กฎที่ไม่มีกฎของ Netflix

สำหรับคนที่ติดตามบล็อกนี้เป็นประจำ อาจสังเกตว่าผมจะพูดถึงหนังสือ No Rules Rules ที่เขียนโดย Reed Hastings, CEO ของ Netflix อยู่บ่อยๆ*

ด้วยความที่เนื้องานของผมเป็น HR อยู่แล้ว จึงอินกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ และยกให้เป็นหนังสือ Top 3 ที่ผมได้อ่านในปีนี้

หนึ่งในประเด็นที่ผมชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือ Lead with Context, Not Control – จงนำองค์กรด้วยบริบท ไม่ใช่ด้วยการบังคับควบคุม

องค์กรส่วนใหญ่จะใช้ Control ในการกำกับกิจกรรมในองค์กร ทุกสิ่งที่พนักงานทำต้องผ่านการอนุมัติจากหัวหน้า มีกระบวนการมากมายเต็มไปหมดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด ในขณะที่ Netflix นั้น พนักงานมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอะไรได้เองโดยไม่ต้องให้หัวหน้าอนุมัติเลย แม้ว่ามันจะเป็นการตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ที่ต้องใช้เงินเป็นหลักล้านก็ตาม

สมมติว่าเรามีลูกชายที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นและอยากจะไปปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อนคืนวันเสาร์ เราเป็นห่วงว่าลูกจะเมาแล้วขับมั้ย หรือจะนั่งรถเพื่อนที่เมาแล้วขับรึเปล่า เรามีวิธีป้องกันปัญหาได้สองแบบ

1.เรามีสิทธิ์ตัดสินใจได้ว่าปาร์ตี้ไหนบ้างที่ลูกของเราจะไปได้หรือไปไม่ได้ ถ้าเขาอยากจะไปปาร์ตี้บ้านเพื่อน เขาต้องมาอธิบายให้เราฟังก่อนว่าทำไมถึงอยากไปงานนี้ และต้องให้เราได้คุยกับพ่อแม่เจ้าของบ้านด้วย โดยเราต้องการความมั่นใจว่าจะมีผู้ใหญ่อยู่ที่บ้านคอยดูแลพวกเด็กๆ เวลาปาร์ตี้ เมื่อเราอนุญาตให้ไปแล้ว เราก็ให้ลูกลงแอปที่เอาไว้แทร็คโลเคชั่นของลูกเพื่อให้แน่ใจว่าเขาไปแค่ที่นี่ที่เดียว นี่คือวิธีการ Lead with Control

2.อีกวิธีคือนั่งคุยกับลูก อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมวัยรุ่นถึงดื่มเหล้า และอันตรายที่มาพร้อมกับการเมาแล้วขับนั้นมีอะไรบ้าง เราเอาเหล้าแต่ละชนิดมารินใส่แก้วแล้วให้ลูกลองดื่มดูเพื่อเขาจะได้รู้ว่ากินแค่ไหนถึงจะมึน แค่ไหนถึงจะเมา และแค่ไหนถึงจะเมาเละเทะจนจำอะไรไม่ได้ เราเปิด Youtube ให้เขาดูว่าพอเมาแล้วขับนั้นมันมีผลลัพธ์อะไรตามมาบ้าง เมื่อเรามั่นใจว่าลูกเข้าใจผลกระทบของการเมาแล้วขับ เราก็ปล่อยให้ลูกเลือกได้เองว่าจะไปปาร์ตี้ที่ไหนบ้าง นี่คือการ Lead with Context

แน่นอนว่าเราจะเลือกทางไหนขึ้นอยู่กับว่าลูกชายของเราเป็นเด็กแบบไหน ถ้าที่ผ่านมาเขาเป็นเด็กเกเรและไม่ค่อยมีวิจารณญาณ เราก็อาจจะจำเป็นต้องใช้วิธีแรก แต่ถ้าลูกของเราเฉลียวฉลาดและมีความเป็นผู้ใหญ่พอ เราก็สามารถเลือกใช้วิธีที่สองได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาตัดสินใจได้ดีเรื่องการไปปาร์ตี้แล้ว ยังทำให้เขาเป็นคนที่สามารถตัดสินใจได้ดีในสถานการณ์อื่นๆ อีกด้วย

กับที่ทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรามีพนักงานที่ฉลาดและมีวิจารณญาณที่ดี การ Lead with Context ก็น่าจะถูกจริตเขามากกว่า เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเคารพในตัวเขาและเราให้เขาได้มีอิสรภาพและความรับผิดชอบ (freedom and responsibility) กับทุกงานที่เขาได้รับมอบหมายครับ


* หนังสือ No Rules Rules มีผู้เขียนร่วมคือ Erin Myer ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ INSEAD ซึ่งโด่งดังด้านหลักสูตร MBA