แค่ 1 ครั้งก็ยังดี

แค่ 1 ครั้งก็ยังดี

เมื่อมีสิ่งที่เราอยากทำให้เป็นนิสัย แต่ยังทำได้ไม่สม่ำเสมอ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือบอกตัวเองว่า “แค่ 1 ครั้งก็ยังดี”

ผมชอบการวิดพื้น เพราะใช้เวลาน้อยและทำเมื่อไหร่ก็ได้ โดยผมมักจะวิดพื้นก่อนอาบน้ำ

แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมเพิ่งอิ่มจากข้าวเช้า หรือเพิ่งไปวิ่งมาเหนื่อยๆ ทำให้ไม่พร้อมวิดพื้น เพราะรู้สึกว่าถ้าวิดไปก็คงทำได้ไม่กี่ครั้ง

แต่ผมก็ตระหนักได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องวิดพื้นให้มากเท่าที่ปกติเราวิดได้

สิ่งสำคัญยิ่งกว่าจำนวนหรือสถิติ คือการ “กรุยทาง” ในหัวสมองของเรา มันคือการสร้าง neural pathway ที่จะทำให้กิจกรรมนี้มีแรงต้านน้อยลงเรื่อยๆ

ยิ่ง neural pathway นี้ถูกใช้บ่อยเท่าไหร่ กิจกรรมนี้ก็จะยิ่งกลายมาเป็นธรรมชาติของเรามากขึ้นเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือมันจะกลายเป็นอุปนิสัยหรือ habit นั่นเอง

เวลาที่ผมรู้สึกไม่อยากวิดพื้นเพราะร่างกายไม่พร้อม ผมจะบอกตัวเองว่า “แค่ 1 ครั้งก็ยังดี” เพื่อให้ตัวเองได้ลงไปวิดพื้น บางครั้งก็วิดแค่ครั้งเดียวจริงๆ แต่หลายครั้งก็ทำได้มากกว่านั้น

ยังมีอีกหลายนิสัยที่เราใช้แนวคิด “แค่ 1 ครั้งก็ยังดี” ได้

เขียนไดอารี่แค่ 1 บรรทัดก็ยังดี

อ่านหนังสือแค่ 1 ย่อหน้าก็ยังดี

เขียน To Do List แค่ 1 ข้อก็ยังดี

เรียนภาษาจีนด้วยแอปแค่ 1 นาทีก็ยังดี

นั่งสมาธิแค่ 1 นาทีก็ยังดี

วิ่งแค่ 1 กิโลเมตรก็ยังดี – ถ้าวิ่งไม่ไหว แค่เดินก็ยังดี

แรกๆ อาจจะฝืนหน่อย เพราะการทำแค่หนึ่งครั้งหรือหนึ่งนาทีมันดูเหมือน “ความล้มเหลว” เพราะมันต่ำกว่ามาตรฐานที่เราควรทำได้ไปเยอะ

แต่เราไม่ควรเทียบกับตัวเองในวันที่ดีที่สุด เราไม่ควรแม้กระทั่งเทียบกับตัวเองในวันธรรมดา

เราควรเทียบกับตัวเองในวันที่เรา “เท” สิ่งนั้น

เมื่อเทียบกับ 0 อย่างไร 1 ก็ย่อมมากกว่า

ให้ระลึกเสมอว่า เป้าหมายหลักคือการทำซ้ำ เพื่อให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา แล้วเราจะเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ จากมันได้เมื่อเวลาผ่านไปนานเพียงพอ

แค่ 1 ครั้งก็ยังดี

ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ

‘Dailyish’ – ศิลปะของการทำอะไร ‘เกือบทุกวัน’

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2015 ผมเขียนบทความชื่อ “ทำก่อน เชื่อทีหลัง” ที่เล่าให้ฟังว่าผมเขียนบล็อกครบ 100 ตอนได้อย่างไร พร้อมกับประกาศในบรรทัดสุดท้ายว่า Anontawong’s Musings จะมีบทความใหม่ไปทุกวัน

