่ป่าวประกาศว่าเราต้องออกจาก comfort zone เสียอีก
การที่เขาเลือกที่จะไม่เปลี่ยนงาน เลือกที่จะมีเงินเดือนเท่าเดิม เลือกที่จะลางานเพื่อไปร่วมประชุมผู้ปกครองทุกครั้ง ก็คือการออกจาก comfort zone แบบหนึ่งเช่นกัน
เพราะมันไม่ง่ายเลยที่จะเลือกให้ความสำคัญกับครอบครัวในขณะที่ทั้งโลกตะโกนบอกว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตในหน้าที่การงานและความมั่นคงทางการเงิน
นิทาน comfort zone เวอร์ชั่นที่เราฟังและเชื่อตามกันมา จึงอาจยังไม่สมบูรณ์นัก
และเราคงมิอาจตัดสินได้ว่าคนๆ หนึ่งติดอยู่ใน comfort zone
เพราะเขาอาจจะกำลังออกจาก comfort zone ในมิติอื่นๆ ของชีวิตอยู่ก็ได้
มิติที่เราเองไม่กล้าแม้แต่คิดจะทำด้วยซ้ำไปครับ