เหตุผล 3 ข้อที่ผมอ่านหนังสือ Principles ไม่จบ

จริงๆ ผมอยากเขียนบทความนี้มานานแล้ว แต่อยากรอให้กระแสหนังสือ Principles จางลงเสียก่อน จะได้ไม่กระทบกับผู้คนที่ลงทุนลงแรงในหนังสือเล่มนี้มากเกินไปนัก

Principles เป็นหนังสือของ Ray Dalio ผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ซึ่งทำกองทุน hedge fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มีพี่ๆ หลายคนที่ผมเคารพนับถือ บอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแนวพัฒนาตัวเองที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง แต่ผมกลับไม่เคยรู้สึกอย่างนั้นเลย วันนี้เลยอยากมาเล่าให้ฟังว่าทำไม

ต้องขออภัยสำนักพิมพ์ ผู้แปลหนังสือ และทุกคนที่ชอบหนังสือเล่มนี้ล่วงหน้า ขอให้ถือเสียว่าคนเชียร์เยอะแล้ว ลองฟังมุมมองที่แตกต่างออกไปบ้างแล้วกันนะครับ


ผมซื้อ Principles ฉบับภาษาอังกฤษมาช่วงปลายปี 2017 หนังสือดูดีมีราคามาก ความหนา 500 กว่าหน้า การตีพิมพ์เนี้ยบสุดๆ รู้เลยว่าเป็นหนังสือที่สร้างออกมาด้วยความใส่ใจ

หนังสือแบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกเล่าถึงชีวิตที่ผ่านมาของเขา ช่วงที่สองคือหลักการการใช้ชีวิต และช่วงที่สามคือหลักการการทำงาน

ผมอ่านช่วงแรกได้นิดเดียว คือพอจะรู้ว่าเรย์เคยออกมาทำนายว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะล่ม แต่กลายเป็นว่าเศรษฐกิจรุ่งเรืองอย่างมาก เกมที่เขาวางไว้จึงผิดพลาด บริษัทขาดทุนเละเทะ ต้องโละคนออกจนบริษัทเหลือพนักงานแค่คนเดียวก็คือตัวเขาเอง

จากนั้นผมก็ข้ามไปอ่านช่วงที่สอง คือหลักการการใช้ชีวิต แล้วก็อ่านได้อีกสองร้อยกว่าหน้า จากนั้นก็วางหนังสือลง แล้วก็ไม่ได้หยิบขึ้นมาอ่านอีกเลย

ปัญหาข้อแรกก็คือ หนังสือเล่มนี้มี “ความหนาแน่นของ insights ต่ำ”

insights คือความรู้อะไรบางอย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หรือเป็นมุมที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน หรืออาจเป็นความรู้ที่ท้าทายความรู้ชุดเก่าที่เรามีอยู่แล้ว ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกระบวนทัศน์ การมองโลก และการใช้ชีวิตของเราใหม่ในบางมิติ

แต่กับหนังสือ Principles ผมแทบไม่เจออะไรอย่างนั้นเลย

ขอยกตัวอย่างส่วนหนึ่งของหนังสือ Principles ที่เพจ Money Land นำมาลง (ซึ่งเอามาจาก Bingo Book Summary อีกที) และมีคนแชร์ไปสี่หมื่นกว่าครั้ง

สูตรลัดความสำเร็จ 5 ข้อของ เรย์ ดาลิโอ

1. กำหนดเป้าหมายแล้วก้าวไปหามัน

2. เผชิญหน้ากับปัญหาระหว่างเดินทางไปสู่เป้าหมาย
ทุกปัญหาย่อมเจ็บปวด และถ้าคุณแก้ปัญหาเหล่านั้นผิดวิธี มันจะทำลายชีวิตของคุณด้วย แต่ถ้าคุณอยากก้าวหน้าคุณก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังไปเรื่อย

3. หาต้นเหตุของปัญหา
คนส่วนใหญ่เจอปัญหาแล้วก็แก้เลย แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มันจะไม่ยั่งยืน เพราะตราบใดที่คุณไม่กำจัดต้นตอปัญหา อีกไม่นานปัญหาเก่าก็จะกลับมาอีก

4. คิดหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น
พอคุณรู้ต้นตอปัญหาแล้ว ค่อยคิดหาวิธีแก้ไขมัน

5. ลงมือทำ
พอคุณวางแผนแก้ปัญหาเสร็จแล้ว ที่เหลือก็คือการลงมือทำให้ไปถึงเป้าหมาย

ซึ่งไม่มีอะไรผิดเลย แต่ก็ไม่มีอะไรใหม่เลยเช่นกัน

วิธีทดสอบง่ายๆ ว่าเนื้อหามันมีคุณค่าในตัวมันเองหรือไม่ คือลองตัดชื่อ Ray Dalio ทิ้งไป เหลือเพียง “สูตรลัดความสำเร็จ 5 ข้อ” แล้วลองอ่านใหม่ เราจะเห็นว่าเนื้อหาไม่ได้มีอะไรที่อ่านแล้วเกิดสปาร์คในใจหรือในสมอง มันเป็นสิ่งที่เรารู้กันมาแต่ไหนอยู่แล้ว ถ้าเราก็อปแปะลงในไลน์ส่งให้พ่อกับแม่ เขาจะส่งต่อให้คนอื่นรึเปล่ายังไม่แน่เลย

