จดหมายถึงใกล้รุ่ง

20171204_neardawn

ถ.อ่อนนุช เขตประเวศ

กรุงเทพมหานคร

5 นาฬิกา จันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2560

สวัสดีใกล้รุ่ง

ถ้าลูกยังไม่เกิด วันนี้จะเป็นวันที่ลูกอยู่ในท้องแม่ครบ 40 สัปดาห์พอดี

แต่เนื่องจากลูกเกิดตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 วันนี้ลูกจึงมีอายุครบ 11 วัน

เกือบสองสัปดาห์ที่เรารู้จักกันมา ใกล้รุ่งเป็นเด็กเลี้ยงง่าย กินนมเก่ง โชคดีที่ใกล้รุ่งไม่งอแง การเลี้ยงลูกคราวนี้จึงเหนื่อยน้อยกว่าคราวก่อนมาก

ใกล้รุ่งเป็นลูกคนที่สองของแม่ผึ้งกับพ่อรุตม์ และเป็นลูกชายคนแรกของบ้านหลังนี้

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ฟ้าส่งพี่สาวของลูกมาให้ช่วงปลายหน้าฝนพอดี พ่อกับแม่เลยตั้งชื่อให้เขาว่า “ปรายฝน” (พ่อมีเขียนจดหมายถึงพี่ปรายฝนด้วยนะ)

มีแต่คนบอกว่า งั้นคนต่อไปก็ต้องชื่อต้นหนาวสิ

พ่อก็ได้แต่คิดในใจว่าคงไม่ใช่ เพราะถ้าเกิดได้ลูกชายขึ้นมา เวลาพูดว่า “ต้นหนาวๆๆ” มันจะฟังดูเป็นผู้ชายอ่อนแอไปหน่อย

แล้วชื่อใกล้รุ่งมาได้ยังไง พ่อจะเล่าให้ฟัง

ตอนที่พ่อรู้ตัวว่าแม่ผึ้งตั้งครรภ์ และเมื่อนับวันแล้วจะครบ 40 สัปดาห์ในวันที่ 4 ธันวาคม มันก็ทำให้เรานึกถึงคนๆ หนึ่ง

ในช่วงเวลาที่พ่อกับแม่โตมา วันที่ 5 ธันวาคมเป็นวันที่มีความหมายกับคนไทย เพราะเป็นวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 อันเป็นที่รักยิ่งของคนทั้งประเทศ (ลูกคงงงว่า คนๆ หนึ่งจะเป็นที่รักของคน 70 ล้านคนได้อย่างไร ไว้ลูกโตอีกหน่อยพ่อจะเล่าให้ฟังนะ)

เมื่อรู้ว่าวันเกิดของลูกจะใกล้กับวันเกิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อกับแม่ก็คิดว่า ถ้าชื่อของลูกมีความเชื่อมโยงกับพระองค์ท่านบ้างก็น่าจะดี

ทุกครั้งที่เรียกชื่อลูก พ่อกับแม่จะได้ระลึกถึงพระองค์ท่านด้วย

ช่วงนั้นแม่เขากำลังหัดเล่นเปียโนเพลง “ยามเย็น”  เวอร์ชั่นที่วี วิโอเล็ตร้องในหนัง “พรจากฟ้า” แต่พ่อคิดว่าถ้าตั้งชื่อลูกว่ายามเย็น ต้องโดนเพื่อนตัวแสบเรียกสั้นๆ ว่า “ยาม” แน่ๆ

โชคดีที่ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์อีกเพลงที่ใกล้เคียงกับยามเย็น นั่นก็คือ ใกล้รุ่ง

ซึ่งก็สอดคล้องกับ ปรายฝน คือมีสองพยางค์ ใช้คำไทยแท้ และมีความเชื่อมโยงกับ “เวลา” ทั้งคู่

(พ่อเป็นคนให้ความสำคัญกับเวลามาก เพราะสิ่งที่เราเรียกว่า “ชีวิต” นั้น จริงๆ แล้วก็คือ “เวลา” ที่เราได้มาอาศัยอยู่บนโลกใบนี้)

แม่ถามพ่อว่า ถ้าชื่อใกล้รุ่ง จะไม่โดนเพื่อนล้อเหรอว่า “ใกล้รุ่งๆ แล้วเมื่อไหร่จะรุ่งล่ะ?”

