ผม หัวหน้า และน้อง HR ออกเดินทางจากโรงแรมตอน 19.50 คนขับแท๊กซี่เป็นคุณลุงอายุห้าสิบกว่าแล้ว พูดอังกฤษไม่ค่อยได้แต่ก็พยายามชวนผมคุยตลอด (พอดีผมนั่งเบาะหน้า) ไม่ว่าจะชี้ให้เห็นฐานทัพอากาศของอินเดีย (ซึ่งมีโชว์รูปเครื่องบินเจ๋งๆ เพียบเลย) หรือบอกว่าตรงไหนเป็นแหล่งซื้อทอง ซื้อเสื้อผ้า ฯลฯ ซึ่งเสียดายที่ตลอดสามคืนที่ผ่านมาเราไม่มีโอกาสผ่านละแวกนี้เลย
ช่วงสองทุ่มรถในบังกาลอร์ติดมากยิ่งกว่าตอนเช้า เพราะอย่างที่บอกว่าเมืองนี้ต้องทำงานเพื่อรองรับลูกค้าในย่านอเมริกาและยุโรปเยอะมาก การทำงานกะดึกจึงเป็นเรื่องปกติของที่นี่ครับ กว่าจะผ่านจุดที่รถติดมาได้ก็ใช้เวลาชั่วโมงนึงพอดี จากนั้นก็วิ่งฉิวเลย 27 กิโลเมตรเจอไฟแดงแค่จุดเดียวเท่านั้น (อันนี้คนขับก็บอกกับผมเหมือนกัน)
ถึงสนามบินปุ๊บเราก็ต้องเตรียมตั๋วเครื่องบินที่ปริ๊นท์เอาไว้ตั้งแต่ก่อนมาจากเมืองไทย รวมถึงพาสปอร์ตเอาไว้โชว์รปภ.ที่รอตรวจอยู่ตรงประตูทางเข้า เพราะสนามบินที่นี่จะอนุญาตให้เฉพาะเจ้าหน้าที่กับคนที่เดินทางเข้าไปในตัวอาคารได้ ส่วนคนอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ หัวหน้าผมอธิบายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้คนมาเดินเร่ขายของในสนามบิน ส่วนจะเท็จจริงประการใดคงต้องรบกวนผู้รู้มาบอกผมด้วยนะครับ
ด้วยการสกรีนคนที่ค่อนข้างเข้มงวดนี่เอง ทำให้ในตัวสนามบินเองค่อนข้างจะเป็นระเบียบและไม่พลุกพล่าน ผมใช้เวลาแค่แป๊บเดียวก็เช็คอินเรียบร้อย เดินขึ้นไปชั้นสองเพื่อผ่านตม. (ตรวจคนเข้าเมือง แต่จริงๆ มันคือตรวจคนออกนอกเมือง) ซึ่งลักษณะคล้ายๆ กับตอนขาเข้าเพียงแต่ไม่หรูเท่า (กลับไปอ่านได้ที่อานนฯ อินอินเดียตอนที่ 1) แถมข้อดีก็คือคนต่างชาติไม่ต้องกรอกใบขาออกด้วย เขาให้เฉพาะคนอินเดียเท่านั้นที่ต้องกรอกใบพวกนี้
เมื่อผ่านตม.แล้วก็ถึงด่านตรวจสัมภาระและร่างกายว่าปราศจากสิ่งของที่จะเป็นอันตรายบนเครื่อง น่าสนใจมราเขามีแยกเลนชาย-หญิงด้วย ซึ่งก็สะดวกไปอีกแบบ แต่พอเลนผู้หญิงไม่ค่อยมีคน เจ้าหน้าที่ก็ส่งสัญญาณให้เราเอาสัมภาระ กระเป๋าสตางค์ มือถือ เข็มขัด ไปเข้าเครื่องเอ๊กซ์เรย์ของแถวของผู้หญิง แต่ตัวคนเองต้องกลับมาเข้าแถวของผู้ชายตามเดิม จึงเกิดเหตุการณ์ “คลาดสายตา” จากสมบัติของเราอยู่เกือบๆ ห้านาที โดยตอนที่เราเอาพวกกระเป๋าสตางค์ มือถือ เข็มขัด ใส่ถาดนั้น เจ้าหน้าที่จะให้ติ้วพลาสติกชิ้นนึงมาถือว่า คอนเซ็ปต์เดียวกับที่เราฝากของไว้ก่อนเดินเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ตนั่นแหละครับ พอเราเดินผ่านเครื่องตรวจและให้เจ้าหน้าที่ตรวจร่างกายเราเสร็จแล้วว่าไม่มีอาวุธอะไร เขาก็จะประทับตราที่บอร์ดดิ้งพาสของเรา แล้วเราจึงค่อยเอาติ้วไปแลกทรัพย์สินของเราคืนมา
ภายในตัวสนามบินนั้นมีร้าน Duty Free น้อยมาก ผมก็ไม่ได้เดินดูอะไรยกเว้นร้านหนังสือซึ่งหนังสือฝรั่งก็ราคาพอๆ กับเมืองไทยครับ (ยกเว้นหนังสือที่เขียนโดยชาวอินเดียก็จะถูกกว่าหน่อย) สนามบินที่นี่ทำเก้าอี้ดูน่านั่งมากๆ แถมหลายๆ โต๊ะก็มีที่ชาร์จให้ด้วย แต่เท่าที่ลองชาร์จแล้วรู้สึกว่ามันช้าราวกับเราชาร์จผ่านสาย USB จากคอมพิวเตอร์เลย
