ทำอย่างไรให้ลูกน้องกล้าฟีดแบ็คเรา

ความยากอย่างหนึ่งของการเป็นหัวหน้า คือน้องมักจะไม่กล้าให้ฟีดแบ็คเราตรงๆ

ยิ่งเราอยู่สูง คนที่กล้าให้ฟีดแบ็คเรายิ่งน้อยลงทุกที ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ที่การหางานดีๆ ไม่ได้ง่าย คนทำงานย่อมอยากจะเซฟตัวเอง ถ้าเขามีอะไรที่คิดว่าเราปรับปรุงได้เขาก็คงลังเลที่จะบอกเพราะกลัวจะทำให้เราไม่พอใจ

ในฐานะหัวหน้าหรือผู้บริหาร จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะมีคนที่หวังดีพอและกล้าพอที่จะเดินมาบอกตรงๆ ว่าเราควรปรับปรุงเรื่องอะไร

ดังนั้น หากเราอยากเก่งขึ้น อยากเป็นหัวหน้าที่ดีขึ้น เราต้องเป็นฝ่ายเข้าหาเขามากกว่า

เครื่องมือหนึ่งที่ช่วยได้แน่ๆ คือการมี 1:1 กับลูกน้อง เพื่อที่เราจะได้ให้ฟีดแบ็คกันและกันได้อย่างสบายใจ

แต่การถามคำถามว่า “อยากให้พี่ปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง” ก็อาจจะไม่ค่อยได้รับคำตอบเท่าไหร่ เพราะเอาจริงๆ

คำถามที่น่าจะช่วยให้เขากล้าพูดกับเรามากกว่า ก็เช่น

“มีเรื่องอะไรที่อยากให้พี่ซัพพอร์ตน้องเพิ่มเติมรึเปล่า”

“มีอะไรที่ถ้าพี่ทำแล้วจะช่วยให้ทีมทำงานได้ดีกว่านี้มั้ย”

เมื่อน้องกล้าบอกเราแล้วว่าเขาคิดยังไง สิ่งสำคัญคือเราต้องกลั้นใจที่จะไม่แก้ตัว เพราะหากเราให้เหตุผลที่ดูเป็นการปกป้องตัวเอง แม้ว่ามันจะเป็นความจริงก็ตาม น้องก็อาจจะรู้สึกว่าพูดไปก็เท่านั้น สุดท้ายก็โดนพี่ปัดตกอยู่ดี

สิ่งที่ควรทำคือการเก็บเอาไปคิดว่าเราสามารถปรับได้ตามที่น้องขอมั้ย ถ้าปรับได้ก็เยี่ยม และควรแจ้งให้น้องทราบ แต่ถ้าปรับไม่ได้ ก็ควรจะแจ้งให้น้องทราบเช่นกันว่าเพราะอะไร หรือบางที แม้เราจะเปลี่ยนตามที่น้องขอไม่ได้ แต่เพียงแค่ถ้าเขารู้ว่าเราได้ทำอะไรบางอย่างแล้ว (เช่นไปคุยกับหัวหน้าทีมคนอื่นมาให้) แค่นี้น้องก็รู้สึกดีแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง คือการที่น้องมาเล่าให้เราฟังว่าเขาไม่พอใจเพื่อนร่วมทีมอย่างไร แต่ไม่กล้าบอกกับเพื่อนร่วมทีมตรงๆ แม้ว่าเราจะตั้งใจฟังและพยายามเข้าใจเขาได้ แต่ก็ไม่ควรเป็นคนกลางที่จะไปบอกอีกฝ่าย ไม่อย่างนั้นจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมการนินทาคนในทีมขึ้นมา การจบที่สวยที่สุดคือการให้เขาทั้งสองคนได้คุยกันต่อหน้า โดยอาจจะมีเราร่วมพูดคุยด้วยก็ได้

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ


ขอบคุณเนื้อหาส่วนใหญ่จาก Harvard Business Review: How Leaders Can Get the Feedback They Need to Grow

บันได 6 ขั้นสู่การเป็นผู้นำในองค์กร

1. Follower – พนักงานทุกคนเริ่มจากการเป็นผู้ตามก่อน เราไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้หากเราไม่รู้จักการเป็นผู้ตามที่ดี

2. Collaborator – งานส่วนใหญ่ไม่อาจทำเสร็จได้ด้วยตัวคนเดียว คนที่จะทำผลงานได้ดีคือคนที่เข้าใจว่าจะทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างไร หลายครั้ง soft skills จึงสำคัญยิ่งกว่า hard skills

3. Instructor – เมื่อเราเริ่มมีประสบการณ์ เราก็จะต้องเริ่มสอนคนในทีมให้รู้ในสิ่งที่เรารู้ ให้ระวังในสิ่งที่เราเคยพลาด เราต้องเป็นพี่เลี้ยงที่น้องๆ พึ่งพาได้

4. Manager – ณ จุดนี้ เราก็จะมีภาระหน้าที่มากขึ้น ไม่ใช่แค่สอน ไม่ใช่แค่ทำงานของตัวเองให้สำเร็จ แต่ต้องคอยดูแลให้ทุกคนในทีมบรรลุในเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้

5. Influencer – เมื่อสะสมผลงานและบารมีมาถึงระดับหนึ่ง เราจะสามารถมีอิทธิพลต่อทีมอื่นหรือแม้กระทั่งผู้บริหารได้ เมื่อมีปัญหา เขาจะวิ่งมาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ

6. Leader – เมื่อเราขึ้นมาถึงจุดนี้ จะมีคนรอฟังว่าเราจะเอายังไง ผู้นำที่ดีจะไม่บอกคนอื่นว่าต้องทำอะไร แต่เขาจะมีภาพที่ชัดเจนอยู่ในหัว และสื่อสารภาพนั้นออกมาเพื่อให้พนักงานลงมือทำไปในทิศทางเดียวกัน


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Leadership U – Accelerating Through the Crisis Curve by Gary Burnison

เหตุผลที่มังกรอ้าปาก

“ถ้าท่านไปที่ถ้ำอชันตาที่อินเดียจะพบภาพอุปมาของอหิงสา เขาทำเป็นรูปมกร (มังกร) อ้าปาก มังกรเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจมหาศาล แต่ก็อนุญาตให้ปลาตัวเล็กๆ เข้าไปว่ายน้ำเล่นในปากโดยไม่ทำร้าย ทั้งช่วยปกป้องคุ้มครอง”
-เขมานันทะ หนังสือดวงตาแห่งชีวิต

สิ่งที่มาพร้อมกับอายุงาน คือความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่

เมื่อมีอำนาจสูงส่ง ก็ให้คุณให้โทษได้มากเป็นเงาตามตัว

หากผู้นำใช้อำนาจไปในทางที่ดี คนจำนวนมากก็จะได้อานิสงส์และร่วมอนุโมทนาไปด้วย

หากผู้นำใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ผู้นำคนนั้นย่อมไม่ได้รับการสรรเสริญ

เมื่อเราได้เป็นใหญ่ มีปลาเล็กปลาน้อยมาพึ่งพิง จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด สิ่งทีเราเลือกกระทำจะเป็นตัวบอกว่าเราคือมังกรหรือเป็นตัวอะไรครับ