วันนี้จะผิดให้น้อยกว่าเมื่อวาน

ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม เคยเล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ผมฟัง

ว่ากันว่ามีช่างไม้ที่แกะสลักช้างไม้ได้เหมือนจริงมาก

ชายหนุ่มคนหนึ่งจึงดั้นด้นไปหาช่างไม้คนนั้นที่รังสรรค์งานอยู่ในกระท่อมกลางป่า

เมื่อได้เจอช่างไม้ ชายหนุ่มจึงถามถึงเคล็ดลับในการแกะสลักช้าง

ช่างไม้ตอบว่า

“ก่อนอื่นเราต้องมีไม้ที่ดีก่อน เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็แกะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป”

ก็เท่านั้นเอง

ไม้ที่ดีจะมาพร้อมกับความเป็นไปได้และข้อจำกัดของมัน เช่น ถ้าไม้ขนาดเท่าท่อนแขน เราก็ไม่สามารถแกะช้างให้ใหญ่กว่าท่อนแขนได้อยู่แล้ว

เมื่อได้ไม้ที่ดีแล้ว เราก็ต้องหาช้างของเราให้เจอด้วยการกะเทาะส่วนที่ไม่ใช่ช้างออกไป


Nassim Taleb เขียนไว้ในหนังสือ Antifragile ว่า

“So knowledge grows by subtraction much more than by addition—given that what we know today might turn out to be wrong but what we know to be wrong cannot turn out to be right, at least not easily.”

สิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้องในวันนี้อาจจะกลายเป็นเรื่องผิดในวันพรุ่งนี้ก็ได้ ในขณะที่สิ่งที่ผิดในวันนี้มันก็จะยังผิดอยู่วันยังค่ำ

ในหนังสือ What Got You Here Won’t Get You There ของ Marshall Goldsmith ก็บอกไว้ว่า การเป็นหัวหน้าที่ดีนั้นไม่ต้องทำอะไรมากมาย แค่อย่าทำตัวแย่ๆ ก็พอ


เรื่องงาน – ถ้าเราไม่รู้ว่าเราชอบงานอะไร ให้เริ่มจากการหาให้เจอว่าเราไม่ชอบงานอะไร

เรื่องความรัก – ถ้าเราไม่รู้ว่าผู้หญิงชอบผู้ชายแบบไหน อย่างน้อยต้องรู้ว่าผู้หญิงไม่ชอบผู้ชายแบบไหน

เรื่องการเงิน – ถ้าเราไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้เงินงอกเงย ให้เริ่มต้นจากการรู้ว่าทำยังไงให้เงินหดหาย

ถ้าไม่รู้ว่าจะเป็นคนที่ดีขึ้นได้ยังไง ให้โฟกัสกับการเป็นคนที่แย่ให้น้อยลง อะไรที่เคยผิดไปแล้วก็อย่าผิดซ้ำ

วันนี้จะผิดให้น้อยกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้จะผิดให้น้อยกว่าวันนี้

พอผิดน้อยลง มันก็จะถูกมากขึ้นเอง

สะสมความล้มเหลว

มีใครคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า อัตราส่วนระหว่างความล้มเหลวกับความสำเร็จนั้นมักจะคงที่ไปตลอด ดังนั้นวิธีเพิ่มความสำเร็จคือเราต้องเพิ่มความล้มเหลว

แม้จะไม่ใช่หลักการที่เพอร์เฟ็กต์ แต่ผมก็คิดว่าเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะกับคนที่กล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้าพาเรือออกจากฝั่ง

ผมอยู่ที่ทำงานแรกของผมเกือบ 14 ปี ที่อยู่ได้นานขนาดนี้เพราะมีอะไรให้เรียนรู้ และมีโอกาสได้เปลี่ยนสายงาน โดยผมเปลี่ยนสายงานสองครั้ง จาก software development ไปสู่ technical support ก่อนกระโดดไปสู่งานสื่อสารองค์กร

ที่บริษัทแรกของผมนี้จะมีประกาศ internal job opportunities อยู่ตลอด ผมเห็นตำแหน่งไหนน่าสนใจก็มักจะลองสมัครดู และหลังจากได้สัมภาษณ์ตำแหน่งภายในมาไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง ผมก็ได้สูตรของตัวเองว่า “สัมภาษณ์ 3 ครั้ง ได้งาน 1 ครั้ง”

ดังนั้นหากมีตำแหน่งที่ผมอยากทำ แม้ว่าจะยังไม่พร้อมหรือไม่มี background ผมก็จะลองสมัครดูก่อน ถึงสัมภาษณ์ไม่ผ่านอย่างน้อยเราจะได้รู้ว่าเขาถามอะไรบ้าง อนาคตหากมีตำแหน่งนี้เปิดอีกครั้งเราก็จะพร้อมกว่าคนอื่นๆ

