คำอธิบายเรื่องการขึ้นสวรรค์-ลงนรกที่ถูกจริตผมมากที่สุด

เราเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำชั่วก็จะตกนรก

ภาพเก่าที่เราจำติดตาคือมีพญายมราชคอยพิพากษาว่าคนคนนี้ควรจะได้ไปที่ไหน

“พญายมราช มีบริวารที่คนไทยรู้จักดี ได้แก่ พระกาฬไชยศรี เทพผู้ส่งสารแห่งความตาย ซึ่งมีรูปปั้นอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เก็บดวงวิญญาณต่าง ๆ บ้านไหนที่จะมีคนตาย พระองค์จะทรงใช้นกแสกบ้าง นกเค้าแมวบ้าง ไปเกาะหลังคา ร้องเตือนให้ทราบล่วงหน้า หรือบันดาลนิมิตดีร้าย หากผู้นั้นมีปัญญาจะได้รีบขวนขวายทำบุญ ก่อนจะหมดโอกาสในโลก ส่วนในขณะทรงทำหน้าที่พิพากษา ท่านจะมีผู้ช่วยบันทึกกรรมของแต่ละดวงวิญญาณ ได้แก่ สุวัณ ผู้จดการกระทำความดีใส่สมุดทองคำ และ สุวาณ ผู้จดการกระทำชั่วใส่สมุดหนังหมา”*

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าทุกคนที่ตายไปต้องมาผ่านพญายมราชเท่านั้น คิวคงจะยาวน่าดู อาจจะดีกว่าถ้าโลกหลังความตายมี super computer และ AI ที่คอยประมวลผลความดี-ความชั่วทั้งหมดที่เราสั่งสมมา แล้วตัดสินว่าเราควรจะไปไหนในภพภูมิทั้ง 31 ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมามัวเปิดสมุดทองคำหรือบัญชีหนังหมากันอยู่

แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเพียงความเชื่อและไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มันอาจจะเป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้นเพื่อให้คนหมั่นทำความดีและละเว้นความชั่วเท่านั้นเอง

แต่คำอธิบายเรื่องการขึ้นสวรรค์หรือลงนรกที่ผมเคยอ่านแล้วถูกจริตผมมากที่สุด มาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อมาจากศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์โกเอ็นก้า

เมื่อเราทำความดี จิตใจของเราก็จะสว่างและเบาสบาย

เมื่อเราทำความชั่ว จิตใจเราก็จะมืดๆ และหนักๆ

ดังนั้น “ธรรมชาติจิต” ของคนทำดีเป็นประจำกับคนที่ทำชั่วเป็นนิจย่อมแตกต่างกัน

เมื่อเราสิ้นอายุขัย จิตดวงเดิมดับ เกิดจิตดวงใหม่มันก็ย่อมไป “จับ” ภพภูมิที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของจิตนั้น

ตอนเด็กๆ เราเคยทำการทดลอง ที่เอาน้ำกับน้ำมันมาผสมกัน สุดท้ายมันก็จะแยกเป็นคนละชั้นอยู่ดี น้ำย่อมไปอยู่กับน้ำ น้ำมันก็จะไหลไปอยู่กับน้ำมัน

จิตของเราก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มันจะไหลไปอยู่ในชั้นที่เหมาะสมกับตัวเอง

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีทั้งพญายมราช ไม่ต้องมีการจดบัญชีหนังหมา และไม่ต้องมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองโดยไม่ต้องมีใครมาตัดสินครับ


ขอบคุณข้อมูลพญายมราชจาก ไทยนิวส์: ทำความรู้จักกับ พญายมราช พญามัจจุราช เทพเจ้าแห่งนรกและความตาย

อ่านนิทาน-ตักข้าว-ล้างมือ

วันนี้มีสามเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระมาเล่าให้ฟังครับ

เรื่องที่ 1

เกือบทุกคืน ผมจะเป็นคนอ่านนิทานให้ปรายฝน (6 ขวบ) กับใกล้รุ่ง (4 ขวบ) ฟังก่อนนอน

ซึ่ง 5 นาทีแรกที่เริ่มอ่านนิทาน เด็กๆ ยังไม่ง่วง จึงไม่ค่อยมีสมาธิฟังนิทานเท่าไหร่ จะออกแนวชวนคุยมากกว่า