และผมก็ตั้งใจเขียนบทความทุกวันจริงๆ แม้กระทั่งช่วงปลายปี 2015 ที่มีลูกสาวคนแรก ได้นอนวันละ 4 ชั่วโมง ก็ยังเขียนบทความทุกวันอยู่แม้จะต้องเขียนตอนตี 3 ก็ตาม

เพราะผมเคยได้ยินเทคนิค Don’t Break The Chain ของ Jerry Seinfeld

Jerry Seinfeld เป็น standup comedian และนักแสดงนำใน Seinfeld ซึ่งเป็นซีรี่ส์ซิทคอมที่โด่งมากในยุค 90’s

สมัยที่ยังไม่โด่งดัง เจอรี่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะคิดมุกทุกวัน วันละ 1 มุก

เจอรี่จะมีปฏิทินติดผนัง ทุกครั้งที่เขาเขียนมุกเสร็จ เขาจะกาปฏิทินเอาไว้ พอนานวันเข้าเครื่องหมายกากบาทติดๆ กันก็ทอดยาวราวกับห่วงโซ่ที่บ่งบอกว่าเขาเขียนมุกวันละ 1 ตอนมานานแค่ไหน

แล้วเขาก็เลยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนร่วมน้องที่เป็นนักแสดงตลกด้วยกันว่า

“Don’t break the chain!” – อย่าให้โซ่ขาด!

ผมก็เลยอยากจะเขียนบล็อก Anontawong’s Musings แบบไม่ให้โซ่ขาดบ้าง

ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีปีไหนที่ผมเขียนได้ครบ 365 ตอน มีหลุด มีคิดไม่ออก มีไม่สบาย ซึ่งก็รู้สึกเสียดายและรู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน

การแบกความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่สามารถเขียนบล็อกได้ทุกวันเริ่มคลี่คลายเมื่อผมได้อ่านบทความชื่อ Why you should aim to do new habits ‘dailyish’ ของ Oliver Burkeman ผู้เขียน Four Thousand Weeks

เขาเคยสัมภาษณ์ Jerry Seinfeld เรื่องเทคนิคดูแลโซ่ไม่ให้ขาดที่กลายเป็นตำนานในแวดวง productivity แล้วโอลิเวอร์ก็ได้พบว่าเจอรี่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคนิคนี้อย่างที่เราคิด

นี่คือคำพูดของเจอรี่:

“มันเป็นเรื่องเบสิกมากจนผมไม่อยากจะพูดถึงมันด้วยซ้ำ ถ้าคุณเป็นนักวิ่งและอยากจะวิ่งให้ดีขึ้น คุณก็แค่บอกตัวเองว่าคุณจะวิ่งทุกวันแล้วก็เขียน X ลงในปฏิทินทุกวันที่คุณวิ่ง ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นไอเดียที่ลึกซึ้งตรงไหนเลย จะมีใครคิดจริงๆ เหรอว่าถ้านั่งเฉยๆ แล้วจะเก่งขึ้น?”

ในโลกของชาว productive เทคนิคของเจอรี่มีนัยว่า “ให้ทำสิ่งที่มีคุณค่ากับเราทุกวันโดยห้ามพลาดโดยเด็ดขาด”

แต่สำหรับตัวเจอรี่เอง เขาแค่ต้องการจะสื่อว่าเราต้องลงทุนลงแรงติดต่อกันเป็นเวลายาวนานเท่านั้นเอง

ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำอะไรให้ได้ทุกวันนั้นเป็นการตั้งมาตรฐานที่ขาดความยืดหยุ่น เต็มที่ก็ได้แค่เสมอตัว โอกาสพลาดพลั้งก็สูง แถมการทำอะไรให้ได้ perfect score นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นธรรมชาติของหุ่นยนต์

