
เมื่อวานนี้ผมแปลนิทานเรื่อง “พระเจ้ามีจริงรึเปล่า” ลงในบล็อก ซึ่งก็มีคนเข้ามาคอมเม้นท์กันอุ่นหนาฝาคั่งทั้งทางเฟซบุ๊คเพจและในบล็อกดิท
ใครที่ยังไม่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้ อยากให้อ่านกันก่อนนะครับ เพราะผมลงนิทานก็เพื่อที่จะปูทางให้กับบทความที่ผมจะเขียนในวันนี้
หลายคนถามว่านิทานเรื่องนี้มาจากไหน ถ้าลองกูเกิ้ลคำว่า professor god absence of heat absence of light ก็จะเจอนิทานในหลากหลายเวอร์ชั่น แถมนักศึกษาที่เถียงกับอาจารย์ในเรื่องนี้มักถูกอ้างว่าเป็น Albert Einstein อีกด้วย (ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง)
ไอน์สไตน์คือผู้ให้กำเนิดสมการที่โด่งดังที่สุดในโลก นั่นคือ E = mc2
และทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ก็ทำให้โลกรู้ว่า ที่มนุษย์เคยคิดว่า “เวลา” เป็นค่าคงที่สากล (universal constant) นั้นเป็นการเข้าใจผิดมาโดยตลอด สิ่งที่เป็น universal constant จริงๆ คือความเร็วแสงต่างหาก
เวลานั้นไม่เคยคงที่ แต่ยืด-หดได้โดยขึ้นอยู่กับ “ผู้สังเกตการณ์” ว่ากำลังเคลื่อนที่เร็วแค่ไหน ยิ่งเคลื่อนที่ใกล้ความเร็วแสง เวลาก็จะยิ่งเดินช้าลง เราจึงเคยได้ยินเรื่องราวของนักบินอวกาศที่จากโลกไปเพียงปีเดียว แต่พอกลับมาเวลาบนโลกกลับผ่านไปแล้ว 50 ปี
Mark Manson ได้เขียนในหนังสือ Everything is F*cked: A Book About Hope ถึงการทดลองของนักจิตวิทยาที่ต้องการจะศึกษา “ความสุข” ของผู้คนด้วยการให้อาสาสมัครหลายร้อยคนพกเพจเจอร์ติดตัว
(สำหรับใครที่เกิดไม่ทันเพจเจอร์ มันคืออุปกรณ์อิเลคโทรนิกส์ขนาดประมาณนามบัตร หนาประมาณสองเซ็น เราสามารถโทรเข้า call center เพื่อส่งข้อความเข้าเครื่องเหล่านี้ได้)
เมื่อไหร่ก็ตามที่เพจเจอร์ดังขึ้น อาสาสมัครต้องตอบคำถามสองข้อ
1. คะแนนความสุขของคุณตอนนี้ เต็ม 10 ให้เท่าไหร่
2. เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณบ้าง
ผลลัพธ์ที่ได้คือคนส่วนใหญ่จะให้คำตอบว่า 7 เต็ม 10 ไม่ว่าชีวิตจะผ่านอะไรมาก็ตาม
จะกินข้าว ดูหนัง ฟังเพลง คุยงาน ก็ให้ 7 คะแนน และแม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เช่นเพิ่งประสบอุบัติเหตุหรือคนใกล้ตัวป่วยหนัก คะแนนก็จะลดลงไปแค่ไม่กี่วัน จากนั้นก็จะกลับมาอยู่ที่ 7 เท่าเดิม
ไม่มีใครสุขล้นเป็นอาจิณ แต่ก็ไม่มีใครทุกข์ทนตลอดเวลาเช่นกัน
ถ้าให้แปลความหมายของ 7 เต็ม 10 ก็น่าจะประมาณว่า “ชีวิตฉันก็โอเคนะ แต่ยังดีกว่านี้ได้อีก” แถมเรายังบอกตัวเองอีกว่า “ถ้าได้ xxx มาชีวิตคงจะดีน่าดู และความสุขของเราก็จะสิบเต็มสิบ!”
