สองประเภทของคนไม่มีเวลา

ประเภทแรก คือคนที่มีภาระหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำงานสองกะเพื่อให้มีเงินพอใช้เดือนชนเดือน มีญาติผู้ใหญ่นอนติดเตียงให้ต้องดูแล ไม่มีกำลังจ้างแม่บ้านเลยต้องทำงานบ้านทุกอย่างด้วยตัวเอง

ถ้าไม่มีเวลาแบบนี้ ต่อให้มี time management techniques ดีๆ ก็อาจไม่ช่วยอะไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องการจัดการเวลา แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้คนที่อยู่ลำดับล่างสุดของสังคมลืมตาอ้าปาก คนกลุ่มนี้อาจไม่เคยนึกถึง work-life balance ด้วยซ้ำ เพราะโจทย์สำคัญของเขาคือการอยู่รอด

ส่วนคนไม่มีเวลาประเภทที่สอง คือคนที่มี discretionary time หรือมีเวลาที่เลือกได้ว่าจะเอาไปทำอะไร แต่เขาเลือกที่จะใช้ discretionary time นี้ไปกับกิจกรรมมากมายในชีวิต เช่นออกกำลังกาย เรียนป.โท ลงคอร์สต่างๆ สังสรรค์กับเพื่อน ดูเน็ตฟลิกซ์ ทำงานหนักหน่วง รับจ๊อบเสริม เริ่มทำธุรกิจส่วนตัว แถมยังอยากเป็นสามีที่ดี เป็นแม่ที่เพอร์เฟ็กต์อีกด้วย

คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกว่าไม่มีเวลา แต่ที่รู้สึกว่าเวลาไม่เคยพอก็เพราะว่าเราเลือกเอง ไม่เหมือนคนกลุ่มแรกที่ไม่มีเวลาเพราะไม่มีทางเลือก

คนที่มี discretionary time แต่ยังเลือกที่จะใช้ชีวิตให้ยุ่งตลอดเวลานั้นสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการศึกษา time management ด้วยการนั่งคุยกับตัวเองว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ และอะไรคือสิ่งที่เราพร้อมจะตัดออกไปจากชีวิตและยอมรับได้กับผลลัพธ์ที่จะตามมา (หรือที่จะหายไป)

ผมเดาว่า “คนไม่มีเวลา” ที่อ่านบล็อกนี้อยู่น่าจะเป็นประเภทที่สองเสียส่วนใหญ่ ขอให้เราตระหนักไว้ว่าเราเป็นคนโชคดี ที่ยังมีโอกาสคิดเรื่อง work-life balance และหาทางออกให้กับความไม่มีเวลานี้ได้ด้วยตนเองครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Saving Time: Discovering a Life Beyond the Clock by Jenny Odell

เรามี “กล่องเวลา” วันละ 100 กล่อง

คนเรานอนวันละประมาณ 7 ชั่วโมง เวลาที่ตื่นก็คือ 17 ชั่วโมงหรือประมาณ 1000 นาที

เมื่อเราแบ่ง 1000 นาทีออกเป็นกล่องละ 10 นาที เราจะมีเวลา 100 กล่อง

แต่ละกล่องเราใช้ไปกับอะไรบ้าง นับเป็นเรื่องน่าสนใจ

ถ้านับตั้งแต่ตื่นนอนจนมาถึงตอนนี้ รู้สึกตัวว่าทำกล่องหล่นหายไปแล้วหลายสิบกล่อง ขอให้ระลึกไว้ว่าเราสามารถใช้ 2-3 กล่องถัดไปในการ “เปลี่ยนเกม” ได้เสมอ

หากใช้กล่องส่วนใหญ่ได้ถูกวิธี เราก็จะมีวันที่ดี เมื่อมีวันที่ดี เราก็จะมีสัปดาห์ที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่เดือนที่ดี ปีที่ดี ทศวรรษที่ดี และชีวิตที่ดีครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Wait But Why

เราบริหารเวลาไม่ได้ แต่เราบริหารพลังงานได้

“ผมเคยมีเมนเทอร์คนหนึ่ง คือพี่แต๋ม ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ซีอีโอของดุสิตธานี พี่แต๋มเป็นคนที่โปรดักทีฟที่สุดคนหนึ่งที่เคยรู้จัก แกบอกผมว่า กระทิง สุดท้ายยูไม่สามารถบริหารเวลาได้หรอก โดยเฉพาะตำแหน่งนี้ เพราะเวลาก็มีธรรมชาติของมัน ใน 100 เปอร์เซ็นต์ ยูอาจบริหารเวลาได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์

