Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ

20170129_inequality

ทำไมอินเดียถึงมีแบ่งชั้นวรรณะ?
ทำไมในอเมริกาคนผิวขาวถึงเหยียดคนผิวดำ?
ทำไมผู้ชายถึงเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงในทุกสังคม?

บทความนี้จะอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว (แม้จะแค่บางส่วนก็ตามที)

วรรณะในอินเดีย
เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว ชาวอารยัน (ที่มาจากเปอร์เซีย-ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ได้ย้ายถิ่นฐานลงมาทางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ทำการสู้รบและเอาชนะคนท้องถิ่นได้ จึงยึดครองพื้นที่และทำการแบ่งชนชั้นให้เสร็จสรรพ โดยคนในท้องที่เดิมถูกจัดให้เป็นวรรณะศูทร (กรรมกร) ในขณะที่ชาวอารยันเองนั้นครอบครองวรรณะพราหมณ์ (นักบวช) กษัตริย์ (นักรบ) และแพศย์ (พ่อค้า)

และเพื่อป้องกันการแข็งขืนของคนท้องถิ่น (ซึ่งมีจำนวนมากกว่า) ชาวอารยันก็ได้แต่งคัมภีร์พระเวทมามาอธิบายการแบ่งชนชั้นวรรณะว่าเป็น “เรื่องธรรมชาติ” โดยคัมภีร์ระบุว่าโลกและทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนเกิดจากปฐมธาตุที่ชื่อ “ปุรุษะ” โดยพระอาทิตย์ถือกำเนิดจากตาของปุรุษะ พระจันทร์เกิดจากสมอง พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากแขน ส่วนพวกศูทรนั้นเกิดจากเท้าของปุรุษะ

Common Myth หรือเรื่องเล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อว่าพวกศูทรถูกสร้างมาให้เป็นเท้าที่คอยแบกรับวรรณะอื่นๆ อยู่แล้ว และทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะฝังรากลึกในวัฒนธรรมของคนอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น การ “ผสมวรรณะ” ก็เป็นเรื่องต้องห้ามเพราะจะทำให้วรรณะนั้นๆ แปดเปื้อน ใครก็ตามที่ละเมิดกฎเหล็กข้อนี้ ลูกที่เกิดมาจะเป็นจัณฑาลที่ถูกทุกคนรังเกียจ (ภาษาอังกฤษเรียกจัณฑาลว่า Untouchables หรือคนที่ไม่มีใครอยากจะแตะต้องร่างกาย)

การเหยียดผิวในอเมริกา
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-18 ชาวยุโรปที่ไปตั้งรกรากอยู่ในอเมริกาได้นำเข้าทาสจากแอฟริกาหลายล้านคนเพื่อมาช่วยทำเหมืองและทำไร่

เหตุผลที่แรงงานทาสส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาก็เพราะว่าอยู่ใกล้กว่าเอเชีย แถมแอฟริกาก็มีตลาดซื้อขายแรงงานทาสรองรับอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ ในหลายพื้นที่ที่ทำไร่นั้นมีโรคมาเลเรียและไข้เหลืองระบาด โรคเหล่านี้ถือกำเนิดในแอฟริกา ชาวแอฟริกาจึงพอจะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว ในขณะที่คนยุโรปไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเหล่านี้เลย

นี่คือตลกร้าย คนแอฟริกาที่มีภูมิคุ้มกันเหนือกว่าคนยุโรป (biological superiority) กลับถูกขายมาเป็นแรงงานชั้นต่ำที่ต้องคอยทำงานรับใช้คนยุโรป (social inferiority)

จากนั้นเป็นต้นมา คนผิวขาวก็รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนผิวดำอยู่เสมอ

ตอนที่อเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ประโยคทองที่ว่า All men are created equal คนที่ลงชื่อท้ายคำประกาศอย่างจอร์จวอชิงตัน*หรือเบนจามินแฟรงคลินต่างก็ล้วนแล้วแต่มีทาสในครอบครอง และเขาก็ไม่ได้มองว่านี่เป็นเรื่องมือถือสากปากถือศีลด้วย เพราะสำหรับเขาแล้ว “มนุษย์” (men) กับ “คนดำ” (Negroes) เป็นคนละพวกกัน

