เหตุผลที่ของเต็มบ้านเสมอ

เพราะเวลาเราซื้อของหนึ่งชิ้น มันไม่ได้ซื้อแค่หนึ่งชิ้น

ราวกับของที่เราซื้อมามีชีวิต และสั่งการให้เราซื้อ “เสื้อผ้าเครื่องประดับ” มาให้มันสวมใส่ด้วย

เวลาเราซื้อไอโฟนมาหนึ่งเครื่อง มันก็สั่งให้เราซื้อเคส ซื้อฟิล์มติดหน้าจอ ซื้อหูฟังไร้สาย ซื้อสมาชิกแอปอย่าง Spotify และ Netflix

เวลาเรา “จัดโต๊ะคอม” เราไม่ได้แค่จัดระเบียบโต๊ะ แต่เราซื้อเก้าอี้ ซื้อที่วางแล็ปท็อป ซื้อคีย์บอร์ด ซื้อที่เก็บสาย ซื้อโคมไฟ ซื้อลำโพง

เวลาเราซื้อทีวี เราก็ต้องหาซื้อที่ตั้งทีวี บางทีก็เลยเถิดเป็นชุดวางทีวีที่มีทั้งตู้โชว์ ชั้นวางของ ลิ้นชัก สนนราคาแพงกว่าทีวีเสียอีก

การซื้อของเพียง 1 อย่าง อาจจะนำพาให้เราซื้อของเพิ่มอีก 10 อย่าง

เป็น 10 อย่างที่คงจะไม่ได้ซื้อ หากเราไม่ได้ซื้อของชิ้นแรก

และนี่คือเหตุผลที่ของเราเต็มบ้านเสมอครับ

ทำไมยิ่งห้ามยิ่งทำ – Boomerang Effect

ผมเคยคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีลูกสาวอยู่ในช่วงวัยรุ่น ผมในฐานะที่มีลูกสาวเหมือนกันเลยถามว่าพอโตไปเป็นวัยรุ่นแล้วคุยกันยากมั้ย อาจารย์ก็เลยเล่าว่าเด็กวัยนี้จะมีความต่อต้านผู้ใหญ่อยู่ในตัวอยู่แล้ว พอเราบอกว่าอยากให้เขาทำ A เขาก็จะทำ B ดังนั้นวิธีแก้ก็คือการบอกให้เขาทำ B เขาจะได้ทำ A อย่างที่เราต้องการ 😉

เพื่อนผมอีกคนหนึ่งก็เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้ามีคนมาบอกว่าทำ A สิ แถมยังพูดย้ำด้วยว่าอย่าลืมทำ A นะ สุดท้ายเขาก็จะพานไม่ทำมันซะเลย ทั้งที่ๆ ตอนแรกตั้งใจจะทำ A อยู่แล้ว

ปฏิกิริยาเช่นนี้ มีชื่อเรียกในทางจิตวิทยาว่า psychological reactance หรือในอีกชื่อที่น่าจะติดหูกว่าก็คือ boomerang effect

เหตุใดจึงเกิด boomerang effect ที่ห้ามสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น หรือขอให้ทำสิ่งใดแล้วกลับไม่ยอมทำสิ่งนั้น

เพราะหนึ่งในสิ่งที่คนเราหวงแหนมากที่สุดก็คืออิสรภาพ การโดนใครสั่งให้หันซ้ายหันขวา แม้จะมาจากความหวังดี มันก็ยังเป็นการริดรอนอิสรภาพ สิทธิและตัวตนของเขาอยู่ดี

ดังนั้น การทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่โดนสั่งมา ก็คือการได้เรียกสิทธินั้นกลับคืนมา แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่ามันอาจไม่ได้เป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ตาม

สำหรับคนที่ชอบจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ว่าจะในฐานะพ่อแม่หรือเจ้านาย ก็ควรระลึกถึง boomerang effect นี้เอาไว้

จะได้ไม่พูดเยอะเกินไปจนเสียงานครับ

ทำไมเดินเข้าครัวแล้วจำไม่ได้ว่าจะมาเอาอะไร

ไม่ใช่เฉพาะแค่ในครัวเท่านั้น บางทีก็เดินไปห้องนอน ห้องนั่งเล่น เดินไปโต๊ะทำงานเพื่อน แล้วเราก็ยืนงงอยู่แป๊บนึงพร้อมฮัมเพลงพี่เบิร์ด “ฉันมาทำอะไรที่นี่”

แล้วเราก็มักจะโทษตัวเองว่าไม่ค่อยมีสติหรือจิตหลุด

ขอให้รู้ว่าเราไม่ได้เป็นแค่คนเดียว จริงๆ แล้วเป็นการหลายคนจนนักจิตวิทยาเรียกอาการนี้ว่า The Doorway Effect

หมายถึงว่า เมื่อเราเดินผ่านประตูจากห้องหนึ่งไปสู่ห้องหนึ่ง ความทรงจำของเราบางส่วนอาจเลือนหายไปชั่วคราว

เพราะเมื่อเปลี่ยนห้อง บริบทก็เปลี่ยน สมองจะทำการ “กันพื้นที่” หรือ mental blockage เพื่อให้พร้อมสำหรับการรับมือกับสภาพแวดล้อมใหม่

และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้เราจำไม่ได้ว่าเราเดินมาห้องนี้ทำไมครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ The Art of Making Memories by Meik Wiking