จริงๆ พ่ออยากให้ลูกรู้สึก “ใกล้รุ่ง” อยู่ตลอดเวลานะ เพราะมันจะทำให้ลูกมีความหวังและมีความเพียร เมื่อไหร่ก็ตามที่คิดว่าตัวเอง “รุ่งแล้ว” นั่นแสดงว่าลูกกำลังตกอยู่ในความประมาท

พ่อกับแม่เก็บชื่อ “ใกล้รุ่ง” ไว้เป็นความลับ ไม่บอกใครเลย ขนาดพี่ปรายฝนก็ยังไม่รู้ แต่เวลาคุยกับลูกตอนอยู่ในท้อง พ่อกับแม่จะเรียกลูกว่า “หนวดขาว”

หนวดขาวคือชื่อตัวละครใน One Piece การ์ตูนเรื่องโปรดของพ่อ เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ชายที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก

อีกเหตุผลที่พ่อเลือกหนวดขาวมาตั้งเป็นโค้ดเนมให้ลูก ก็เพราะว่าหนวดขาวสามารถควบคุมแผ่นดินได้ พูดง่ายๆ ก็คือเขามีพลังแผ่นดินนั่นเอง

ถ้าปรายฝนเป็นลูกฟ้า ใกล้รุ่งก็น่าจะเป็นลูกดิน

ก่อนที่ใกล้รุ่งจะคลอด พ่อกับแม่ก็กังวลเล็กน้อยว่า ปรายฝนจะรู้สึกว่ารึเปล่าว่าน้องมาแบ่งความรักจากพ่อและแม่ไป

แต่ความกังวลนี้ก็คลี่คลาย เพราะพอพี่ปรายฝนเห็นหน้าใกล้รุ่งครั้งแรก เขาก็เอามือลูบหัวลูกเบาๆ แถมยังค่อยๆ ก้มลงมาหอมแก้มใกล้รุ่งตั้งหลายครั้ง

ช่วงแรกพี่ปรายฝนเขาหวงใกล้รุ่งขนาดที่ว่า ถ้าคนอื่นจะอุ้มใกล้รุ่ง ปรายฝนจะทักท้วงทันทีว่า “ไม่อุ้มๆ” ยอมให้อุ้มได้คนเดียวเท่านั้นคือแม่ผึ้ง

พี่ปรายฝน มีชื่อจริงว่า “วลีรัตน์” ซึ่งผู้ใหญ่ที่บ้านพ่อเคารพนับถือตั้งให้

7 วันก่อนที่ใกล้รุ่งจะคลอด พ่อก็ขอให้ผู้ใหญ่ท่านเดิมตั้งชื่อให้เช่นกัน พอวันอาทิตย์ที่ 19 พ.ย.พ่อก็ได้รับคำอวยพรมาว่า

“ทายาทแห่งธรรมนามสอดคล้องผู้เป็นพี่ ด้วยวาจาอันซื่อสัตย์ แลเป็นวาจาอันทรงฤทธิ์ ด้วยบุญที่กำเนิดเกิดเป็นทายาทของลูก นามนั้นชื่อ สัจจรัตน์”

ขอให้ลูกเป็นคนมีสัจจะ

ขอให้ลูกเป็นคนติดดิน

ขอให้ลูกแข็งแรง

ขอให้ลูกมีจิตใจที่ดีงาม

ขอบคุณที่มาอยู่ด้วยกันในบ้านหลังนี้

พ่อขอให้สัจจะว่าจะดูแลใกล้รุ่งให้ดีที่สุดครับ

 

รักลูกเสมอ
แม่ผึ้ง-พ่อรุตม์-พี่ปรายฝน

อย่าเอามือเปื้อนสบู่ไปขยี้ตา

20170628_handfullofbubble

ปรายฝน ลูกสาวของผมอายุได้ขวบ 8 เดือนแล้ว

ทุกคืนก่อนเข้านอน ผมจะมีหน้าที่พาปรายฝนเปลี่ยนผ้าอ้อม แปรงฟัน แล้วก็ล้างมือ

ปรายฝนโปรดปรานการล้างมือมาก ผมจะเป็นคนอุ้มเขาขึ้นมาแล้วเอียงตัวไปใกล้ๆ ก๊อกน้ำให้เขาเปิดน้ำเอง จากนั้นปรายฝนก็จะเรียกร้องให้ผมกดฟองสบู่คิเรอิใส่มือให้เขาได้ถูมือไปมา เดาว่าเขาคงชอบความรู้สึกลื่นๆ และกลิ่นที่หอมติดมือ

แต่เมื่อคืนก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อปรายฝนนึกสนุกตบมือในขณะที่ฟองสบู่ยังเต็มมืออยู่ ฟองก็เลยกระเด็นไปโดนกระจกและโดนหน้าผม ก่อนที่จะห้ามไว้ทันฟองก็กระเด็นใส่ตาปรายฝนเสียแล้ว

