ทุกขลาภของคนทำงานเก่ง

สิ่งหนึ่งที่ผมมักเห็นคนทำงานเก่ง และเป็นคนสำคัญของทีมบ่นให้ฟัง คือถืองานเยอะเกินไป

เหมือนคำฝรั่งที่ว่า “If you want anything done, ask a busy man to do it.”

คนที่ยุ่งนั้นมักจะเป็นคน productive ทำอะไรได้หลายอย่าง ใครเอางานอะไรไปให้เขาก็มักจะทำเสร็จออกมาอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพที่ดี ก็เลยกลายเป็นคนที่หลายคนพึ่งพา ยิ่งชื่อเสียงขจรขจาย ก็ยิ่งมีคนวิ่งมาหาเขาเยอะขึ้น

และสิ่งที่คนเก่งอดคิดไม่ได้ก็คือ “ทำไมไม่ให้คนทำอื่นบ้าง”

แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นยึดเอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งอยู่แล้ว

ถ้าเราเป็นหัวหน้าที่มีลูกน้องสองคนคือ A กับ B

แล้วประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้เรารู้ว่า A ทำงานเสร็จไวและคุณภาพดี และ B ทำงานเสร็จช้าและไม่ได้ดั่งใจ เราจะเลือกมอบหมายงานให้ใคร? ก็ต้องให้ A มากกว่า B อยู่แล้ว

แม้จะน่าเห็นใจ แต่แท้จริงแล้ว A ก็มีส่วนช่วยทำให้ปัญหานี้มันดำเนินต่อไปเช่นกัน

หนึ่ง เพราะ A เป็นคนที่จิตใจดี ชอบช่วยเหลือเป็นทุนเดิม

สอง เพราะ A ปฏิเสธใครไม่ค่อยจะเป็น

สาม เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าถ้าให้คนอื่นทำแล้วมันจะเละ และสุดท้ายตัวเองก็ต้องกลับมาแก้ A ก็เลยอาสาทำเองดีกว่า

สี่ เพราะ A อาจคุ้นชินกับความรู้สึก “หวานขม” (bitter sweet) คือเหนื่อยกับงานที่ตึงมือ แต่ก็รู้สึกดีที่ได้เป็นคนสำคัญ

ห้า เพราะ A เองอาจไม่ได้คิดจะขอ resource เพิ่มหรือโค้ชคนอื่นๆ ให้ทำได้อย่างตัวเองบ้าง

ดังนั้น ถ้าเราเป็นคนเก่งที่เจอสถานการณ์ “อะไรๆ ก็กู” อยู่ ก็อาจจะลดความเข้มข้นนี้ได้ด้วยการสำรวจตัวเองว่าเรามีหนึ่งในห้าข้อด้านบนอยู่กี่มากน้อย

และวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็คือการหัดปฏิเสธให้มากขึ้น ขอตัวช่วยให้มากขึ้น สอนคนอื่นให้มากขึ้น หรือหาคนเก่งๆ มาร่วมทีมให้มากขึ้น

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกองค์กรหรือหัวหน้าทุกคนจะเปิดโอกาสให้เราทำอย่างนั้น

แต่ไม่ลองก็ไม่รู้ รู้แค่ว่าถ้าทำอย่างเดิม ผลลัพธ์ก็จะเป็นอย่างเดิมอย่างนี้เรื่อยไปครับ