เราเคยได้ยินเรื่องราวดาราเด็กในฮอลลีวู้ด ที่โตขึ้นมาติดยาและเป็นโรคซึมเศร้า
หรือเรื่องราวนักกีฬาที่เคยร่ำรวยมหาศาลแต่ไม่มีทรัพย์สินหลงเหลือในตอนแก่
รวมถึงคนที่บรรลุอิสรภาพทางการเงินจนได้ early retire แต่สักพักทนไม่ได้ ต้องกลับมาทำงานอยู่ดี
ดาราเด็กไม่รู้วิธีการจัดการกับชื่อเสียงและความคาดหวัง
นักกีฬาไม่รู้วิธีการจัดการเงินและการลงทุนอย่างมีสมอง
และคนที่ early retire ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเวลาว่างที่มีมากมาย อยู่เฉยๆ แล้วเหงา อยู่เฉยๆ แล้วเฉา อยู่เฉยๆ แล้วฟุ้งซ่าน
ของดีๆ ที่เราหลายคนโหยหา แต่พอได้มันมาในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้ชีวิตเราแย่ลงกว่าเดิม
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้แจ็คพ็อตแตกอย่างคนที่ผมกล่าวไปข้างต้น อาจจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเรา
แต่จริงๆ ผมว่ามันเกี่ยวนะครับ
เพราะสาเหตุของปัญหา คือ “กล้ามเนื้อ” บางส่วนแข็งแรงไม่พอ
ดาราเด็กไม่มีกล้ามเนื้อการจัดการกับชื่อเสียง นักกีฬาไม่มีกล้ามเนื้อของ financial literacy ส่วนคนที่ early retire ก็ไม่มีกล้ามเนื้อของการอยู่กับตัวเอง
พอมองกลับมาที่คนปกติอย่างเราเรา ก็จะเห็นว่าบางคนกล้ามเนื้อฟีบในบางเรื่อง
นักเรียนที่เรียนเก่งมากๆ อาจไม่เคยฝึกกล้ามเนื้อแห่งความล้มเหลว เพราะสอบได้คะแนนแย่หน่อยเดียวก็จิตตกได้ทันที
ผู้หญิงที่สวยมากๆ และมีแต่คนรุมจีบอาจไม่ได้ฝึกกล้ามเนื้อของการเป็นคนน่ารัก เพราะถึงนิสัยไม่ค่อยน่ารักคนก็ยังยอมให้
หรือผู้บริหารดาวรุ่งพุ่งแรง อาจมีกล้ามเนื้อความเห็นอกเห็นใจที่แคระแกร็น เพราะเขาจับจ้องแต่ results จนลืมมอง relationships
ของดีที่มีมากเกินไปอาจทำลายเราได้
ลองสำรวจตัวเองว่ามีกล้ามเนื้อส่วนใดที่ฟีบไปรึเปล่า จะได้บริหารมันเอาไว้บ้าง
จะได้ปิดจุดอ่อน จะได้ไม่เดือดร้อนในวันที่เรื่องดีๆ โหมกระหน่ำครับ
—-
“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการลดทอนสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปจากชีวิต มีวางขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ bit.ly/eitrreportingengineer