ของที่หนักกว่าย่อมตกถึงพื้นเร็วกว่า

นี่คือสิ่งที่อริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีกเคยกล่าวเอาไว้

และก็ไม่มีใครตั้งคำถามกับประโยคนี้ด้วย เพราะมันฟังดูสมเหตุสมผลสุดๆ

คนที่มาหักล้างความเชื่อนี้ คือกาลิเลโอ ที่ทดลองปล่อยลูกบอลไม้กับลูกกระสุนปืนใหญ่ลงจากหอเอนเมืองปิซา แล้วก็พบว่าทั้งสองอย่างตกถึงพื้นพร้อมกัน

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า กาลิเลโอได้ทำการทดลองนี้จริงหรือไม่ แต่คำถามที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือทำไมต้องรอให้ถึงยุคกาลิเลโอ

อริสโตเติล อาศัยอยู่ในช่วง 350 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนกาลิเลโอนั้นเกิดในช่วงศตวรรษที่ 16

นั่นหมายความว่า ต้องใช้เวลาเกือบ 2000 ปี กว่าที่จะมีใครสักคนลุกขึ้นมาหักล้างสิ่งที่อริสโตเติลเคยกล่าวเอาไว้

ในเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ทำไมถึงไม่มีใครตั้งคำถาม และทำการทดลองที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร?

ต้นเหตุอาจมาจากความเป็นอริสโตเติลเองครับ

เพราะอริสโตเติลนั้นเป็นคนที่เฉลียวฉลาด และการค้นคว้าของเขาก็ละเอียดถี่ถ้วนเสียจนคนที่อ่านงานของเขาเชื่อว่าเขาพูดถูกไปเสียทุกเรื่อง

เป็นเวลายาวนานที่นักวิชาการส่วนใหญ่ยอมรับทัศนะที่อริสโตเติลมีต่อโลกว่าเป็นความจริงอย่างไม่มีข้อสงสัย หากพวกเขาพิสูจน์ได้ว่าอริสโตเติลพูดอะไรสักอย่าง นั่นก็ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะเชื่อ

เราเรียกสิ่งนี้ว่า “ความจริงโดยอำนาจ” หรือ truth by authority นั่นคือการเชื่อว่าบางสิ่งจะต้องเป็นความจริงเพราะบุคคลำคัญที่มี “อำนาจ” ได้กล่าวไว้เช่นนั้น


มองไปรอบตัว เราจะเห็นความจริงโดยอำนาจอยู่เต็มไปหมด

“ความจริง” ที่เรายึดถือในทุกวันนี้ หลายอย่างก็เพียงสิ่งที่พ่อแม่หรือครูเคยบอก (หรือหลอก) เราเมื่อตอนเด็กๆ

แม้จะโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราก็ยังตกอยู่ภายใต้ความจริงโดยอำนาจที่มาจากศาสดา จากผู้นำ/ประมุข/นักการเมือง จากนักลงทุนในตำนาน จากสถาบันที่มีชื่อเสียง จากผู้ประกอบการอย่าง Elon Musk หรือ จากแพลตฟอร์มอย่าง Google ที่เหมือนจะกลายเป็นทางเข้าเพียงทางเดียวสำหรับการ “ค้นหาความจริง” ไปแล้ว

เมื่อเราเชื่อมั่นหรือเลื่อมใสในตัวใครมากๆ เราจะหยุดตั้งคำถาม เราจะคิดว่าสิ่งที่มาจากเขานั้นเชื่อถือได้

การยึดถือความจริงโดยอำนาจนั้นไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไร มันคือกลไกอย่างหนึ่งทางชีววิทยาที่ทำให้เราตัดสินใจได้เร็วขึ้นและไม่ต้องมาเสียเวลาครุ่นคิดกับทุกอย่างที่เราเจอในชีวิต

แต่ความจริงโดยอำนาจนั้นก็มีอันตราย เพราะมันอาจจะทำให้เราใจแคบและไร้เหตุผลได้อย่างเหลือเชื่อ

ลองสำรวจตัวเองดูนะครับว่าตกอยู่ใต้ truth by authority ของใครหรือของอะไรบ้าง แล้วการตั้งคำถามกับคนที่เราศรัทธาก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องผิดบาปอะไร

ดีกว่าเห็นผิด เพราะยึดติดว่าบุคคลที่เราศรัทธานั้นถูกต้องเสมอครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ ปรัชญา: ประวัติศาสตร์สายธารแห่งปัญญา ผู้เขียน: Nigel Warburton ผู้แปล: ปราบดา หยุ่น,รติพร ชัยปิยะพร สำนักพิมพ์ Bookscape