สิ่งหนึ่งที่ผมได้จากการอ่าน Sapiens – A Brief History of Humankind ก็คือ “นิทาน” หรือชุดความเชื่อของแต่ละยุคแต่ละสมัยจะเป็นตัวกำหนดความคิดและการกระทำของเรา
เหตุผลหนึ่งที่ยุโรปครองโลก เพราะเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ยุโรปเชื่อเรื่องการล่าอาณานิคมและการค้นพบดินแดนใหม่ ชาวยุโรปจึงออกทะเลไปยึดครองดินแดนที่ห่างไกลมากมายซึ่งรวมถึงทวีปอเมริกา ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งมีวิทยาการการเดินทะเลก้าวหน้ากว่ายุโรป กลับไม่ได้ทำในสิ่งนี้ เพราะในยุคนั้นฮ่องเต้ไม่ได้สนใจ “นิทาน” เรื่องเดียวกันนี้ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน Sapiens ตอนที่ 15 – เมื่อยุโรปครองโลก)
มาในยุคนี้ เรามีนิทานมากมายที่คนจำนวนมากเลือกที่จะเชื่อ
นิทานทุนนิยม – การเติบโตทางเศรษฐกิจและการเงินจะนำพามาซึ่งความเจริญและความสุขสบาย
นิทานมนุษยนิยม – มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและผลประโยชน์ของมนุษย์มีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
นิทานมนุษย์เงินเดือน – ตั้งใจเรียน จบมหาลัยดังๆ ได้งานบริษัทที่มั่นคง มีเงินออมและมีเงินลงทุน ทำงานให้ดีจนได้รับการโปรโมต การได้เป็นผู้บริหารระดับสูงคือเป้าหมายสูงสุด
นิทานเจ้าของกิจการ – ทำงานประจำไม่มีทางรวย การเป็นนายตัวเองและอิสรภาพที่จะทำอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้คือเรื่องสำคัญ หาไอเดียแล้วลงมือทำ สร้างบริษัทจนมีกำไร แล้วค่อยๆ ถอยออกมา เอาคนที่ไว้ใจได้มาดูแลกิจการ เราก็จะมี passive income ไปตลอดชีวิต
นิทาน Social Media – การมียอด followers และ engagements สูงๆ คือเป้าหมายที่สำคัญที่สุด
นิทานนิพพาน – การเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ เราจะหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ด้วยการเข้าถึงอริยสัจสี่ผ่านสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นทางสายเอกและทางสายเดียว
ยังมีนิทานอีกมากมายที่คนเราเลือกจะเชื่อ นิทานพระผู้สร้าง นิทานอเทวนิยม(คนไม่เชื่อในพระเจ้า) นิทานบิ๊กแบง นิทานสตาร์ทอัพ นิทานประชาธิปไตย นิทานพรหมลิขิต นิทานเพลย์บอย ฯลฯ
ผมคงไม่ขอออกความเห็นว่านิทานเรื่องไหนดี-ไม่ดี จริง-ไม่จริง แค่อยากชี้ให้คุณผู้อ่านลองมองไปรอบตัวว่าโลกนี้เต็มไปด้วยนิทานอะไรบ้าง และเรากำลังเลือกใช้ชีวิตอยู่ในนิทานเรื่องไหน
และถ้าไม่ชอบนิทานที่เรากำลังเล่นอยู่ ก็อย่าลืมว่าเราเปลี่ยนนิทานได้นะครับ
—–
Time Management Workshop รุ่นที่ 10 เปิดรับสมัครแล้วครับ เรียนวันเสาร์ที่ 1 กันยายนที่ Sook Station สุขุมวิท 101/2 (BTS อุดมสุข) ดูรายละเอียดได้ที่นี่ครับ https://goo.gl/eXKLhg (เหลืออีก 8 ที่)