แต่สิ่งที่ยูบริหารได้ 100 เปอร์เซ็นต์คือพลังงาน ฉะนั้นเวลาประชุม ยูไม่จำเป็นต้องใส่ทุกอย่างในประชุมก็ได้ บางประชุมยูควรเป็นผู้ฟังที่ดีไหม บางประชุมเป็นผู้สังเกตการณ์ก็พอไหม แล้วคอยกระตุ้นให้คนพูด คือการบริหารพลังงาน พอเป็นผู้บริหารเราจะมีตารางที่ต้องไปประชุม ไปโน่นนั่นนี่ตลอดเวลา ฉะนั้นยูบริหารเวลาไม่ได้หรอก แต่ยูบริหารพลังงานได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานเท่ากันในทุกงานหรือทุกประชุม ผมว่าอันนี้เป็นอินไซต์ที่สำคัญมาก”

– กระทิง พูนผล จากหนังสือ Leaders’ Wisdom

ทุกครั้งที่ผมจัดเวิร์คช็อป Time Management ประโยคแรกที่ผมจะพูดเสมอคือเวิร์คช็อปนี้ไม่ได้เกี่ยวกับ Time Management

Time Management เป็นชื่อเรียกที่ผิด เราไม่สามารถทำให้เวลาเดินช้าลงหรือเร็วขึ้นได้ เราไม่สามารถทำให้พรุ่งนี้มาก่อนวันนี้ได้

เราจัดการอะไรกับเวลาไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่เราจัดการได้คือตัวเราเอง

ยิ่งตำแหน่งเราสูงขึ้นเท่าไหร่ ตารางเวลาของเราก็จะกลายเป็น “สมบัติสาธารณะ” มากขึ้นเท่านั้น จะมีคนอยากคุยกับเรา อยากขายของ อยากได้คำชี้แนะ อยากให้เราฟันธง ถ้าเราไม่ทำ time blocking หรือบล็อกเวลาบางส่วนเอาไว้บ้าง เราจะพบว่าเวลาของเราถูกแย่งชิงไปแทบหมดสิ้น เหลือเพียงเศษซากเวลาเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ต่างอะไรกับเบี้ยหัวแตก มีอยู่ประปรายแต่นำไปซื้ออะไรไม่ได้

เมื่อเราสามารถทวงคืนเวลาบางส่วนผ่าน time blocking แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่องการของจัดการพลังงานของเรานี่แหละ

ปัจจัยที่กระทบกับพลังงานตลอดวันของเราก็อาทิเช่น

  • คุณภาพการนอนหลับในคืนที่ผ่านมา
  • ประเภทของอาหารและเครื่องดื่มที่เรารับประทานเข้าไป
  • การออกกำลังกาย/ยืดเส้นยืดสาย
  • เวลาพักเบรค
  • ความยาก/ความน่าเบื่อ/ความถึกของงานที่เราต้องประสบในวันนี้
  • พลังงานที่เราดูดซับจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือคนที่บ้าน

สองข้อสุดท้ายเราอาจคุมอะไรไม่ได้มากนัก แต่ที่เหลือนั้นเราควรควบคุมได้เกือบ 100%

ถ้าเรานอนมาไม่พอ แค่งานง่ายๆ เราก็ยังงอแง แต่ถ้าเราได้นอนมาเต็มที่ สติปัญญาและ willpower ของเราจะแข็งแกร่งมาก

ส่วนเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับคนที่อายุ 40 ขึ้นไปจะมีความไวมากขึ้นว่าอาหารไหนกินแล้วพลังงานดี อาหารไหนกินแล้วพลังงานตก ส่วนตัวผมแค่กินมันฝรั่งทอดห่อละ 20 บาท ชั่วโมงถัดมาร่างกายจะหนืดๆ ทันที

ถ้าเราออกกำลังกายตอนเช้าอย่างพอดี พลังงานเราจะดีไปทั้งวัน แต่ถ้าเราไม่มีเวลาหรือออกไปไหนไม่ได้ แค่วิดพื้นหรือทำสควอทซัก 1 นาทีก็ช่วยให้เลือดลมสูบฉีดและช่วยให้หายง่วงได้

สุดท้ายคือเรื่องพักเบรคที่เรามักจะละเลยกัน อาจจะเพราะว่าแค่ทำงานอย่างเดียวก็ไม่ทันแล้ว จึงมองเห็นว่าการพักเบรคจะทำให้เสียเวลา แต่การพักเบรคนั้นสำคัญมาก ขนาดการแข่งรถ Formula 1 ยังต้องมี pit stop เลย แถมร่างกายของเราก็ไม่ใช่เครื่องจักร ตามันพร่าได้ ไหล่เป็น office syndrome ได้ กระเพาะปัสสาวะมันอักเสบได้ รถ Formula 1 พังแล้วพังยังมีอะไหล่ แต่ร่างกายคนไม่มีอะไหล่ ถึงซ่อมได้ก็อาจไม่เหมือนเดิม

บริหารพลังงานของเราให้ดี เพื่อจะได้ทำหน้าที่โดยไม่เบียดเบียนตัวเองครับ


ขอบคุณ Quote จากหนังสือ Leaders’ Wisdom กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร สัมภาษณ์ พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรียบเรียง