ผมได้อ่านบทความ How to Say “No” After Saying “Yes” ของ Melody Wilding ที่เขียนให้ Harvard Business Review เมื่อเดือนกันยายน 2021
เนื้อหาว่าด้วยการที่เราตกปากรับคำเพื่อนหรือหัวหน้าไว้ว่าจะช่วยทำโปรเจ็คใดโปรเจ็คหนึ่ง แต่แล้วก็มารู้ตัวทีหลังว่าเราได้ overcommmit ไปเสียแล้ว ถ้าเรายังฝืนทำโปรเจ็คนี้ต่อไป งานอื่นๆ อาจจะเสีย หรืออาจส่งผลต่อสุขภาพและความสัมพันธ์ได้
บทความนี้เสนอแนวทางว่าเราควรจะ “uncommit” ยังไงไม่ให้เสียชื่อ เสียหน้า หรือเสียเพื่อน
เห็นว่ามีประโยชน์เลยสรุปมาให้อ่านกันทีละขั้นตอนนะครับ
- คำนึงถึงต้นทุน (Consider the cost)
ก่อนจะถอนตัว เราควรจะไตร่ตรองให้ดีว่าการถอนตัวคือทางเลือกที่ถูกต้องแล้วจริงๆ เพราะบางโปรเจ็คอาจจะคุ้มเหนื่อยก็ได้หากมันสร้างโอกาสที่ดีให้กับเราในอนาคต แต่ถ้าคิดดีแล้วว่ายังไงก็ไม่คุ้ม ก็ควรจะพอแค่นี้
- ปรับมุมมอง (Shift your perspective)
ถ้ากลัวว่าปฏิเสธตอนนี้แล้วจะทำให้เราดูเป็นคนไร้ความรับผิดชอบ ให้มองอีกมุมว่าการเดินหน้าต่อโดยที่รู้ทั้งรู้ว่าจะทำออกมาได้ไม่ดีนั้นเป็นการไร้ความรับผิดชอบเสียยิ่งกว่า
และถ้าเราปฏิเสธอย่างมีมารยาท เราก็แสดงให้เห็นว่าเราเป็นคนจัดการเวลาได้ ลำดับความสำคัญเป็น และเป็นคนโปร่งใสไม่ซับซ้อน
- นุ่มนวลแต่ซื่อตรง (Be diplomatic but truthful)
เมื่อต้องนำข่าวร้ายไปบอก ให้พูดอย่างมั่นใจและพูดเท่าที่ควรพูดโดยไม่จำเป็นต้องชักแม่น้ำทั้งห้า คิดมาให้ดีและพูดให้ตรง ยกตัวอย่างเช่น “เดือนที่แล้วที่ผมบอกว่าผมสามารถเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการได้นั้น ตอนนั้นผมเชื่อจริงๆ นะว่าผมน่าจะมีเวลาทำหน้าที่นี้ได้ดี แต่หลังจากที่ผมดูตารางงานแบบละเอียดแล้ว ผมถึงรู้ตัวว่าผมมีงานอื่นที่ต้องสะสางเยอะเกินกว่าจะทำหน้าที่ใหม่ได้ดี ดังนั้นผมคงเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการไม่ได้”
อีกตัวอย่างหนึ่งสำหรับการถอนตัวจากงานชิ้นใหม่ที่หัวหน้าเพิ่งมอบหมายมาให้: “ผมไล่ดูงานทั้งหมดที่ผมมีอยู่แล้วจึงรู้ตัวว่าโปรเจ็คใหม่ที่หัวหน้าจะมอบหมายอาจจะทำให้ผมทำงานหลักของผมได้ไม่ดีพอ ซึ่งไม่น่าจะดีต่อทีมและบริษัท ผมเลยต้องขออนุญาตถอนตัวนะครับ”
[ตัวอย่างคำพูดนั้นอาจฟังดูไม่ธรรมชาติเท่าไหร่ในบริบทคนไทย แต่ลองปรับใช้ดูนะครับ]
- รักษาความสัมพันธ์ (Preserve the relationship)
เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะขอโทษในความผิดพลาด ในความเข้าใจผิด หรือในสิ่งที่เรา overcommit ลงไป เพราะคนเหล่านั้นเขาก็หวังพึ่งเราอยู่เช่นกัน ตัวอย่างของคำขอโทษก็เช่น “ขอโทษที่ทำให้วุ่นวายนะครับ ผมดีใจมากเลยที่คุณนึกถึงผมตอนจะทำโปรเจ็คนี้ ขอเป็นกำลังใจให้โปรเจ็คประสบความสำเร็จนะครับ”
- ให้ทางเลือก (Offer an alternative)
ทางเลือกนี้มีได้หลายทาง เช่นเราอาจต้องปฏิเสธในรอบนี้ แต่บอกเขาว่าคราวหน้าถ้ามีโอกาสแบบนี้อีกอยากให้เขามาชวนเราใหม่
หรือเราอาจแนะนำให้รู้จักกับคนอื่นที่น่าจะช่วยเขาได้ หรือบอกเขาว่ามีแหล่งข้อมูลหรือ community กลุ่มไหนที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้
- เรียนรู้ที่จะไม่พลาดอีก (Learn from it)
การถอนตัวไม่ใช่เรื่องสนุก แต่มันให้บทเรียนที่ดีสำหรับคนที่มีแนวโน้มที่จะ please คนอื่นตลอดเวลาจนเราไม่เป็นตัวของตัวเอง จงใช้เหตุการณ์ครั้งนี้เพื่อฝึกกล้ามเนื้อในการแยกแยะว่าเรื่องแบบไหนที่เราควรตอบรับ และเรื่องแบบไหนที่เราควรปฏิเสธ จากนี้ไปควรจะเซย์เยสแต่กับเรื่องที่เราตื่นเต้นที่จะทำและให้เวลากับมันได้จริงๆ
ขอบคุณเนื้อหาจาก HBR: How to Say “No” After Saying “Yes” by Melody Wilding