ปรายฝนรีบเอามือซ้ายไปขยี้ตา ผมก็รีบคว้ามือปรายฝนออก (แต่เค้าขยี้ไปทีสองทีแล้วนะครับ) พอจับมือซ้ายเขาไว้ เขาก็เอามือขวาขึ้นมาขยี้ตาแทน (ตอนนั้นมือผมว่างแค่มือเดียวเพราะอีกมืออุ้มปรายฝนอยู่) ผมเลยต้องรีบวางปรายฝนลงแล้วจับมือเขาไว้ทั้งสองข้าง พาไปล้างมือให้สะอาดในห้องอาบน้ำก่อน แล้วค่อยเอาน้ำมาล้างหน้าล้างตาให้พอหายปวดแสบปวดร้อน

ระหว่างที่เช็ดตัวให้ปรายฝนที่กำลังยืนงงๆ ว่า ทำไมยิ่งขยี้ตาก็ยิ่งแสบตา ผมก็คิดได้ว่าบางทีผู้ใหญ่เราก็มีอาการอย่างนั้นเหมือนกัน

อาการของคนที่รีบขยี้ตาทั้งๆ ที่มือยังเปื้อนสบู่อยู่

ไม่ว่าจะเป็นคู่รักที่มานั่งถกกันว่าใครถูกใครผิด ทั้งๆ ที่อารมณ์ยังคุกรุ่น

หรือคนมีชื่อเสียงที่ออกมาแถลงข่าวเพื่อพยายามกลบเกลื่อนเรื่องที่คนสงสัย

หรือปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่เรารีบร้อนแก้ไขแต่พอทำไปแล้วสถานการณ์กลับเลวร้ายกว่าเดิม

เมื่อไหร่ก็ตามที่ฝุ่นละอองในชีวิตทำให้เราแสบตา

ก่อนจะทำอะไร อย่าลืมล้างมือ-ล้างใจก่อนทุกครั้งนะครับ


facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives

 

ลิเกการศึกษา

20170618_ligae

[ถาม]: โทษนะคะ ตอนนั้นจิตวิญญาณความเป็นครูหายไปไหมคะ ?”
[ตอบ]: ไม่ถึงขนาดนั้น แต่มาสะดุดใจตอนปี พ.ศ. 2531 ตอนนั้น อ.อารี สัณหฉวี อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สาธิต เชิญ Professor Hotchkis, G.D. จากมหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลีย มาเลกเซอร์เรื่องการสอนแบบ mastery learning ให้พวกครูสาธิต

ตอนนั้นผมอยากสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กอัจฉริยะ อ.อารีรู้เรื่องนี้เลยชวนผมมานั่งฟัง แต่ผมหยิ่ง ฝรั่งจะมาสอนอะไร วิธีสอนของเขาจะมาสู้อะไรเรา

ที่ไหนได้ สิ่งที่เขาสอนทำให้เราเห็นว่า ไอ้ที่เราสอนกวดวิชา สรุปให้เด็กจำเพื่อนำไปสอบ เราควรจะสอนไหม หรือควรจะสอนความรู้ที่ติดตัวเด็กไป

สอนกวดวิชาเหมือนใส่ชุดลิเก เป็นเทพ เป็นเจ้า แต่พอเล่นเสร็จ เราถอดชุดออกใช่ไหม ถอดออกมันก็ไม่ใช่เทพแล้ว เนี่ยเราสอนเด็กเหมือนเล่นลิเก คนนี้เก่ง รำสวย ชฎาสวย แต่มันใช้กับชีวิตจริงตรงไหน

ความรู้ที่เราสอนพอสอบเสร็จทิ้งหมดนะ ผมเรียกคณิตศาสตร์ลิเก วิทยาศาสตร์ลิเก
พอแสดงเสร็จ คนดูกลับ จบ วันรุ่งขึ้นเก็บเงินคนดูเข้ามาดูใหม่

ถ้าคุณเป็นพระเอกในลิเกคุณต้องเป็นพระเอกในชีวิตจริงได้ด้วยสิ แต่ชีวิตจริงไม่ได้เอาลิเกมาใช้เลย

เราลืมเรื่อง “ความทั่วถึง”

ไอ้ที่เราสอนเด็กติดแพทย์ ติดวิศวะ เราคิดว่าเราเก่ง โถ..จะไม่ติดได้ยังไง เราสอนตั้งปีกว่า แต่เด็กที่เราทิ้งไปคือเด็กที่มาเรียนกับเราแล้วไม่รู้เรื่อง

เรียนกับ อ.พูลศักดิ์ยังไม่รู้เรื่องก็ทิ้งวิชาคณิตศาสตร์ไปเลย แต่จริงๆ คณิตศาสตร์ที่ต้องใช้กับชีวิตประจำวัน มันควรจะแปะติดตัวเราไป ไม่ใช่คณิตศาสตร์ลิเก

แล้วพอเจอ professor เรารู้เลยว่า ที่ผ่านมาเวลาเราสอนเราพูดวิธีเดียว เราคิดว่าพูดแค่นี้นักเรียนต้องรู้ พอนักเรียนไม่รู้เราบอกว่า “คนนี้ต้องมีอะไรผิดปกติ” แต่จริง ๆ แล้ว “เราเองผิดปกติ”