ผมแยกกับหัวหน้าและน้อง HR ตั้งแต่ตรง Duty Free เพราะหัวหน้าผมเขาเป็น Frequent Flyer เลยได้สิทธิ์ในการใช้เลาจ์ของการบินไทย และสามารถพาคนเข้าไปนั่งด้วยได้หนึ่งคน (ขามาหัวหน้าให้ผมได้ไปนั่งในเลาจ์ที่สุวรรณภูมิ ขากลับเลยเป็นตาของน้อง HR บ้าง) ผมก็ลองไปเดินหาอะไรกินดู ตอนแรกเห็นป้ายร้าน Noodle ก็คิดว่าได้กินบะหมี่น้ำซุปอุ่นๆ ก่อนเครื่องออกก็น่าจะดี แต่พอไปถึงเขามีขายแต่ผัดไทยกับผัดอะไรอีกซักอย่างจากมาเลเซีย ผมเลยไปเข้าร้านข้างๆ ชื่อ Mediterranean และได้กินไก่ย่างแทน
อ้อ ที่นี่มี wifi ฟรีด้วยนะครับ แต่จะใช้ได้ก็ต้องใส่เบอร์โทรศัพท์ของเราให้เขาส่ง OTP (One Time Password) มาให้ ซึ่งมือถือผมไม่ได้เปิดโรมมิ่งไว้ก็เลยไม่สามารถจะรับ SMS จากระบบได้
ใกล้ๆ เที่ยงคืนผมเดินไปรอที่เกทสุดท้ายพอดี ก่อนขึ้นเครื่องก็เข้าห้องน้ำ ข้อดีของห้องน้ำที่นี่คือห้องน้ำใหญ่โต แถมยังมีที่วางกระเป๋าเดินทางให้ด้วย สะดวกดีทีเดียว
สนามบินถือเป็นสิ่งแรกที่นักเดินทางจะเห็น และเป็นสิ่งสุดท้ายก่อนที่เขาจะกลับไป เป็นที่รู้กันดีว่าคนเรามักจะจำสิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายได้ดีเสมอ การทำสนามบินให้ดีจึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศครับ
เที่ยงคืนปุ๊ป เขาก็เรียกคนให้ทำการขึ้นเครื่อง เมื่อถึงที่นั่งแล้วผมก็หยิบผ้าห่มสีม่วงขึ้นมาห่มตัว (ทายสิว่าผมนั่งสายการบินอะไร?) เอาหูฟังเสียบหูและเปิดเพลง “ชีวิตยังคงสวยงาม” ของบอดี้สแลมขับกล่อมก่อนที่เครื่องบินจะพุ่งทยานกลับเมืองไทย
และแล้วการเดินทางมาอินเดียครั้งแรกของผมก็ถึงฉากสุดท้ายครับ ขอราตรีสวัสดิ์ทุกท่าน แล้วพบกันใหม่วันพรุ่งนี้!
—–
ภาพจากกล้องผู้เขียน ถ่ายที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2558
อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/
อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)
ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่”
ขอบคุณมากครับคุณคุกกี้คอฟฟี่!
LikeLike
น่าสนใจมากครับบบบบบบบบบ
โดยเฉพาะในประเด็นที่ “ต้องทำงานเพื่อรองรับฝั่ง USA”, เพราะผมเองก็เคยติดต่อกับ Call Centre ของ Brand หนึ่งทาง California แต่มันโอนสายมา India
เพราะเขา “Outsourcing” กะกลางคืนมายังประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีแต่มีค่าแรงต่ำ
เป็นอะไรที่น่าสนใจสุดๆ แต่ผมหาข้อมูลได้ไม่ค่อยมากเท่าไร
ถ้ามีอะไรดีๆ ในมุมนี้ก็รบกวน Share ลง Blog เลยนะครับ จะตามมาอ่าน 😀
LikeLike
โอ้น่าสนใจ หายไวๆ นะครับ พี่ก็ไม่ค่อยสบายเหมือนกัน ไอค่อกแค่กและมีไข้รุมๆ มาสองวันละ เดี๋ยวไปหาหมอหน่อยดีกว่า
LikeLike
ผมกลับมาแล้วเป็นไข้ไทฟอยด์เลยครับพี่รุฒม์ แถมตอนนี้หมอเจอว่าติดเชื้อในทางเดินหายใจมาด้วยอีก อย่างเซ็ง T T
LikeLike