อาจจะมีคนเถียงว่า เนื้อหาเดิม แต่นำมาถ่ายทอดด้วยวิธีใหม่ ก็อาจจะทำให้คนเก็ทเนื้อหาหรือลุกขึ้นมาทำอะไรมากขึ้น แต่ผมก็ยังไม่ได้รู้สึกว่าการนำเสนอของเรย์มีอะไรที่พลิกความคิด หรือทำให้เราอินกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วมากกว่าเดิมได้ สไตล์การเขียนอ่านง่ายก็จริง แต่ไม่ได้ถึงขั้นอ่านเพลิน บางทีรู้สึกว่าเยิ่นเย้อเกินไปด้วยซ้ำ

ปัญหาข้อที่สองก็คือ แม้จะมี insights ที่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่มันก็เอาไปใช้งานจริงไม่ค่อยได้

Radical truth & radical transparency – ความตรงไปตรงมาและโปร่งใสแบบสุดขั้ว คือเราต้องกล้าบอกกับเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือแม้กระทั่งหัวหน้าว่าเราคิดอย่างไร รวมถึงการบันทึกเสียงการประชุมทุกครั้งของ Bridgewater ให้พนักงานเข้าไปฟังย้อนหลังได้ ซึ่งเนื้อหาที่ติดตาตรึงใจผมที่สุดในหนังสือเล่มนี้ก็เกี่ยวกับเรื่อง radical truth ที่ลูกน้องคนหนึ่งส่งเมลไปตำหนิเรย์ว่าการประชุมที่ผ่านมาเรย์ทำหน้าที่ได้ไม่ดีเลย

Idea Meritocracy – ไอเดียที่ได้รับการคัดเลือกควรจะถูกเลือกเพราะว่ามันเป็นไอเดียที่ดีและมีคุณค่า ไม่ใช่เพราะว่าคนที่ออกไอเดียนั้นมีตำแหน่งใหญ่โต

Believability-Weighted Decision Making – ชื่อฟังดู technical มาก แต่ความหมายก็คือเราควรเชื่อคนที่ตัดสินใจถูกบ่อยๆ มากกว่าจะเชื่อเพราะเขาเป็นผู้บริหาร ที่ Bridgewater จะมีการเก็บสกอร์ไว้เลยว่าใครมีเครดิตในเรื่องไหน ตัดสินใจเรื่องอะไรถูกมาบ้าง และเมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจเรื่องนั้นอีกครั้ง Bridgewater ก็จะให้น้ำหนักกับคนที่มีเครดิตในเรื่องนั้นเยอะๆ ซึ่งการทำอย่างนี้ก็จะนำไปสู่ idea meritocracy นั่นเอง

Algorithms – ทุกการตัดสินใจจะถูกสรุปเป็นบทเรียนและเขียนเป็นอัลกอริธึมเพื่อที่จะได้หยิบขึ้นมาใช้เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องที่คล้ายคลึงกันอีก

Seek out the smartest people who disagree with you – หาคนที่ฉลาดที่สุดที่ไม่เห็นด้วยกับเรา เราจะได้รู้ว่าเขาคิดยังไงและเราจะได้เห็นข้อบกพร่องในกระบวนการคิดของเราเอง

สำหรับผม ข้อสุดท้ายที่ให้หาคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราเป็นข้อเสนอแนะที่ practical ที่สุดและมีประโยชน์ที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ส่วนข้อที่เหลือนั้นก็น่าสนใจแต่เอาไปทำอะไรไม่ค่อยได้

เพราะถ้าเราไม่ใช่ผู้ก่อตั้งและไม่ใช่ CEO ของบริษัท การที่เราจะใช้ radical truth และ radical transparency อาจจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันออกที่ seniority และการรักษาหน้ายังเป็นเรื่องสำคัญ

ส่วน Believability-Weighted Decision Making แบบที่ Bridgewater ทำนั้น ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลแบบละเอียดยิบ และอาจไม่ได้จำเป็นสำหรับธุรกิจทั่วไปขนาดนั้น ส่วนการนำการตัดสินใจทุกอย่างมาเขียนเป็น algorithms เรย์ก็ไม่ได้อธิบายลงลึกมากพอที่ผู้อ่านจะเอาไปลองทำดูเองได้

