สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของหัวหน้ามือใหม่ – หรือแม้กระทั่งมือเก่าก็ตาม – คือการที่ตัวเองถืองานเอาไว้เยอะเกินไป
สาเหตุหลักๆ น่าจะมีอยู่สองข้อ
1. เกรงใจน้อง เห็นน้องงานเยอะอยู่แล้ว
2. น้องทำแล้วไม่ได้ดั่งใจ ช้า ทำเองเร็วกว่า
เหตุผลข้อ 1 กับ 2 อาจจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน คือหัวหน้าต้องจัดการเองคนเดียว จนบางทีกลายเป็นคนคอขวด น้องก็ไม่เก่งขึ้นสักที เราก็เลยไม่วางใจน้อง ก็เลยต้องแบกเองต่อไป เป็นวงจรที่ดูน่าสงสารอยู่เหมือนกัน
คนที่ได้โปรโมตเป็นหัวหน้านั้น ถ้าไม่ใช่เพราะทำงานเก่งมากๆ ก็เพราะว่าเป็นคนที่เป็นผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบ รับปากแล้วก็จะต้องทำให้ได้ ต่อให้ต้องเสียสละทำงานล่วงเวลาหรือวันเสาร์อาทิตย์ก็ตาม
แต่หัวหน้าไม่ควรตีความหมายคำว่า “รับผิดชอบ” หรือการมี ownership ให้แคบเกินไปนัก
เพราะการรับผิดชอบงานไม่ใช่การทำด้วยตัวเองทั้งหมด
นิยามใหม่ที่จะมีประโยชน์กว่าสำหรับคนที่เป็นหัวหน้าก็คือ:
การรับผิดชอบงาน = การรู้จักใช้คนอย่างรับผิดชอบ
งานส่วนตัวของเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ส่วนงานที่เรามอบหมายไปให้คนอื่น เราก็ต้องคอยกระตุ้น คอยโค้ช และคอยติดตามผลว่าลูกน้องจะทำออกมาได้ดีเพียงพอ
อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า “การรับผิดชอบงาน” ในฐานะของหัวหน้าอย่างแท้จริงครับ
ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ ทำมากเหนื่อยฟรี ทำถูกวิธีไม่เหนื่อยเลย โดย ฮิโรคาซึ ยามาชิ