เหมือนคนเป็นหมอ คนไข้มารักษาไม่หาย เราโทษคนไข้ไหม ไม่ เพราะจริงๆ เราผิด

เรามีหน้าที่มองนักเรียนแต่ละคนในจุดเล็กๆ

คนเก่งทำได้ ใช้เวลาสั้นแล้วมาดูแลเพื่อน คนอ่อนใช้เวลาเรียนมากหน่อย

เพราะฉะนั้นเวลาทำแบบฝึกหัด สมมติโจทย์มี 30 ข้อ คนเก่งให้ทำไปเลย 30 ข้อ คนอ่อนทำได้ 5 ข้อ พอแล้ว นักเรียนทุกคนรู้เท่าเทียมกัน เขาเรียก “เต็มที่” และ “ทั่วถึง” ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่มีในระบบการศึกษาไทย

– อาจารย์พูลศักดิ์ เทศนิยม
อดีตติวเตอร์กวดวิชาที่ได้ค่าสอนวันเดียว 20 ล้าน
นิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับเดือนมกราคม 2554
นำมาถ่ายทอดออนไลน์โดย ไชยยศปั้น OKNation Blog 

—–

ผมเองเคยเรียนโรงเรียนกวดวิชาอยู่ครั้งหนึ่งตอนเตรียมตัวสอบเข้ามัธยม 1 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

ช่วงนั้นเตรียมพัฒน์ฮอตมาก เพราะปีนั้นเด็กที่จบม.6 จากที่นี่เอนทรานซ์ติดเยอะเป็นอันดับสองของประเทศ เป็นรองแค่โรงเรียนเตรียมใหญ่ฯ จนส่งผลให้รุ่นผมมีนักเรียนถึง 1000 กว่าคนและห้องเรียน 20 ห้อง

พอจบม.3 เทอมแรก ก็ไปเรียนนิวซีแลนด์ จึงไม่เคยมีโอกาสได้กวดวิชาอีกเลย

มานั่งนึกดู ผมอยู่ที่นิวซีแลนด์สามปี ไม่เคยเห็นใครกวดวิชาเลย

—–

คำพูดของอาจารย์พูลศักดิ์ที่ว่าสอนกวดวิชาเหมือนสอนเล่นลิเกนี่ฟังแล้วจี๊ดหัวใจ

และถ้าผมเป็นอาจารย์กวดวิชาเองก็คงจี๊ดกว่านี้อีกหลายเท่า

ซึ่งจะว่าไปแล้วผมก็ไม่คิดว่าเราควรโทษอาจารย์กวดวิชานะครับ เพราะเขาก็แค่เติมเต็มความต้องการของตลาดเท่านั้นเอง

ยิ่งอาจารย์กวดวิชามีรายได้มากเท่าไหร่ ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการศึกษาในบ้านเรามากเท่านั้น

การศึกษาก็เหมือนการเล่นเกม กติกาก็ง่ายๆ  คือมาเรียนให้ครบชั่วโมงและสอบให้ผ่านคุณก็จะได้ไปต่อ พอคุณผ่านด่านครบ 16 ด่าน (ประถม มัธยม อุดมศึกษา) คุณก็จะได้ใบที่เรียกว่าปริญญาตรีเพื่อไปเริ่มเกมใหม่ที่เรียกว่าชีวิตการทำงาน

ประเด็นก็คือชีวิตการทำงานเรากำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก วิธีการทำงานของเราในวันนี้แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง แต่หลักสูตรการศึกษา(บางส่วน)ของเราอาจจะเก่ากว่า 20 ปีด้วยซ้ำ

ผมคงไม่คิดจะเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา เพราะเชื่อว่ามีคนตั้งใจจะทำอยู่แล้ว เพียงแต่มันยากมากและคงต้องใช้เวลาอีกซักพัก

และโลกแห่งการศึกษาก็คงยากที่จะตามโลกแห่งความจริงได้ทัน แค่ลองจินตนาการว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไรตอนที่ลูกสาวผมจบปริญญาตรีในอีก 20 ปีข้างหน้า หัวผมก็เต็มไปด้วยความว่างเปล่า

ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ถ้าเกมการศึกษายังบังคับให้ลูกเราเป็นนางเอกลิเกอยู่ ก็คงต้องว่าไปตามนั้น

แต่ในฐานะพ่อคนหนึ่ง คงต้องไม่ลืมสอนลูกให้เป็นนางเอกในชีวิตให้ได้ด้วยเช่นกันครับ

——

ขอบคุณข้อมูลจากนิตยสารคู่สร้างคู่สม ฉบับเดือนมกราคม 2554 (ถ่ายทอดออนไลน์โดย ไชยยศปั้น OKNation Blog )