
ความเครียดไม่ได้ฆ่าเรา
สิ่งที่ฆ่าเราคือทัศนคติที่มีต่อความเครียดต่างหาก
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ได้ทำการสอบถามผู้คน 30,000 คน อเมริกาเป็นเวลา 8 ปี ว่า “คุณมีความเครียดมากแค่ไหนในปีที่ผ่านมา”
และอีกคำถามหนึ่งก็คือ “คุณเชื่อรึเปล่าว่า ความเครียดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณ”
จากนั้นนักวิจัยก็ติดตามว่าในช่วง 8 ปีนี้ มีใครเสียชีวิตบ้าง
สิ่งที่นักวิจัยพบก็คือ กลุ่มคนที่มีความเครียดมากๆ มีโอกาสสูงขึ้น 43% ที่จะเสียชีวิต
แต่จุดหักมุมอยู่ตรงนี้ครับ
ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นมานี้ มีผลเฉพาะกับกลุ่มคนที่เครียดมากๆ และเชื่อว่าความเครียดมีผลร้ายต่อสุขภาพเท่านั้น
ส่วนกลุ่มที่เครียดมากๆ แต่ไม่เชื่อว่าความเครียดมีผลร้ายต่อสุขภาพ กลับเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด น้อยกว่าคนที่บอกว่าไม่ค่อยเครียดด้วยซ้ำไป
—–
เวลาเราเครียด ร่างกายมักจะมีปฏิกิริยาตอบสนองหลายอย่าง
เช่นหัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจแรงขึ้น เหงื่อออกที่มือเป็นต้น
เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกให้เรารู้ว่า “สถานการณ์ไม่ดีละ”
แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองว่านี่เป็นสัญญาณว่าร่างกายของคุณมีชีวิตชีวาขึ้นล่ะ เป็นการเตรียมตัวที่จะได้เจอกับความท้าทายล่ะ?
หัวใจเต้นเร็วขึ้น คือการเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้น
หายใจแรงขึ้น ก็คือการนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ช่วยให้เราคิดอะไรได้เร็วขึ้น
จริงๆ แล้วอาการเหล่านี้จึงไม่ใช่สิ่งที่แย่ แต่มันคือการเตรียมพร้อมของร่างกายของเราที่จะรับมือกับสถานการณ์อันท้าทายต่างหาก
ธรรมดาเวลาคนเรามีความเครียด หัวใจเต้นแรงขึ้น สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นตามมาคือหลอดเลือดจะตีบลง
(ถ้าหลอดเลือดตีบบ่อยๆ เลือดก็ไหลเวียนไม่ดี อาจส่งผลให้เป็นโรคหัวใจได้)
แต่นักวิจัยที่ฮาร์วาร์ดได้ทำการ “ปรับเปลี่ยนมุมมอง” ของผู้เข้าร่วมการทดลอง ให้เห็นว่าอาการต่างๆ ของร่างกายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนะ
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ แม้ผู้เข้าร่วมจะประสบสภาวะเคร่งเครียด หัวใจเต้นแรงขึ้นก็จริง แต่หลอดเลือดกลับอยู่ในสภาพเดิม ไม่ได้ตีบลงแต่อย่างใด
เพียงเปลี่ยนมุมมองต่อความเครียด เราก็ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจได้อย่างฮวบฮาบเลยทีเดียว
—–
เคยได้ยินฮอร์โมนชื่อ Oxytocin (อ๊อกซิโทซิน) มั้ยครับ
อ๊อกซิโทซิน มีชื่อเล่นว่า cuddle hormone หรือฮอร์โมนแห่งการโอบกอด เพราะมันจะถูกหลั่งออกมาเวลาที่เรากอดใครซักคนหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน (เช่นเวลาลูกดูดนมแม่เป็นต้น)
แต่สิ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้ก็คืออ๊อกซิโทซินนี้เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดด้วย คล้ายๆ กับฮอร์โมนอดรินาลีนที่จะถูกหลั่งออกมาในช่วงที่เราประสบสภาวะตื่นเต้น+ตึงเครียด
เวลาฮอร์โมนอ๊อกซฺิโทซินหลั่งออกมา เราจะมองหาใครซักคนเพื่อจะคุยด้วย และขณะเดียวกัน มันจะช่วยให้เรา sensitive กับคนรอบข้างมากขึ้นด้วย ว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลืออยู่รึเปล่า
ความเจ๋งของฮอร์โมนออกซิโทซินก็คือ มันช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอของหัวใจหลังต้องเจอกับสภาวะเครียดจัดๆ
พูดง่ายๆ ก็คือร่างกายของเรามีระบบฟื้นฟูความเครียดในตัวมันเองอยู่แล้ว เครียดเมื่อไหร่ แม้หัวใจจะทำงานหนักและสึกหรอไปบ้าง แต่ร่างกายก็ยังหลั่งฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินออกมาเพื่อช่วยซ่อมแซมเซลล์หัวใจของเรา
และฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินจะหลั่งมากขึ้นอีก ถ้าเราได้แชร์เรื่องที่เครียดให้ใครซักคนฟัง หรือออกไปช่วยเหลือคนอื่นที่กำลังประสบปัญหา
มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่คล้ายกับงานวิจัยที่ผมกล่าวไปข้างต้น แต่เปลี่ยนคำถามนิดหน่อยว่า
1. คุณมีความเครียดมากแค่ไหนในปีที่ผ่านมา
2. คุณใช้เวลามากแค่ไหน ในการช่วยเหลือเพื่อน เพื่อนบ้าน และคนอื่นๆในชุมชนของคุณ
จากนั้นนักวิจัยก็ตามดูคนกลุ่มนี้เป็นเวลาห้าปีว่ามีใครเสียชีวิตบ้าง
ผลลัพธ์ก็คือ คนที่เครียดจัดๆ มีโอกาสตายมากกว่าคนอื่นถึง 30%
แต่สำหรับกลุ่มคนที่เครียดจัดๆ แต่ได้ออกไปช่วยเหลือคนอื่น กลับไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเลย
การได้ดูแลคนอื่น ทำให้เรา “หายดี” ขึ้นด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้สอนอะไรเรา?
หนึ่งก็คือ ความเครียดไม่ใช่ศัตรู ความเครียดทำให้เราเชื่อมโยงกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อช่วยเหลือกันเวลาประสบกับสถานการณ์ยากลำบาก
สองก็คือ ปฏิกิริยาในร่างกายของเราเวลาเจอความเครียดนั้น ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่มันคือการเตรียมตัวให้เราพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังผ่านเข้ามาในชีวิต
ดังนั้น จงเชื่อใจตัวเองเถอะว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เจอเรื่องราวท้าทาย เราจะสามารถรับมือกับมันได้
และไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องแบกรับมันเอาไว้คนเดียว
—–
อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/
อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)
ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่”
—–
ขอบคุณข้อมูลจาก TED Talk: How to make stress your friend by Kelly McGonigal
(พอกด Play แล้วสามารถเลือก Subtitles ให้เป็นภาษาไทยได้)
ขอบคุณเนื้อหาภาษาไทยจาก Chatthip Chaichakan (Reviewed by Piyawit SEREEYOTIN)
ดูงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงถึงได้ที่นี่ Speaker’s Footnotes
ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com
Like this:
Like Loading...