เมื่อคืนวันจันทร์ พอผมเริ่มอ่านนิทานเรื่องแรก ปรายฝนก็เริ่มชวนคุย

“แด๊ดดี้ ปรายฝนคิดตลอดเวลาเลย หยุดคิดไม่ได้”

ผมนึกครึ้มอกครึ้มใจ เลยตอบไปว่า

“เพราะความคิดมันเป็นอนัตตาไงลูก”

“ที่เป็นเพื่อนกับโดราเอมอนเหรอ”

“อันนั้นมันโนบิตะ อันนี้คืออนัตตา”

“แล้วอนัตตาคืออะไร”

“คือควบคุมไม่ได้ เหมือนมันชีวิตของมันเอง”

ปรายฝนหยุดไปครู่หนึ่ง ผมเลยเริ่มอ่านนิทานต่อ สักแป๊บปรายฝนก็โพล่งขึ้นมาว่า

“ปรายฝนหยุดคิดได้แล้วๆ”

“เห็นมั้ย เวลาจะหยุดมันก็หยุดของมันเองเหมือนกัน”

พอผมพูดเสร็จปรายฝนก็เงียบ และตั้งใจฟังนิทานจนหลับไป


เรื่องที่ 2

นี่เป็นเรื่องที่สังเกตมานานแล้วเวลาไปทานข้าวที่ร้านอาหาร

เวลาไปกินกันเป็นหมู่คณะแบบ 6 คนขึ้นไป มักจะมีสมาชิกคนหนึ่งที่มี service mind อาสาตักข้าวให้ทุกคน โดยจะไปยืนที่โถข้าว แล้วเริ่มตักข้าวใส่จานคนที่อยู่ใกล้สุดก่อน จากนั้นจึงให้คนอื่นส่งจานข้าวของตัวเองมา แล้วเขาก็จะตักให้แล้วส่งกลับไป

หรือกับแกงจืด/ต้มยำที่อยากตักใส่ถ้วยเล็กก็ใช้วิธีเดียวกัน คือส่งถ้วยของตัวเองมา ให้ตักใส่ถ้วย แล้วส่งกลับ

ผมรู้สึกว่า “การยึดถือเป็นของเรา” นี่มันเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน

จานใบนี้ ถ้วยใบนี้ วางอยู่บนโต๊ะของมันดีๆ พอเรามานั่งอยู่ตรงนั้น เราก็รู้สึกว่ามันเป็นจานของเรา เป็นถ้วยของเราทันที

เราจึงต้องส่ง จานของเรา/ถ้วยของเรา ไปให้เขาตักข้าวตักแกงให้ แล้วส่งกลับมาที่เราคนเดียว

ในชีวิตประจำวัน ผมเลยพยายามเตือนตัวเองเรื่องนี้

ตอนเช้า ในวันที่แม่บ้านทำข้าวให้กิน ผมกับแฟนจะทานข้าวด้วยกันสองคน

ผมจะตักข้าวใส่จานที่วางอยู่ตรงหน้าผม แล้วยื่นจานนั้นให้แฟน (lady first!) แล้วค่อยหยิบจานที่วางอยู่ตรงหน้าแฟนมาตักข้าวเพื่อเป็นจานของผม

อาจฟังดูยุ่งยากวุ่นวายแปลกๆ แต่หากเราระลึกได้ว่า จานข้าวนี้ยังไม่ใช่จานของเราซักหน่อย เราก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น


เรื่องที่ 3

สองปีที่แล้ว สมัยที่ยังไม่มีวัคซีนให้ฉีดกัน เราจะถูกสอนว่าควรล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 30 วินาที

ซึ่งเอาจริงๆ มันก็ใช้เวลานานกว่าปกติเหมือนกัน ธรรมดาเราล้างแค่ 10 วินาทีเท่านั้นแหละ ทริคที่ได้ยินเขาบอกมาคือให้ล้างไปและร้องเพลงช้าง พอร้องจบจะครบ 30 วินาทีพอดี

