สังคมหันหลัง

20160606_Selfie

ถาม: ในขณะที่หลายๆ คนอาจจะไม่ได้ใช้เวลาคุ้มค่าเท่ากับคุณ บางคนหมดไปกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก หรือหมดไปกับสิ่งที่ทำเพื่อฆ่าเวลา มองเรื่องแบบนี้อย่างไร แล้วมีวิธีบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร

ตอบ: ถ้าพูดถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผมก็ใช้อินสตาแกรม แต่จะใช้ตอนว่าง ไม่ได้ใช้เพื่อรายงานชีวิตเราทุกช่วงขณะ เพราะรู้สึกว่าอยากจะเก็บส่วนนั้นมาไว้เป็นความทรงจำส่วนตัวของเรา บางรูปที่ลงก็เป็นรูปที่สต็อกไว้ เพราะผมไม่เห็นความจำเป็นของการที่จะมานั่งบอกโลกว่าเรากำลังทำอะไร ผมมองว่าตอนนี้สังคมเริ่มที่จะเข้าใจมากขึ้นแล้วว่า โซเชียลเน็ตเวิร์กมันเป็นสิ่งที่ดูดชีวิต แล้วการที่เรามัวแต่ไปมองหน้าจอมือถือก็อาจจะทำให้เราไม่ได้เอ็นจอยกับสิ่งรอบข้าง ในขณะที่เรา connect กับคนที่เราอยากจะ connect ซึ่งไม่รู้ว่าเขาอยากจะ connect กับเราหรือเปล่า แต่เรากำลัง disconnect ไปจากคนรอบตัวเรา แล้วถ้าเรามีสังคมอยู่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก สิ่งที่เราเห็นในโซเชียลเน็ตเวิร์กมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปตามโลกปกตินะครับ มันคือสิ่งที่เป็นผักชีโรยหน้า หรือถูกปรุงแต่งมาเรียบร้อยแล้ว คือสิ่งที่คนเขาอยากจะให้คนอื่นเห็น อยากให้คนอื่นรู้สึกว่าชีวิตฉันดีนะ นี่ฉันซื้อแบรนด์เนมนะ ฉันกินข้าวอร่อย ฉันซื้อของแพง นอนโรงแรมหรู แต่ถ้านั่งอึอยู่คงไม่มาโพสต์ อย่างของผมเวลาจะลงอะไรก็จะพยายามบอกถึงความเป็นตัวเราให้มากที่สุด ซึ่งก็มีอีกหลายๆ อย่างที่เราไม่อยากจะสื่อ เช่นวันนี้อารมณ์เสีย คงไม่อยากจะมาโพสต์ให้คนอื่นรู้หรอก เพราะฉะนั้น ขนาดตัวเองยังทำเองเลย คือเอาแต่เรื่องสวยๆ ดีๆ ให้สังคมรู้ ทำไมคนอื่นเขาจะไม่ทำ เพราะฉะนั้นมันก็จะหลงฟุ้งเฟ้อกันไปโดยไม่มีอะไรที่เป็นความจริงเท่าไหร่ บางครั้งเวลาวิวมันสวย เรายังหันหลังให้วิวเลย เพื่อที่จะให้คนอื่นเห็นว่าเราอยู่ท่ามกลางวิวสวยๆ แต่เรากลับไม่หันไปมองดูด้วยตาของตัวเอง บางครั้งวินาทีที่เราเสียไปแล้ว มันก็อาจจะเสียไปตลอดกาล ในช่วงเวลานั้น แวบเดียวตรงนั้นมันอาจจะมีอะไรที่มาสะดุดใจเรา แต่เดี๋ยวนี้พอคนเห็นสิ่งสวยงามปุ๊บก็หันหลังให้สิ่งสวยงามทันทีเพื่อที่จะถ่ายรูป มันก็ตลกดี เพราะว่าเราให้ความสำคัญกับคนอื่นที่มองเรา มากกว่าสิ่งที่เรากำลังมองหรือเป็นในขณะนั้น ถ้าเรารู้เท่าทันเทคโนโลยี ผมก็เชื่อว่าคนจะลดปริมาณการใช้ลง อยากให้คิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ มันควรจะมาเป็นสิ่งที่มาเสริมสร้างให้ชีวิตเราดีขึ้น ไม่ใช่มาทำให้คุณภาพชีวิตหรือความเป็นคนของเราแย่ลง

– นาวิน เยาวพลกุล
a day BULLETIN issue 312, 14-20 Jul 2014
สัมภาษณ์ วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, เอกพล บรรลือ
ถ่ายภาพ ภาสกร ธวัชชาตรี

—–

เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้ยินคำว่า “สังคมก้มหน้า” มาบ้างแล้ว

นั่นคือสังคมที่มีแต่คนก้มหน้าเล่นมือถือ

มาอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณนาวิน ตาร์ จึงได้รู้ว่าเรากำลังมี “สังคมหันหลัง” ด้วยเหมือนกัน

หันหลังให้สิ่งสวยงามเพื่อเราจะได้ถ่ายเซลฟี่

ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็ว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะถ่ายรูปตัวเองคู่กับวิวสวยๆ

แต่เซลฟี่ก็มีสองแบบ คือเซลฟี่เพื่อเก็บความทรงจำ และเซลฟี่อวดชาวโลก

เซลฟี่เก็บความทรงจำนั้นจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราได้ชื่นชมทิวทัศน์จนอิ่มเอมแล้วจึงค่อยถ่ายรูป

เซลฟี่อวดชาวโลกคือแค่เห็นว่าวิวสวยก็คว้ากล้องขึ้นมาถ่ายทันที แถมยังใช้เวลาอีกหลายนาทีแต่งภาพให้ตัวเองหน้าเนียนที่สุดก่อนอั๊พขึ้นเฟซบุ๊คหรืออินสตาแกรม

แต่งภาพไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ เพราะใครๆ ก็อยากดูดี แต่มันน่าเสียดายที่จะมานั่งแต่งภาพในช่วงเวลาอันจำกัดที่เราจะได้อยู่ในสถานที่แห่งนั้น

ซึ่งระหว่างที่เราก้มหน้าอยู่ อาจมีภาพสวยๆ เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรามากมาย แต่เราก็พลาดภาพเหล่านั้นไปด้วยเหตุผลที่ไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่


นอกจากจะหันหลังให้วิวสวยๆ แล้ว การที่เราติดมือถือมากเกินไปยังเป็นการหันหลังให้คนในเชิงสัญลักษณ์อีกด้วย เพราะมันเป็นการส่งสัญญาณว่าเราอยากพูดคุยกับกล่องพลาสติกในมือมากกว่าคุยกับคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าเรา

“ในขณะที่เรา connect กับคนที่เราอยากจะ connect ซึ่งไม่รู้ว่าเขาอยากจะ connect กับเราหรือเปล่า แต่เรากำลัง disconnect ไปจากคนรอบตัวเรา”

ใครที่อายุเกิน 25 ปีอาจจะพอจำได้ว่า ช่วงที่ค่ายมือถือ Orange เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ (ก่อนจะถูกซื้อและเปลี่ยนชื่อเป็น True) เขามีคำขวัญติดหูว่า “คุยกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น”

เป็นตลกร้ายที่มือถือสมัยนี้ทำให้เกิดสิ่งตรงกันข้าม คือ “คุยกันน้อยลง เข้าใจผิดกันมากขึ้น”

แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของมือถือนะครับ

“เทคโนโลยีเหล่านี้ มันควรจะมาเป็นสิ่งที่มาเสริมสร้างให้ชีวิตเราดีขึ้น ไม่ใช่มาทำให้คุณภาพชีวิตหรือความเป็นคนของเราแย่ลง”

เทคโนโลยีเป็นดาบสองคม ถ้าใช้อย่างรู้เท่าทัน มันก็จะเป็นเครื่องมือที่มีพลังมหาศาล

แต่ถ้าใช้อย่างขาดสติปัญญา ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกันว่าเครื่องมือเหล่านี้จะนำพาความสัมพันธ์ของมนุษย์เราไปทางไหน

เพราะขนาดรุ่นเราที่เพิ่งรู้จักมือถือไม่นานยังอาการหนักขนาดนี้

แล้วรุ่นลูกรุ่นหลานของเราล่ะ จะเป็นอย่างไร?


ขอบคุณภาพและข้อความจาก a day BULLETIN issue 312, 14-20 Jul 2014

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

Leave a comment