หาความรู้แบบสล็อตแมชชีน

ผมมักจะตั้งคำถามอยู่เสมอว่า เวลาเราหยิบมือถือขึ้นมา เรากำลังมองหาอะไร

แน่นอนว่าบางครั้งก็มีจุดหมายแน่ชัด คือเอาไว้สื่อสารและทำงาน

แต่หลายครั้งเราทำไปเพราะความเคยชิน หรือเพราะคนรอบตัวเล่นมือถือ เราก็เลยต้องหยิบขึ้นมาเล่นบ้างเพื่อหลบหลีกความอึดอัด

เมื่อเข้ามือถือโดยไม่มีจุดหมายแน่ชัด นิ้วโป้งที่ไถไปจึงคล้ายคันโยกบนสล็อตแมชชีน สายตาคอยจับจ้องว่าจะเจอแจ็คพ็อตบ้างหรือไม่

แจ็คพ็อตสำหรับบางคนคือความบันเทิง และสำหรับบางคนคือความรู้

การเข้ามือถือเพื่อความบันเทิงคงไม่ต้องอภิปรายมากนัก มันคงคล้ายกับการดูทีวีสมัยก่อนที่กดไล่ช่องไปเรื่อยๆ จนเจอสิ่งที่น่าสนใจ

แต่การเข้ามือถือเพื่อหาความรู้ ผมว่าเป็นเรื่องน่าพูดคุย

สมัยก่อน ถ้าเราอยากรู้เรื่องอะไร เราก็จะไปถามคนที่รู้เรื่องนั้น หรือเข้าห้องสมุดเพื่อค้นคว้า

คำถามมาก่อน แล้วเราจึงออกหาคำตอบทีหลัง

สมัยนี้ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร เราแค่ไถฟีดไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะได้อ่าน-ได้ดูบางสิ่งบางอย่างที่จะทำให้เราฉลาดและเข้าใจโลกมากกว่านี้

การอ่านโซเชียลเพื่อได้ความรู้ จึงเป็นการได้คำตอบโดยที่เราไม่ได้ตั้งคำถาม เพราะมีคน (จริงๆ คือ AI) ถามและตอบมาให้แล้วเสร็จสรรพ

วิธีการแบบนี้ก็สะดวกดี แต่ก็มีสิ่งที่ควรระวังอยู่ 2-3 ประการ

หนึ่ง คำตอบที่ได้มามีความสะเปะสะปะ ไม่เป็นองค์รวม ต่อยอดลำบาก คล้ายกับเบี้ยหัวแตกที่เอาไปซื้ออะไรเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้

สอง คำตอบมักจะมาแบบสั้นๆ ย่อยมาแล้วให้เข้าใจง่าย (เพราะยิ่งง่ายคนยิ่งแชร์เยอะ) คำตอบเหล่านี้จึงอาจไม่ได้ทำให้เราลุ่มลึกขึ้นเท่าไหร่ เราอาจกลายเป็นคนที่รู้กว้างแต่ไม่กระจ่างสักอย่างเดียว

สาม เมื่อถูกป้อนคำตอบจนเคยชิน เราอาจสูญเสียความสามารถในการตั้งคำถาม โดยเฉพาะคำถามที่สำคัญสำหรับชีวิต

เมื่อเราไม่อาจเลิกเล่นมือถือได้ง่ายๆ วิธีลดความเสี่ยงที่กล่าวมา คือแทนที่จะหาความรู้แบบสล็อตแมชชีน เราควรหาความรู้แบบอ่านหนังสือพิมพ์

ยุคที่หนังสือพิมพ์เฟื่องฟู เราจะรู้เลยว่าจะเปิดไปหน้าไหนก่อน

อย่างผมถ้าได้ไทยรัฐมา ผมจะหยิบท่อนสองขึ้นมาดูหน้าแรกเพื่ออ่านข่าวกีฬา จากนั้นถ้าอยากดูโปรแกรมหนังก็เปิดสองหน้าจากด้านหลังแล้วอ่านหน้าซ้าย ถ้าอยากอ่านคอลัมน์กิเลน ประลองเชิง (และก่อนหน้านั้นคือมังกรห้าเล็บ) ก็จะอยู่ในหน้าแรกๆ มุมขวาล่าง

หนังสือพิมพ์อีกฉบับที่ผมเคยเป็นแฟนเหนียวแน่น คือมติชนวันอาทิตย์หน้า 14 ที่แนะนำให้ผมรู้จักกับประภาส ชลศรานนท์ ‘ปราย พันแสง บินหลา สันกาลาคีรี เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย และบัวไร

เราสามารถใช้มือถือแบบเดียวกันได้ คือตั้งเป้าก่อนว่าอยากอ่านงานเขียนของใคร แล้วก็เข้าไปที่หน้าของเขาเลย พี่ที่ผมเคารพนับถือคนหนึ่งก็ใช้โซเชียลมีเดียแบบนี้ คือไม่ได้เป็น friend กับใคร แต่จะเข้าเพจของสื่อที่เขาเชื่อมั่นเพื่อติดตามความเป็นไปของโลก

แน่นอนว่าวิธีแบบนี้ย่อมขัดกับความเคยชิน แต่ก็เป็นเทคนิคที่ควรพิจารณา ยิ่งเดี๋ยวนี้ algorithm ชอบส่งอะไรมาเต็ม home feed ไปหมด

ใช้มือถือหาความรู้แบบอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ใช่แบบเล่นสล็อตแมชชีน

เพราะเราไม่ควรปล่อยให้สติปัญญาเติบโตไปตามยถากรรมครับ