ในสมัยนั้นมีความพยายามสร้างความชอบธรรมสำหรับการแบ่งแยกนี้ โดยนักเทววิทยาอ้างว่าชาวแอฟริกันนั้นสืบสายพันธุ์มาจากลูกของโนอาห์ (Noah) ที่ชื่อว่าแฮม (Ham) ซึ่งถูกพ่อตัวเองสาปแช่งเอาไว้ว่าลูกหลานที่เกิดมาจะเป็นทาส ส่วนนักชีววิทยาก็บอกว่าคนดำนั้นฉลาดน้อยกว่าและมีศีลธรรมน้อยกว่าคนขาว และแม้กระทั่งหมอก็บอกว่าคนดำนั้นสกปรกและเป็นพาหะนำโรค

แม้ว่าการค้าทาสจะถูกยกเลิกไปนานแล้ว แต่ความเชื่อที่ว่าคนดำนั้นต่ำต้อยกว่าคนขาวก็ยังคง.ฝังรากลึก แม้กระทั่งคนดำเองก็ถูกทำให้เชื่อไปแล้วว่าพวกของตัวเองขี้เกียจกว่าและสกปรกว่าคนขาว ยิ่งตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีเกียรติต่างๆ ล้วนแล้วแต่ถูกครอบครองโดยคนผิวขาว คนก็ยิ่งเชื่อขึ้นไปอีกว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่า โดยใช้ตรรกะที่ว่า “ดูสิ นี่ขนาดเลิกทาสมาตั้งนานแล้ว คนดำก็ยังไม่เห็นเจริญขึ้นเลย” ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายและอคตินั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้โอกาสเจริญก้าวหน้าของคนดำนั้นต่ำกว่าคนขาวอย่างเทียบไม่ติด ยกตัวอย่างเช่นในปี 1938 ที่นาย Clennon King นักเรียนผิวดำถูกบังคับให้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลบ้า เหตุผลเพียงเพราะว่าไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัย University of Mississippi โดยผู้พิพากษาได้ตัดสินไว้ว่านักศึกษาผิวดำคนนี้ต้องวิกลจริตไปแล้วแน่ๆ ที่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสได้เรียนมหาลัยชั้นนำแห่งนี้!

หญิงชายไม่เท่ากัน
ความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดจากเรื่องสีผิวหรือวรรณะนั้นเกิดแค่ในบางประเทศเท่านั้น แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศนั้นมีให้เห็นในทุกสังคม โดยเกือบทั้งหมดนั้นผู้ชายจะได้เปรียบกว่าผู้หญิงเสมอ

ในหลายสังคมผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงแค่ทรัพย์สมบัติของพ่อ ของสามี หรือของพี่ชาย การทำผิดอย่างการข่มขืนนั้นจึงถูกจัดว่าเป็นการ “ละเมิดทรัพย์สินส่วนบุคคล” โดย “ผู้เสียหาย” ไม่ใช่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนแต่เป็นผู้ชายที่เป็นเจ้าของผู้หญิงคนนั้นต่างหาก ส่วนการข่มขืนผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นสมบัติของชายใดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ อุปมาเหมือนการที่เราเก็บเหรียญที่ตกอยู่บนถนนได้ก็ไม่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์

แต่ละสังคมได้สร้างวาทกรรม “ความเป็นชาย” (masculinity) และ “ความเป็นหญิง” (femininity) เพื่อเป็นกรอบในการประพฤติตนในสังคมนั้นๆ

ยกตัวอย่าง หนึ่งในคุณลักษณะความเป็นชายของหลายสังคม คือเขาจะต้องรู้สึกดึงดูดกับเพศตรงข้าม ถ้าชายคนนั้นชอบพอเพศเดียวกันถือเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” หรือ “ผิดธรรมชาติ”แต่จริงๆ แล้วการที่คนคนหนึ่งจะชอบเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะอะไรก็ตามที่ชีววิทยาเปิดทางให้ทำได้ เรื่องนั้นต้องถือเป็น “เรื่องธรรมชาติ” (natural) โดยตัวมันเอง

เรื่องที่ “ผิดธรรมชาติ” อย่างแท้จริงย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้และไม่จำเป็นต้องให้ใครมาห้าม ไม่เคยมีสังคมไหนที่ต้องมานั่งห้ามผู้ชายสังเคราะห์แสง หรือห้ามผู้หญิงวิ่งเร็วกว่าแสง หรือห้ามอิเลคตรอนประจุลบดึงดูดกันเอง