หรือถ้าแย่กว่านั้นคือเขาไม่เรียกเราสัมภาษณ์เราเลยก็ไม่เป็นไร – เป็นเรื่องปกติที่จะโดนคนอื่นปฏิเสธ แต่เราไม่ควรชิงปฏิเสธตัวเองตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

มองทุกอย่างเป็นการเรียนรู้และการทดลอง ถ้าสำเร็จก็ดีใจ ถ้าไม่สำเร็จก็ถือเป็นการสะสมความล้มเหลว

เมื่อสะสมความล้มเหลวได้ครบตามจำนวนที่(ฟ้า)กำหนด ความสำเร็จย่อมตามมาครับ

ห้องตัวอย่างที่ไม่แต่งนั้นเล็กนิดเดียว

ห้องตัวอย่างที่ไม่แต่งนั้นเล็กนิดเดียว

ใครที่เคยคิดซื้อบ้านหรือซื้อคอนโด สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการเข้าชมห้องตัวอย่าง

คนที่ออกแบบห้องก็เก่งเหลือเกิน เลือกที่จะจัดวางเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้อย่างลงตัว รสนิยมก็เลิศหรูดูดี เห็นแล้วเราก็จินตนาการไปต่างๆ นานาว่าถ้าเราได้มาอยู่ในห้องแบบนี้ชีวิตเราจะดีแค่ไหน

แล้วพอเซลส์พาเราไปดูห้องเปล่า เรามักจะรู้สึกว่าทำไมห้องดูเล็กจัง

นับเป็นความย้อนแย้งอย่างหนึ่ง ที่ห้องที่มีของวางอยู่กลับดูใหญ่กว่าห้องโล่งๆ

หรือที่จริงแล้วความรู้สึกว่าเล็กหรือใหญ่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ขนาด” เท่ากับ “ความเป็นไปได้”

เมื่อมีของวางอยู่ในห้อง เราจะมองเห็นฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ห้องนี้จะทำให้เราได้ เราจึงรู้สึกว่าห้องมันใหญ่ ไม่เหมือนกับในห้องเปล่าที่วาดภาพได้ยากกว่า

ผมว่าห้องตัวอย่างเป็นอุปมาอุปไมยที่ดีของชีวิต

เพราะชีวิตเราเอาที่จริงก็ไม่มีอะไร ทำงานหาเงินวนไป หลายคนที่เคยผ่านช่วงเวลาเบื่อๆ อยากๆ มีรูทีนซ้ำๆ ทุกวันก็อาจเคยถามตัวเองว่า “ตกลงชีวิตเรามีเพียงเท่านี้เองหรือ?”

เมื่อความเป็นไปได้ต่ำ ชีวิตก็เลยดูเล็กและคับแคบ

แล้วเราจะเพิ่มความเป็นไปได้ในชีวิตได้อย่างไร

ผมว่าหนึ่งคือทักษะที่เรามี และสองคือกิจกรรมที่เราทำ

ถ้าเราไม่เพิ่มทักษะอะไรให้ตัวเองเลย และไม่เปลี่ยนกิจกรรมใดๆ ในชีวิต สิ่งที่เราเจอและทำได้ในแต่ละวันย่อมซ้ำซาก

ทักษะอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสั่งสมและเรียนรู้ แต่กิจกรรมนั้นเราแทบจะเปลี่ยนได้ทันที

ในหนังสือ What I Wish I Knew When I Was 20 ของ Teena Silig แนะนำไว้ว่าให้ไล่เรียงกิจวัตรแต่ละวันของเรา แล้วลอง “เขย่า” มันดู

เช่นถ้าเคยไปทำงานด้วยเส้นทางนี้ ก็ลองเปลี่ยนเป็นเส้นทางหรือเดินทางด้วยวิธีอื่น หรือถ้าเคยออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ก็ลองเปลี่ยนเป็นเดินหรือแม้กระทั่งไม่ออกกำลังกายดู

ผมเคยอ่านหนังสือตอนก่อนนอน สองวันมานี้ลองเปลี่ยนมาอ่านตอนเช้าก็รู้สึกว่าได้ฟีลไปอีกแบบ

เพราะกิจวัตรหรือนิสัยบางอย่างเราอยู่กับมันมานานจนอาจเกิดความยึดติด ว่าแบบนี้ดีที่สุดแล้ว ว่าแบบนี้แหละคือตัวเรา

เมื่อพาตัวเองออกจากความเคยชิน ก็จะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น ได้รู้สึกอะไรที่ไม่เคยรู้สึก

ห้องตัวอย่างมันดูใหญ่และน่าอยู่เพราะเต็มไปด้วยความเป็นไปได้

ชีวิตของเราจะกว้างใหญ่และน่าอยู่ หากเราเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับมันครับ