ครึ่งหลังของชีวิตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำเอาไว้ในครึ่งแรก

“It seems, in fact, as though the second half of a person’s life is made up of nothing but the habits they accumulated during the first half.”

-Fyodor Dostoyevsky

ลองนึกถึงเพื่อนสองคนที่ฐานะครอบครัวใกล้เคียงกัน เรียนจบคณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน มีเพื่อนกลุ่มเดียวกัน เลือกทำงานในองค์กรที่คล้ายคลึงกัน

ช่วง 3 ปีแรก สองคนนี้อาจจะมีชีวิตที่ไม่ต่างกันมากนัก ทั้งเงินเดือน ความรู้ความสามารถ ไลฟ์สไตล์ หรือฐานะทางเศรฐกิจและสังคม

แต่เมื่อผ่านสามปีแรกไป ช่องว่างของสองคนนี้อาจจะถ่างขึ้นเรื่อยๆ คนหนึ่งอาจจะได้โปรโมตเป็นหัวหน้า ขณะที่อีกคนยังเป็นพนักงานปฏิบัติการอยู่

และเมื่อผ่านพ้นไป 10 ปี คนหนึ่งอาจจะมีชีวิตที่รุ่งโรจน์และมีอนาคตสดใส ขณะที่อีกคนอาจถึงขั้นจะตกระกำลำบาก

ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เรียนจบมาด้วยกัน เป็นคนหัวดี สูงชะลูดตูดปอด เล่นกีตาร์เพราะ เตะบอลเก่ง รูปถ่ายตอนไปเรียนเมืองนอกนี่หล่อเหลาน่าดู

ติดเพียงอย่างเดียวคือเขากินเหล้ากินเบียร์เก่งมาก กินทุกวันจนมีกลิ่นแอลกอฮอลติดตัวตลอดเวลา เรียนจบไปแล้วก็ยังติดเหล้าอยู่ เคยพยายามเลิกหลายทีก็กลับไปกินใหม่ งานการเลยไม่เป็นชิ้นเป็นอันและไม่สามารถตั้งตัวได้เสียที ช่วงที่ลำบากมากๆ เคยต้องไปขับแท็กซี่เลยด้วยซ้ำ จนระยะหลังป่วยและต้องฟอกไตเป็นประจำ ก่อนจะเสียชีวิตไปเมื่อสองปีที่แล้ว

สิ่งดีๆ ต่างๆ ที่เรามีวันนี้ ล้วนเกิดจากการกระทำของเราในอดีต

สิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนเกิดจากการกระทำของเราในอดีตเช่นกัน

แน่นอนว่าเรื่องโชควาสนาก็มีส่วน แต่หากถือคติพุทธว่าโลกนี้ไม่มีความบังเอิญ ชะตากรรมทั้งหลายก็มีเรานี่แหละที่เป็นคนกำหนด

หากชีวิตเดินทางมาถึงวัยกลางคน และรู้สึกว่ามันยังไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ ก็ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นผลลัพธ์ของนิสัย การตัดสินใจ และการกระทำตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามันสายเกินแก้ หากตอนนี้เราอายุ 40 ปี และตั้งใจว่าอยากอยู่ถึง 80 ปี แสดงว่าสิ่งที่เราทำในช่วงวัย 41-60 ปี จะเป็นตัวกำหนดว่าชีวิตหลังเกษียณของเราจะเป็นแบบไหน

20 ปีอาจฟังดูยาวนานสำหรับคนหนุ่มสาว แต่สำหรับคนที่ถึงวัย 40 แล้วจะเข้าใจเลยว่ามันสั้นกว่าที่เราเคยจินตนาการเอาไว้มาก วัย 20-40 นั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว และ 20 ปีต่อจากนี้อาจจะไหลไปเร็วกว่านั้นเสียอีก

อีกอย่างที่ชวนคิดก็คือ การ “หั่นครึ่ง” นั้นเราทำได้เป็นอนันต์จนถึงหน่วยที่เล็กที่สุด

ช่วงอายุ 51-60 ปีเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าตอน 41-50 ปีเราทำอะไรเอาไว้บ้าง

ปีหน้าจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าปีนี้เราทำอะไรเอาไว้บ้าง

ปลายเดือนจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าต้นเดือนเราทำอะไรเอาไว้บ้าง

ครึ่งวันหลังจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับครึ่งวันแรกเราทำอะไรเอาไว้บ้าง – เหมือนคำสอนของชาวยิวที่กล่าวว่า “Lose an hour in the morning, chase it all day.”

นาทีต่อไปจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่านาทีนี้เราทำอะไร

ชั่วขณะถัดไปจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าชั่วขณะนี้เราทำอะไร

บางสิ่งบางอย่างอาจจะสายเกินไป แต่ก็มีอีกมากมายที่เราเริ่มได้ตอนนี้

มาทำ “ครึ่งแรก” ที่เหลืออยู่ให้ดี เพื่อจะได้มีครึ่งหลังที่สวยงามกันนะครับ