เวลาที่สังคมฝรั่งบอกว่าเรื่องอะไรคือเรื่องธรรมชาติ เราจึงไม่ได้พูดถึงธรรมชาติในเชิงชีววิทยา แต่เรากำลังพูดถึงธรรมชาติในเชิงความเชื่อทางศาสนาคริสต์ที่ว่ามนุษย์ถูกสร้างจากพระเจ้า หากเราปฏิบัติตนสอดคล้องกับความต้องการของพระเจ้า เราก็จะบอกว่านั่นเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราทำอะไรไม่สอดคล้องกับความต้องการของพระองค์ เราก็กำลังทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ

ทำไมผู้ชายถึงเป็นใหญ่กว่าเรื่อยไป
สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่หรือที่เรียกว่า patriarchy นั้นมีมาอย่างช้านาน

นักวิชาการพยายามอธิบายเหตุปัจจัยที่น่าจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศในทุกยุคทุกสมัย แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็มักจะมีหลักฐานอื่นมาหักล้างเสมอ

บางคนเชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่เพราะแข็งแรงกว่า เพราะสมัยก่อนการผลิตอาหารต้องใช้แรงงาน และเมื่อผู้ชายแข็งแรงกว่าจึงเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารให้กับสังคม ผู้ชายจึงเป็นกลุ่มคนที่กุมอำนาจมากที่สุดเสมอ

แต่ถ้าใช้ความแข็งแรงเป็นตัวตั้ง เราจะอธิบายได้อย่างไรว่าทำไมตำแหน่งอื่นๆ ที่แทบไม่ต้องใช้แรงอะไรเลยเช่นนักบวช นักกฎหมาย หรือนักการเมือง ถึงตกอยู่ในมือเพศชายแต่เพียงฝ่ายเดียว?

อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพราะผู้ชายมีความก้าวร้าวกว่า จึงมักเป็นผู้เริ่มต้นสงครามและเป็นผู้คุมเกมสงคราม ทำให้ขึ้นมามีอำนาจมากกว่าผู้หญิง

แต่ก็มีคำถามหักล้างอีกว่า แม้ผู้ชายจะก้าวร้าวกว่า เป็นนักรบที่มีประสิทธิภาพกว่า แต่นั่นหมายความว่าคนที่คุมทัพต้องเป็นผู้ชายด้วยเหรอ? ถ้าคนที่ทำไร่ข้าวโพดเป็นคนผิวดำทั้งหมด คนที่คุมคนงานต้องเป็นคนผิวดำด้วยรึเปล่า? ก็เปล่าเสียหน่อย แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงไม่เคยได้รับโอกาสคุมกองทัพบ้าง?

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพราะผู้หญิงต้องอุ้มท้องและดูแลลูก ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายให้ช่วยดูแลลูก คอยปกป้องและหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว

แต่ทำไมผู้หญิงต้องพึ่งพาแต่เพศชายด้วย? ในสังคมอย่างช้างหรือชิมแปนซีโบโนโบ การพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยเลี้ยงดูลูกนำพามาซึ่งสังคมที่เพศเมียเป็นใหญ่ด้วยซ้ำ (matriarchy) เพราะเมื่อตัวเมียรู้ตัวว่ามันจำเป็นต้องมีคน(ลิง)คอยช่วยเหลือ มันจึงพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับลิงตัวอื่น ลิงกลุ่มนี้จึงสร้างเครือข่าย “มนุษย์แม่” ที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ลิงตัวผู้เอาแต่สู้กับตัวอื่นจนไม่มีเวลามาพัฒนาทักษะทางสังคมเลย

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เพศหญิงนั้นตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอด แม้ในศตวรรษที่ 21 สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้วมาก แต่หลายสังคมก็ยังอยู่ห่างไกล “ความเท่าเทียมกัน”  อย่างที่เราฝันถึง


ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari

* เรื่องของจอร์จ วอชิงตันนั้น รุ่นน้องคนหนึ่งทักท้วงมาว่า “จากประวัติของ จอร์ช วอชิงตัน เค้ามีแนวคิดว่า Negros ไม่ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คน นะครับ แต่ในสมัยของเขาที่เป็นยุคเริ่มต้นของสหรัฐอเมริกา เขาไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก และทาสที่เขามีอยู่ก็ได้รับการปฎิบัติเป็นอย่างดี” อ่านประวัติใน Wikipedia ได้ที่นี่ครับ