เมื่อหนังสือไม่มีอะไรใหม่ หรือถึงจะมีอะไรใหม่ก็นำไปใช้ไม่ค่อยได้ และสไตล์การเขียนก็ไม่ได้สนุกพอที่จะทำให้อ่านเพลิน จึงนำไปสู่ปัญหาข้อที่สาม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สุดที่ผมมีกับหนังสือเล่มนี้

นั่นก็คือผมมองว่าหนังสือ Principles นั้นมัน overhyped หรือความโด่งดังของมันล้ำหน้าคุณค่าของเนื้อหาในหนังสือมากเกินไปหน่อย

คือหนังสือมันก็ดีแหละ แต่มันไม่ได้ดีขนาดนั้น ที่คนชื่นชมมากมายน่าจะมาจากตัวตนของผู้เขียนมากกว่าเพราะชื่นชมเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งช่างดูย้อนแย้งเหลือเกินกับ idea meritocracy ที่เรย์พูดถึง

ถ้าจะให้เปรียบเปรยก็คงอารมณ์เดียวกับที่เราได้ยินเพลงบางเพลงที่ดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเพราะขนาดนั้น มันไม่ควรดังได้ขนาดนี้ มันก็เลยเกิดความแอนตี้เล็กๆ ขึ้นในใจ

หรือสมัยที่เรายังฟังเพลงเป็นอัลบั้มอยู่ นี่คือศิลปินที่เราชื่นชอบ แต่เพลงที่เราชอบมากที่สุดในอัลบั้มกลับไม่ค่อยดัง เพลงที่ดังที่สุดของเขากลับเป็นเพลงที่เราว่าก็โอเคแต่ไม่ได้เจ๋งขนาดนั้น มันก็เลยมีความรู้สึกขัดใจอยู่ลึกๆ

Ray Dalio เป็นคนเก่งแน่นอน ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถสร้าง Hedge fund ระดับนี้ได้ และความรู้ของเขาเรื่องการเงินและเศรษฐกิจนั้นก็เป็นระดับ world class อย่างไม่ต้องสงสัย

Ray Dalio จึงเป็น “ศิลปิน” ที่ผมชื่นชม แต่เพลง Principles มันดังเกินตัวไปหน่อย ผลงานของเรย์ที่ผมรู้สึกว่าเจ๋งกว่า Principles มากคือวีดีโอบน Youtube ที่ชื่อว่า How The Economic Machine Works ที่แสดงให้เห็นกลไกของทุนนิยมและวัฎจักรใหญ่ที่ต้องมองข้ามช็อตเป็นเวลาหลายสิบปี วีดีโอนี้มีเนื้อหาสดใหม่ เข้าใจง่าย กระชับ มี insights ดูเพลิน เป็น 30 นาทีที่ได้อะไรกลับไปคิดต่อเยอะมาก ใครไม่ถนัดภาษาอังกฤษมีเวอร์ชั่นซับไตเติ้ลภาษาไทยของคุณวรพล เติมศรีทองทำไว้ให้ด้วย

เกร็ดอีกอย่างที่ผมเพิ่งสังเกตเห็น ก็คือบน book jacket มีคำนิยมหนังสือเล่มนี้จาก Bill Gates

“Ray Dalio has provided me with invaluable guidance and insights that are now available to you in Principles”
-Bill Gates

หลายคนคงรู้ว่า Bill Gates จะออกมาแนะนำหนังสือทุกปีผ่านบล็อกของเขาที่ชื่อว่า GatesNotes แต่ถ้าคุณลองเข้าไปในบล็อกแล้วเสิร์ชคำว่า “5 books” จะมีรายชื่อหนังสือที่บิลเกตส์แนะนำขึ้นมามากมาย แต่กลับไม่มีหนังสือ Principles ปรากฎอยู่เลย

ไม่ได้บอกว่าคำนิยมของบิลเกตส์เป็นของปลอม แต่ถ้าอ่านคำนิยมดีๆ อาจจะพอเดาได้ว่าบิลเกตส์เขียนคำนิยมให้เรย์ ดาลิโอ ไม่ได้เขียนคำนิยมให้หนังสือ Principles


บทสรุป

Principles ของ Ray Dalio เป็นหนังสือที่ผมอ่านไม่จบ เพราะ Return on Investment ต่ำ insights ที่ได้มาไม่ได้ทำให้มุมมอง พฤติกรรม หรือการทำงานของผมเปลี่ยนไป ผมจึงได้ข้อสรุปว่าหนังสือดังเพราะตัวตนของคนเขียนมากกว่าเพราะเนื้อหา

และเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงนิทานคลาสสิคเรื่อง “พระราชากับชุดล่องหน” ที่มีแต่คนชื่นชมว่าฉลองพระองค์งดงามยิ่งนัก

จนกระทั่งมีเด็กปากเสียคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า “พระองค์ทรงโป๊อยู่ไม่ใช่เหรอฮะ”