แต่ไม่ว่าจะได้ของที่อยากได้แค่ไหน งานในฝัน รถในฝัน คนในฝัน ไม่นานคะแนนความสุขของเราก็จะกลับมาอยู่ที่ 7 เต็ม 10 อยู่ดี
ชีวิตมนุษย์จึงเป็นชีวิตที่ไล่ล่า “สิบคะแนนเต็มในจินตนาการ” อยู่ร่ำไป ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา แต่ความสุขก็ไม่เคยอยู่กับเราได้นานอย่างที่หวังสักที
เราคิดมาตลอดว่า “ตัวเรา” นั้นคือ “ค่าคงที่” (universal constant) แต่จริงๆ แล้วตัวเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ความคาดหวังของเราก็เปลี่ยนตามไปด้วย
Mark Manson จึงบอกว่า universal constant นั้นไม่ใช่ “ตัวเรา” แต่คือ “pain” หรือความทุกข์ในจิตใจ-ของเราต่างหาก
มันคือ “3 แต้มที่ยังขาดหายไป” ที่ทำให้เรามีความสุขแค่ 7 เต็ม 10 อยู่เสมอไม่ว่าชีวิตจะดีหรือจะร้ายแค่ไหนก็ตาม
เดือนเมษายนที่หลายคน work from home กันนานๆ ผมได้เขียนบทความเรื่อง “นี่คือชีวิตที่เราเคยฝันไว้ไม่ใช่หรือ”
เราเคยฝันมานานว่าอยากทำงานที่มีรายได้ดี นอนตื่นสายได้ ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องออกไปเจอรถติด ได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว และการ WFH ก็มอบสิ่งนี้ให้กับเราหมดเลย
แต่มันกลับไม่ฟินอย่างที่คิด
เรากลับเจอเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่พอใจขึ้นมาอีก ทั้งความเหงา ความเฉา ความรู้สึกเหมือนคนทำงานตลอดเวลาไม่ได้พัก
นี่ขนาดเราได้ชีวิตที่เราเคยฝันหวานมาอยู่ในมือแล้ว เรายังมีความสุขไม่ได้เลย แล้ว “อนาคตที่ดีในวันข้างหน้า” ที่เราเคยวาดหวังเอาไว้ มันจะไม่ได้เป็นเพียงภาพลวงตาหรอกหรือ มันคือสิบคะแนนเต็มในจินตนาการที่มนุษย์สร้างไว้หลอกตัวเองรึเปล่า
วันก่อนผมได้ฟัง Youtube การเสวนาหัวข้อเรื่อง “ว่าง…จึงสร้างสรรค์” ที่จัดขึ้นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2562
ผู้ร่วมวงเสวนามีดังต่อไปนี้
นักปรัชญา – อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์
นักเกษตรกร – อาจารย์เดชา ศิริภัทร
นักเศรษฐศาสตร์ – คุณบรรยง พงษ์พานิช
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ – อาจารย์บัญชา ธนบุญสมบัติ
นักศิลปะ – อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ
นักชวนคิด ชวนคุย – คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
เรื่องที่สะดุดใจผมที่สุดคือคำพูดของอาจารย์เดชาในช่วงท้ายๆ ที่การเสวนาดำเนินมาแล้ว 1:43:45 ชั่วโมง
“ผมสัมผัสมาแล้วว่าความทุกข์นั้นมันจริง เหมือนความร้อนมันจริง ความร้อนทางฟิสิกส์เนี่ยมีจริงแล้วก็ไม่มีกำหนดเลย เท่าไหร่ก็ได้ แต่ความเย็นไม่จริงครับ ความเย็นเป็นแต่เพียงความร้อนน้อยเท่านั้นเอง
แล้วถ้าความร้อนไม่มีเนี่ย ความเย็นมันอยู่แค่นั้นเอง ไม่มีทางมากกว่านั้นอีกแล้ว ความเย็นขึ้นอยู่กับความร้อน ความร้อนไม่มีความเย็น(ก็)อยู่ตรงนั้นเอง ไม่ต่ำกว่านั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นความร้อนจริงครับ ความเย็นไม่จริง
ผมสรุปว่า ความทุกข์น่ะมันจริง ไม่มีกำหนดหรอกครับ แต่ความสุขมันไม่จริงครับ ความสุขคือความทุกข์น้อย ถ้ามันไม่ทุกข์เลย ความสุขคุณสูงสุดครับ”
อาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช เคยสอนไว้ว่า คนทั่วไปจะรู้สึกว่าชีวิตนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง แต่หากเราได้ภาวนามาถึงจุดๆ หนึ่งเราจะพบว่าชีวิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ มีแค่ทุกข์มากหรือทุกข์น้อยเท่านั้นเอง
ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาแห่งความทุกข์ เป็นการเรียนรู้ทุกข์ซึ่งเป็นความจริงของชีวิต นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป มันคือ universal constant ทางจิตใจไม่ต่างอะไรกับความเร็วแสงที่เป็น universal constant ทางกายภาพ
เมื่อความทุกข์เป็นสากล การแสวงหาความสุขหรือ the persuit of happiness ที่เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญของอเมริกาจึงเป็นเกมที่เราไม่มีวันชนะ ไม่ว่าเราจะทำอะไร ต่อให้ชีวิตเราจะดีแค่ไหน ความสุขของเราก็จะอยู่ที่ 7 เต็ม 10 อยู่ดี
หากเราเข้าใจเช่นนี้ เราก็จะไม่เหนื่อยเกินไปกับการแสวงหาสิบคะแนนเต็มในจินตนาการ และดำรงสติเอาไว้ได้เมื่อชีวิตต้องผ่านความยากลำบากครับ
ฟังเสวนา ว่าง…จึงสร้างสรรค์ https://bit.ly/2XLJUht
อ่านนิทาน พระเจ้ามีจริงรึเปล่า https://bit.ly/36KR89j
อ่านบทความ นี่คือชีวิตที่เราฝันไว้ไม่ใช่หรือ https://bit.ly/2Mct3yW
“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มล่าสุดของผมที่ว่าด้วยการตัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต หาซื้อได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือที่ตอนนี้กลับมาเปิดแล้วครับ
Like this:
Like Loading...