ชีวิตมีเรื่องไม่คาดฝันเสมอ และสำหรับคนไม่น้อยที่ตั้งเป้าแบบนี้ เมื่อพลาดไปหนึ่งหรือสองครั้ง เขาก็อาจสูญเสียกำลังใจจนล้มเลิกไปเลยก็ได้

แนวคิดที่โอลิเวอร์คิดว่าเมคเซนส์มากกว่ามาจาก Sam Harris เจ้าของแอป Waking Up สำหรับคนที่อยากฝึกนั่งสมาธิ

เขาใช้คำว่า ‘Dailyish’

เวลาเติม ‘ish’ ลงไปท้ายคำไหน จะหมายความว่า “โดยประมาณ”

Dailyish ก็คือการทำทุกวันโดยประมาณ หรือทำเกือบทุกวันนั่นเอง

ความดีงามของการทำอะไร ‘เกือบ’ ทุกวัน คือมันบอกให้เรายังจริงจังกับเรื่องที่เราให้ความสำคัญโดยที่ยังเปิดพื้นที่ให้เรื่องไม่คาดฝันในชีวิต

ถ้าสัปดาห์หนึ่งทำสัก 2 วันก็คงอาจไม่เรียกได้ว่า dailyish แต่ถ้าทำสัปดาห์ละ 5 วัน อันนั้นก็น่าจะพอเรียกได้ว่า dailyish ส่วนถ้าสัปดาห์ไหนจะทำได้ครบทั้ง 7 วันเลยก็เรียกว่า dailyish ได้เหมือนกัน

จริงๆ ผมควรจะเขียนบทความนี้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่ผมไปข้างนอกมาและคุยกับคนค่อนข้างเยอะ กลับถึงบ้านก็หมดแรง เลยเลือกที่จะพักผ่อนให้เต็มที่แล้วตื่นมาเขียนเช้าวันนี้แทน

การประกาศว่าจะเขียนบล็อกทุกวันของผมเมื่อ 8 ปีที่แล้วอาจดูเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ถ้ามองลึกลงไปกว่านั้นเป้าหมายนี้ก็ดูเห็นแก่ตัวอยู่เหมือนกัน เพราะผมอาจจะยอมเขียนบทความที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงเพื่อจะให้ได้รับความยอมรับว่าเป็นคนเขียนบล็อกทุกวันก็ได้

ผมจึงขอถอนคำพูดเดิมที่ว่าจะเขียนบล็อก Anontawong’s Musings ทุกวัน และตั้งปณิธานใหม่เป็นการเขียนบล็อก ‘เกือบทุกวัน’ แทน จะได้ไม่เบียดเบียนตัวเองจนเกินไป และหวังว่าจะรักษามาตรฐานเนื้อหาที่ดีเอาไว้ ส่วนผู้ติดตามอาจจะได้อ่านบทความบ้างในบางวัน และได้พักบ้างในบางวันให้พอคิดถึง

แต่โดยรวมแล้วผมคิดว่ามันจะทำให้บล็อกนี้แข็งแรงขึ้นและยืนระยะได้ดีกว่าเดิมครับ

คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท

“Save a little money each month and at the end of the year you’ll be surprised at how little you have.”

― Ernest Haskins

เก็บเงินให้ได้เดือนละนิดหน่อยแล้วตอนสิ้นปีคุณจะแปลกใจที่คุณมีเงินเก็บแค่นิดหน่อย

Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือ I Will Teach You To Be Rich บอกว่าคนส่วนใหญ่ชอบถามคำถามร้อยบาท (จะซื้อกาแฟแก้วนี้ดีมั้ย) ทั้งที่จริงแล้วสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จด้านการเงินคือคำถามล้านบาท เช่นจะให้ลูกเรียนที่ไหน (โรงเรียนอินเตอร์ในเมืองไทยมีค่าเทอมตั้งแต่แสนกว่าบาทถึงล้านกว่าบาท)

นักประวัติศาสตร์นาม Cyril Parkinson ได้ตั้งกฎที่ชื่อว่า Parkinson’s Law of Triviality – กฎพาร์คินสันแห่งเรื่องไม่เป็นเรื่อง

กฎนี้ระบุว่า “ความใส่ใจต่อปัญหาจะแปรผกผันกับความสำคัญของปัญหานั้น” (The amount of attention a problem gets is the inverse of its importance.)

