ห้องที่ชื่อว่า “ตีห้า”

ใครที่ชอบตื่นสายเป็นประจำ ผมอยากเชียร์ให้ลองตื่นเช้าดูบ้าง

การตื่นเช้ามีข้อดีหลายอย่าง สำคัญที่สุดคือเรามีแรงและความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ที่จะทำสิ่งดีๆ ให้กับตัวเอง

เวลามีคนถามว่าผมจัดการเวลาอย่างไร ผมจะตอบว่า ตอนเช้าให้ตัวเอง ตอนกลางวันให้งาน ตอนค่ำให้ครอบครัว

ตีห้าถึงเจ็ดโมงครึ่ง ผมจะทำอะไรเพื่อตัวเองหมดเลย ทั้งเขียนไดอารี่ เขียนบล็อก นั่งสมาธิ วิ่ง อ่านหนังสือ อ่านข่าวฟุตบอล เล่นเกม – ไม่ได้ทำครบทุกอย่าง แต่ก็จะวนเวียนอยู่ประมาณนี้

จากนั้นผมจะอาบน้ำแล้วขับรถกับแฟนไปส่งลูก (ไป-กลับครึ่งชั่วโมง) กลับมากินข้าวเช้า และเริ่มทำงานก่อนเก้าโมง ประมาณหนึ่งทุ่มผมจะเลิกงาน อาบน้ำ ชาร์จมือถือไว้นอกห้อง และใช้เวลาอยู่กับลูกๆ จนหลับไปพร้อมกันประมาณสามทุ่มครึ่ง

เมื่อนอนหลับเร็ว การตื่นเช้าจึงเป็นเรื่องง่ายดาย เมื่อตื่นเช้า การผลอยหลับเมื่อหัวถึงหมอนจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ

ใครที่คิดว่าตื่นเช้าขนาดนั้นไม่ไหวหรอก ผมชอบมุมมองของคุณคิมจงวอน ผู้เขียนหนังสือ “อะไรทำให้ชีวิตเราดีกว่าเมื่อวาน” ที่ตื่นตีสามมาหลายสิบปีเพื่อเขียนหนังสือจนมียอดขายรวมแล้วกว่า 1 ล้านเล่ม

คิมจงวอนบอกว่า เวลาเรามองหาการเปลี่ยนแปลงในชีวิต หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราล้มเหลวอยู่บ่อยๆ ก็คือการเอาเวลาเป็นข้ออ้าง

“ผม/เราตื่นนอนเวลานั้นไม่ได้หรอก”

“เป็นคุณก็พูดได้สิ แต่ฉันไม่มีเวลาแบบคุณหรอกนะ”

คนที่ชอบเอาเวลาเป็นตัวประกันย่อมหาเหตุผลที่จะไม่ทำได้เสมอ แต่สุดท้ายเรานี่แหละที่กลายเป็นตัวประกันของเวลาเสียเอง

สำหรับคิมจงวอน เขาไม่ได้มองตีสามเป็นเวลา แต่มองตีสามเป็นสถานที่

มันจึงไม่ใช่การตื่นตีสามเพื่อเริ่มต้นวันใหม่ แต่เป็นการเข้าไปในห้องที่ชื่อว่า “ตีสาม” เพื่อสนุกกับกิจวัตรของตัวเอง เมื่ออยู่ในห้องนี้ เขามีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้โดยปราศจาก “คลื่นแทรก” จากโลกภายนอก

สำหรับผม การตื่นตีสามอาจสุดโต่งไปนิด โดยเฉพาะถ้าเราให้ความสำคัญกับการนอนหลับให้เพียงพอและไม่ได้รีบร้อนที่จะประสบความสำเร็จ

แต่สำหรับคนที่อยากตื่นเช้าขึ้น ลองมองตีห้าหรือหกโมงเช้าว่าเป็นห้องที่น่านั่ง ก็อาจจะมีกำลังใจขึ้นอีกนิด

เราล้วนเคยอยู่ในห้องเที่ยงคืนหรือห้องตีสองมาเยอะแล้ว โดยมีมือถือและเน็ตฟลิกซ์คอยเย้ายวนและกวนใจ

ถ้าอยากมีพื้นที่ที่เราได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง ลองเข้าห้องที่ชื่อว่าตีห้าดูครับ