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน

15 thoughts on “Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ

  1. เรื่องจัณฑาล ลูกที่เกิดมาจะเป็นก็ต่อเมื่อ แม่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ และ พ่ออยู่ในวรรณะศูทร เท่านั้น ถ้าเป็นวรรณะอื่นๆ แต่งข้ามวรรณะกันได้ ไม่เป็นไร แม้กระทั่งพ่อเป็นพราหมณ์แต่แม่เป็นศูทร ลูกที่เกิดมาไม่ได้เป็นจัณฑาล แต่จะมีวรรณะที่ต่ำลงกว่าพ่อ คือเป็นวรรณะย่อยของพราหมณ์ (ระบบวรรณะซับซ้อนกว่าที่พูดกันมาก)

    การที่ให้ลูกเป็นจัณฑาล คือ ไม่มีวรรณะ เพราะไม่ต้องการให้หญิงวรรณะสูงสุด คือ พราหมณ์ ร่วมหอลงโลงกับชายวรรณะล่างสุดอย่างศูทรเท่านั้น (แต่สุดท้ายก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี คนจะรักกันชอบกันซะอย่าง ลูกหลานก็รับไป)

    Like

  2. เรื่องจัณฑาล ลูกที่เกิดมาจะเป็นก็ต่อเมื่อ แม่อยู่ในวรรณะพราหมณ์ และ พ่ออยู่ในวรรณะศูทร เท่านั้น ถ้าเป็นวรรณะอื่นๆ แต่งข้ามวรรณะกันได้ ไม่เป็นไร แม้กระทั่งพ่อเป็นพราหมณ์แต่แม่เป็นศูทร ลูกที่เกิดมาไม่ได้เป็นจัณฑาล แต่จะมีวรรณะที่ต่ำลงกว่าพ่อ คือเป็นวรรณะย่อยของพราหมณ์ (ระบบวรรณะซับซ้อนกว่าที่พูดกันมาก)

    การที่ให้ลูกเป็นจัณฑาล คือ ไม่มีวรรณะ เพราะไม่ต้องการให้หญิงวรรณะสูงสุด คือ พราหมณ์ ร่วมหอลงโลงกับชายวรรณะล่างสุดอย่างศูทรเท่านั้น (แต่สุดท้ายก็ห้ามไม่ได้อยู่ดี คนจะรักกันชอบกันซะอย่าง ลูกหลานก็รับไป)

    Like

  3. เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ หนังสืออาจจะใช้ระบบของตะวันตกเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าเรามองในสังคมตะวันออก โดยเฉพาะในประเทศแถบ Southeast Asia จะพบว่า แต่เดิมนั้นผู้หญิงจะเป็นใหญ่ และการสืบเชื้อสายจะเป็นทางฝั่งแม่ เนื่องจากผู้ชายซึ่งเป็นไพร่จะถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ค่อยอยู่บ้าน ดังนั้น เราจึงบับญาติ คนแปลกหน้าเป็นทางฝ่ายหญิง เราเรียก น้า ตา แทนที่จะเป็น อาและปู่ และสิ่งสำคัญจะเป็นเพศหญิง แม่น้ำ แม่ทัพ เมื่อมีการแต่งงาน เราเรียกฝ่ายชายว่า เจ้าบ่าว คนซึ่งจะเข้ามาเป็นบ่าว ไม่ใช่นาย

    Like

  4. เท่าที่อ่านคร่าวๆ ก็มีจุดที่น่าทักท้วงหลายจุดอยู่ เลยทำให้ลดความน่าเชื่อถือลงไปบ้าง

    Like

  5. คนอุษาคเนย์ โบราณ ผู้หญิงเปนใหญ่ กว่าผู้ชาย
    ก่อนที่ วัฒนธรรมอินเดียจะเข้ามา

    อ้างอิงจาก คุณสุจิตต์ วงศ์เทศน์

    Like

  6. Pingback: Sapiens ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า | Anontawong's Musings

  7. Pingback: Sapiens ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้ | Anontawong's Musings

  8. Pingback: Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า | Anontawong's Musings

  9. Pingback: Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา | Anontawong's Musings

  10. Pingback: Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ | Anontawong's Musings

  11. Pingback: Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา | Anontawong's Musings

  12. Pingback: Sapiens ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม | Anontawong's Musings

Leave a comment