แต่จะให้ร้องเพลงช้างในใจทุกครั้งก็เขินตัวเอง ผมเลยจะใช้วิธีถูมือไปมาให้ครบ 30 ครั้ง แล้วค่อยๆ ถูนิ้วทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว ก็จะใช้เวลาประมาณ 30 วินาที

พอระยะหลัง ฉีดวัคซีนแล้ว การ์ดเริ่มตก ระยะเวลาในการล้างมือก็หดสั้นลงเรื่อยๆ

เมื่อวันอังคาร ผมเพิ่งเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศ พอประชุมเสร็จตอนห้าโมงก็รีบออกจากออฟฟิศเพื่อจะได้เลี่ยงรถติด เมื่อกลับถึงบ้าน ก็เข้าห้องน้ำล้างมือตามความเคยชิน

ผมถูสบู่และล้างน้ำอย่างรวดเร็ว พอจะก้าวเท้าออกจากห้องน้ำ ก็เกิดบทสนทนานี้ขึ้น

“เฮ้ย เมื่อกี้ยังล้างไม่ถึง 30 วิเลยนะ”

“ไม่เห็นเป็นไรเลย สะอาดพอแล้วแหละ(มั้ง)”

“ต้องรีบไปทำอะไรเหรอ”

“…จริงๆ ก็ไม่ได้ต้องรีบไปไหน”

“แล้วเวลา 30 วินาที จะมีให้ตัวเองไม่ได้เลยหรือไง”

“โอเค ก็ได้ๆ”

ผมเลยเดินกลับไปที่อ่างล้างหน้าอีกครั้ง รู้สึกตลกตัวเองหน่อยๆ ที่จะมาล้างมือซ้ำ แต่ก็ค่อยๆ ล้างมือตามสูตรเดิมจนแน่ใจว่าครบ 30 วินาทีแน่ๆ

จากที่ยุ่งๆ มาทั้งวัน การได้อยู่กับตัวเองครึ่งนาทีก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีเหมือนกัน

แล้วผมก็คิดได้ว่า บางทีเราก็รีบกันจนเป็นนิสัย

รีบทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะรีบไปทำไมด้วยซ้ำ

ทำบุญแล้วรวยจริงหรือ

ก่อนอื่นต้องนิยามก่อนว่า “รวย” คืออะไร

ถ้าความรวยไม่ได้ผูกกับตัวเงินในบัญชีเท่ากับความรู้สึกที่มีในใจ

คนที่มีเงินแสนที่รู้จักพอ อาจรวยกว่าคนที่มีเงินล้านที่ยังไม่พอก็ได้

เพราะเมื่อยังยังหิวอยู่ ก็ต้องดิ้นรนให้ได้มา จนไม่มีพื้นที่ว่างที่จะแบ่งปันให้ใคร

แต่ถ้าเราไม่ได้หิวโหย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องตักตวง เราพร้อมจะชวนคนอื่นมาร่วมโต๊ะอาหารกับเราด้วย

การทำบุญจึงเป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักพอ ฝึกให้กระเพาะกิเลสมีขนาดกะทัดรัด ฝึกให้เราพอใจกับปัจจุบันและไม่หวั่นเกรงอนาคต

การทำบุญที่ถูกต้อง จึงคือการทำบุญเพื่อมุ่งไปสู่การลดความข้นเหนียวในจิตใจ ไม่ใช่เพื่อหวังผลตอบแทนอะไร

เมื่อเรารู้จักเอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งปัน ใครก็อยากร่วมงานและทำธุรกิจด้วย แม้จะยังไม่มี passive income แต่เราจะมี passive reputation คือชื่อเสียงที่ขจรขจายโดยที่เราไม่ต้องออกแรง ซึ่งย่อมจะทำให้มีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิต เป็นวงจรกุศลที่ทำให้ชีวิตไหลขึ้นที่สูง

เมื่อวางใจได้เช่นนี้ การทำบุญก็น่าจะทำให้รวยขึ้นได้จริงๆ ครับ