เวลาลูกงอแงพ่อแม่ต้องหยุดใช้เหตุผล

ช่วงนี้ผมกำลังอ่านหนังสือ The Book You Wish Your Parents Had Read (and Your Children Will be Glad That You Did) ของ Philippa Perry นักจิตบำบัดชาวอังกฤษซึ่งแต่งตัวได้จัดจ้านมาก

เป็นหนังสือที่ดีเล่มหนึ่งเลยครับ ใครเป็นพ่อเป็นแม่ของเด็กวัยอนุบาลหรือประถมอยากแนะนำให้ลองไปหาอ่านกัน มีแปลเป็นไทยภายใต้ชื่อ “เสียดายแย่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้อ่าน” โดย สำนักพิมพ์ Bookscape ด้วย

คำแนะนำหนึ่งที่มีประโยชน์มากและผมลองเอามาใช้แล้วเวิร์คคือวิธีการรับมือตอนที่ลูกงอแง

พ่อแม่ทุกคนล้วนต้องเคยรับมือกับสถานการณ์ที่ลูกทำตัวไร้เหตุผล

เช่นอยากซื้อของเล่นแล้วโวยวาย ล้มแล้วร้องไห้ไม่หยุดทั้งๆ ที่ไม่ได้เจ็บมากขนาดนั้น ไม่กล้านอนคนเดียวเพราะกลัวผี ไม่ยอมแบ่งของเล่นให้เพื่อน ฯลฯ

พ่อแม่สายซอฟต์อย่างเราก็จะพูดจากับลูกดีๆ อธิบายเขาด้วยเหตุผลว่าทำไมเขาไม่ควรซื้อของเล่น/ไม่ควรร้องไห้/ไม่ควรกลัวผี/ไม่ควรแย่งของเล่นกับคนอื่น

แต่พูดจาดีๆ แล้วหลายครั้งลูกก็มักไม่ยอมฟัง จนสายซอฟต์เริ่มต้องใช้ไม้แข็งหรือใช้แรงเข้าข่ม

ซึ่งสุดท้ายลูกก็ต้องยอมเราและสงครามเล็กๆ นี้เราก็เป็นฝ่ายชนะไปอีกครั้ง

แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้สอน และผมมองว่าเป็น game changer เลยก็ว่าได้ ก็คือเราไม่ควรคุยกับลูกด้วยเหตุผล

ใช่ครับ อย่าใช้เหตุผลนำทาง อย่าพยายามแก้ปัญหา แต่ให้พยายามเข้าใจความรู้สึกของลูกและแสดงให้เขารู้ว่าเราพยายามเข้าใจเค้าอยู่นะ.

Don’t fix your child. Feel your child.

ตัวอย่าง

“หนูจะเอาตุ๊กตาตัวนี้!”

“แต่วันก่อนหนูเพิ่งซื้อไปเองนะ”

“แต่หนูอยากเอาอีกตัวนี่หน่า”

“ที่บ้านมีตั้งเยอะแล้ว ยังเล่นไม่ครบทุกตัวเลย”

“แต่ตัวนี้มันน่ารักมากเลย หนูอยากได้”

“มันเปลืองตังค์นะ แม่ซื้อให้หนูทุกครั้งไม่ไหวหรอก”

“แต่หนูจะเอาๆๆๆๆ”

“ถ้าทำตัวอย่างนี้คราวหลังไม่พามาแล้วนะ”

นี่คือบทสนทนาที่แม่พยายามใช้เหตุผล และมักจะจบลงที่ลูกทำตัวไร้เหตุผลและเราต้องใช้คำขู่หรือการบังคับ

คราวนี้ลองพยายามเปลี่ยนจากการ fix เป็นการ feel บ้าง

“หนูจะเอาตุ๊กตาตัวนี้!”

“ทำไมหนูถึงอยากได้ตุ๊กตาตัวนี้ล่ะคะ”

“ก็มันน่ารักอ่ะค่ะ”

“น่ารักยังไง ไหนเล่าให้แม่ฟังหน่อย”

“ก็มันใส่ชุดสีชมพู ขนตายาว ผมสีทอง น่ากอดมากเลย”

“คล้ายๆ กับอีกตัวที่บ้านเลยเนอะ น่าจะเป็นเพื่อนกันได้”

“ใช่ๆ เอามาเป็นคู่หูได้”

“แม่รู้ว่าหนูอยากได้ตัวนี้ แต่วันนี้แม่ซื้อให้ไม่ได้จริงๆ เพราะเราต้องรู้จักประหยัด”

“ประหยัดแปลว่าอะไรคะ”

แล้วบทสนทนาก็ดำเนินไป แน่นอนว่าสุดท้ายลูกอาจจะยังยืนกรานที่จะซื้อตุ๊กตาอยู่ก็ได้

แต่ผมลองวิธีนี้หลายครั้งแล้วก็ได้พบว่าเมื่อเราแสดงออกว่าเราอยากรู้อยากเข้าใจความรู้สึกของเขา ท่าทีของเขาจะอ่อนลง ไม่งอแง ไม่ต่อล้อต่อเถียงเหมือนที่เคย แถมยังพร้อมจะฟังและเข้าใจเรามากขึ้นด้วย

สุดท้ายแล้วมนุษย์เราก็อาจไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าคนที่เข้าใจเขา

ละทิ้งการใช้เหตุผลไปก่อน แล้วลองตั้งต้นด้วยความรู้สึก

แล้วความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกอาจจะราบรื่นขึ้นนะครับ