เพื่อให้เห็นภาพ พาร์คินสันให้เราจินตนาการถึงคณะกรรมการที่มีงบประมาณสามโปรเจ็กต์ให้พิจารณา

ตู้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์งบ 300 ล้านบาท

ซุ้มจอดรถจักรยานของพนักงานงบ 10,000 บาท

ขนมกับเครื่องดื่มสำหรับพนักงานงบ 1,000 บาท

คณะกรรมการอนุมัติตู้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์แทบจะทันที เพราะตัวเลขสูงเกินกว่าจะรู้ว่าแพงหรือไม่แพง ตัวเลือกอื่นก็ไม่อยากนึกถึง และไม่มีใครในคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานนิวเคลียร์

โปรเจ็กต์ซุ้มจักรยานนั้นใช้เวลาคุยนานกว่า พวกเขาเถียงกันว่าแค่ตั้งรางจอดจักรยานก็พอแล้วหรือไม่ หรือถ้าจะทำหลังคาควรจะใช้ไม้หรือใช้อลูมินัมดี

ส่วนขนมและเครื่องดื่มนั้นใช้เวลาคุยนานที่สุด เพราะคณะกรรมการทุกคนต่างมีความเห็นที่แน่วแน่ของตัวเองว่าควรใช้กาแฟยี่ห้อไหน คุ้กกี้รสอะไร ฯลฯ

เวลาที่เราคุยกับคนในครอบครัว เราก็มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ถกเถียงในเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญเช่นกัน


ข้อความด้านบนนี้ผมเรียบเรียงและดัดแปลงมาจากบทความชื่อ The Art and Science of Spending Money ของ Morgan Housel

มีทั้งหมด 13 ข้อ แต่ผมชอบข้อ 6 เป็นพิเศษ – Asking $3 questions when $30,000 questions are all that matter

เราจะคุ้นเคยกับคำสอนของ financial guru ที่บอกว่า ถ้าไม่กินกาแฟยี่ห้อ XX เป็นเวลากี่สิบปี เราจะมีเงินเก็บ YY บาท

จริงอยู่ว่าเรื่องเล็กน้อยนั้นก็ใช่ว่าจะไม่สำคัญเลย เพราะ how you do anything is how you do everything.

แต่การใส่ใจเรื่องเล็กน้อยจะแทบไม่มีความหมาย ถ้าเราไม่จัดการเรื่องใหญ่ๆ ให้ถูกต้อง เพราะโลกใบนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย Pareto Principle หรือกฎ 80/20

จะเลือกกินกาแฟแบรนด์ไหน จึงไม่สำคัญเท่ากับเราเลือกซื้อรถยี่ห้ออะไร

หรืออย่างการเลือกที่ทำงาน A กับ B – บริษัท A อาจให้เงินเดือนมากกว่า 10% แต่ถ้าบริษัท B มีปัจจัยอื่นๆ เช่นใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า ให้ทำงานที่บ้านได้บ้าง อยู่ในเซ็กเตอร์ที่กำลังเติบโต ปัจจัยเหล่านี้รวมกันแล้วน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าฐานเงินเดือนที่น้อยกว่าบริษัท A

คนบางคนซื้อของกับแม่ค้าแล้วต่อราคาแล้วต่อราคาอีก แต่คนคนเดียวกันนี้กลับพร้อมลงทุนในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้เป็นเงินหลักแสนได้หน้าตาเฉย

เราใช้เวลากับคำถามร้อยบาทมากไปหรือไม่

เราใช้เวลากับคำถามล้านบาทน้อยไปหรือเปล่า

เป็นเรื่องน่าคิด และอาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้ครับ