บางทีเราก็แค่ต้องเลิกขัดขาตัวเอง

การทำสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิตบางทีมันก็ยากลำบากเหมือนกัน

ยิ่งโปรเจ็คนั้นมีความหมายมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งกลัวจะผิดหวังมากเท่านั้น

เราจึง “หลบซ่อน” ด้วยการ “ทำการบ้าน” เยอะๆ อ่านโน่นอ่านนี่ ถามคนนั้นคนนี้ ทำทุกอย่างเพื่อประวิงเวลาให้ไม่ต้องเริ่มต้นตัวโปรเจ็คจริงๆ เสียที

อุปสรรคที่สำคัญที่สุดจึงไม่ใช่ความยากลำบากในตัวงาน แต่เป็นความขี้กลัวในตัวเรา

เมื่องานสำคัญมันไม่เกิด เราก็จะต่อว่าตัวเองว่าเรานี่ช่างไม่มีวินัย ไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความกล้าหาญ เราจึงวางโปรเจ็คนั้นลงและหันเหความสนใจไปทำสิ่งอื่นๆ พอขึ้นปีใหม่หรือได้ดูคลิปสร้างแรงบันดาลใจ เราก็เอาโปรเจ็คนี้ขึ้นมาปัดฝุ่น เป็นวังวนอยู่อย่างนี้

บางทีอาจมีทางเลือกที่ดีกว่า หากเราเลิกคาดหวังว่ามันจะต้องดีเลิศ และเลิกมองว่าเราคือตัวเอกของละคร

แทนที่จะมองว่าเราต้อง motivate ตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำสิ่งต่างๆ ลองมองว่าสิ่งต่างๆ มันจะเกิดขึ้นตามครรลองอยู่แล้วถ้าเราไม่มัวขัดขาตัวเองอยู่

แทนที่จะถามว่า “เราต้องทำยังไง” (How do I do this?)

ลองถามว่า “อะไรต้องเกิดขึ้นโดยมีเราเป็นตัวกลาง?” (What needs to happen through me?)

เมื่อเอา “ตัวกู” ออกจากสมการ และใช้ร่างกายและจิตใจของเราเป็นเพียงแค่ทางผ่านของการกระทำ

สิ่งดีๆ และมีคุณค่าอาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ต้องคาดคั้นกับตนเองจนเกินไปครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Oliver Burkeman: The Imperfectionist: In Your Own Way

ความเร็วไม่สำคัญเท่ากับการไม่ล้มเลิก

ชีวิตเราเดี๋ยวนี้สะดวกสบายกว่าแต่ก่อนมาก อยากดูอะไรก็ได้ดูทันที อยากกินอะไรก็ได้กินแทบจะในทันที (รอพี่ไรเดอร์มาส่ง) อยากซื้ออะไรก็ซื้อได้ทันทีและไม่เกิน 2 วันก็ได้ของกันแล้ว

เมื่อทุกอย่างมันง่ายดาย เราก็อาจจะกลายเป็นคนที่รอไม่เป็น

เมื่อการรอมันยากเย็น เราจึงอยากบรรลุเป้าหมายให้ได้โดยเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นรายได้ ตำแหน่งหน้าที่ หรือยอดผู้ติดตาม

การมีเป้าหมายเป็นเรื่องดี เพราะมันทำให้ชีวิตมีทิศทาง ทำให้เราไม่ใช้พลังงานและวันเวลาอันจำกัดไปอย่างสะเปะสะปะ

เมื่อเป้าหมายมีแล้ว ทิศทางมีแล้ว ก็เหลือแต่ว่าเราจะเข้าหาเป้าหมายด้วยความเร็วแค่ไหน

ถ้าเราเร่งเครื่องเต็มสูบ ก็อาจจะถึงเส้นชัยก่อนคนอื่น แต่ความเร็วนี้ก็มีต้นทุนของมัน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ สุขภาพ และความเคารพที่มีต่อตนเอง

ที่ต้องระวังก็คือ ยิ่งเรารีบเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะเกิด “อุบัติเหตุ” ที่ทำให้การเดินทางต้องยุติก็มากขึ้นเช่นกัน

หรือหากเรารีบเกินไปจนไม่สนุกและไม่ชอบตัวเองเอาเสียเลย ก็มีโอกาสสูงยิ่งที่เราจะล้มเลิกเสียกลางคัน

หากรู้ตัวว่าเราไม่ใช่คนประเภท go-getter ที่อยากได้อะไรแล้วต้องได้ให้เร็วที่สุด เราก็ไม่จำเป็นต้องฝืน

เราสามารถไปสู่เป้าหมายด้วยความเร็วที่เหมาะสมกับตัวเอง จะถึงช้ากว่าคนอื่นก็ไม่เป็นไร ข้อดีของการไปอย่างช้าๆ คือเราจะได้เพลิดเพลินกับการเดินทาง

ตราบใดที่เรายังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง และโชคชะตาไม่ใจร้ายกับเราเกินไปนัก เราก็จะไปถึงที่หมายได้เช่นกัน

เพราะความเร็วไม่สำคัญเท่ากับการไม่ล้มเลิกครับ

Outcome สำคัญกว่า Output

นี่เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับคนที่ชอบความ productive

เราบอกตัวเองว่าต้องเก่งขึ้น เร็วขึ้น ทำให้มากขึ้น มีผลงานให้มากขึ้น

แต่คำถามสำคัญก็คือสิ่งต่างๆ ที่เราทำออกมา สุดท้ายแล้วนำมาสู่อะไรบ้าง

เหมือนเราเล่นเกม เก็บไอเท็มมาได้มากมาย (output) แต่สุดท้ายแล้วเราเอาชนะตัวบอสและช่วยเจ้าหญิงได้รึเปล่า (outcome)

ปี 2564 กำลังจะหมดลง เป็นเวลาที่ดีที่จะได้ทบทวนตัวเอง ว่า what you’ve got to show for all the hard work you have done

ถ้าพบว่า เหนื่อยแทบตาย แต่สุดท้ายไม่ค่อยมีอะไรที่เราจะหยิบขึ้นมาบอกได้ว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่มีความหมายและเราภาคภูมิใจ

ก็อาจต้องกลับมาทบทวน game plan ของตัวเองใหม่ ว่าปีหน้าจะวางตัว-วางใจอย่างไร อะไรคือสิ่งที่มีแต่เราเท่านั้นที่ทำได้และทำได้ดี

โจทย์นี้ไม่ได้ง่าย แต่คุ้มค่าต่อการใช้เวลาใคร่ครวญ

ไม่อย่างนั้นเราจะติดกับดักตัวเลขและการวัดผล ซึ่งมันอาจไม่ได้มีความหมายอะไรจริงๆ ก็ได้ครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ ทำมากเหนื่อยฟรี ทำถูกวิธีไม่เหนื่อยเลย โดย ฮิโรคาซึ ยามานาชิ (Hirokazu Yamanashi)