วิธีเอาชนะอาการผัดวันประกันพรุ่ง

20160110_Procastination

ในชีวิตการทำงาน เชื่อว่าเราทุกคนต้องเคยผัดวันประกันพรุ่งมาไม่มากก็น้อย

งานที่เราหลีกเลี่ยงไม่ยอมทำ มักจะมีลักษณะดังต่อไปนี้ (อาจมากกว่าหนึ่งข้อ)

  • น่าเบื่อ
  • ด้อยคุณค่า
  • ถึก
  • ยาก
  • ใช้เวลานาน
  • ยังไม่ต้องรีบส่ง
  • ไม่ต้องส่งก็ได้ (ไม่มีใครสั่ง แต่คิดว่าถ้าทำออกมาน่าจะมีประโยชน์)

ถ้าจัดกลุ่มจริงๆ ก็อาจจะมีงานแค่สองประเภท คืองานที่ไม่ค่อยมีประโยขน์ กับงานที่มีประโยชน์แต่ยาก

สำหรับงานที่เราเห็นว่าไม่มีประโยชน์ วิธีที่ดีที่สุดคือปรึกษาหัวหน้าว่าจำเป็นต้องทำมันจริงหรือเปล่า หรือต้องส่งบ่อยขนาดนี้จริงหรือ

ซึ่งทางออกก็จะมีสองทางคือ เออ มันไม่จำเป็นต้องทำก็ได้นะ เราก็สบายไป แต่ถ้าหัวหน้าอธิบายได้ว่ามันสำคัญต่อทีมหรือต่อองค์กรอย่างไร เราก็เริ่มมองเห็นประโยชน์ของมันและมีแรงกระตุ้นให้อยากทำมากขึ้น

ส่วนประเภทที่สอง คืองานที่เรารู้ว่ามีประโยชน์ แต่ยากชะมัด แถมเรายังมีงานอื่นๆ ที่ด่วนกว่า (แต่คุณค่าน้อย) เราก็เลยใช้เวลาไปกับงานที่เร่งด่วนแต่ไม่ได้สำคัญเท่าไหร่นักแทน

แต่ผมเชื่อว่า คนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน จะต้องสามารถทำงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนได้ดีครับ

ตัวอย่างของงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน ก็เช่นการสร้างเครื่องมือ (tool) ใหม่ๆ เพื่อให้ทีมทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทบทวนและปรับปรุงกระบวนการ (process) เพื่อให้ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลาน้อยลง หรือการพัฒนาลูกทีมให้เก่งกาจและทำงานแทนเราได้

ซึ่งงานเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีเดดไลน์ และมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการผัดวันประกันพรุ่งมากที่สุด

คราวนี้ ถ้าเรารู้แล้วว่างานชิ้นนี้สำคัญ และถ้ามัวแต่รอให้ “มีเวลาว่าง” จริงๆ ก็คงไม่ได้เริ่มซะที แล้วเราจะทำยังไงดี?

ผมขอเสนอวิธีที่ผมคิดว่าใช้ได้ผลนะครับ

วิธีของผมมีองค์ประกอบสามส่วน

1. ทำเป็นอย่างแรก นั่นคือเราต้องทำงานชิ้นนี้เป็นงานแรกของวัน ทำก่อนที่จะเช็คอีเมล์หรือเล่นเฟซบุ๊ค

2. ทำสั้นๆ พอ บอกตัวเองว่า ขอทำงานชิ้นนี้แค่ 5 นาทีเท่านั้น ด้วยเวลาที่สั้นขนาดนี้ ไม่ว่างานนั้นจะยากลำบากแค่ไหน เราจะมีกำลังใจที่จะเริ่มต้นได้ และส่วนใหญ่พอได้เริ่มต้นแล้ว มันจะมีแรงส่ง (momentum) ที่จะทำให้เราทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ เอง

3. ทำเสร็จแล้วมีรางวัล เสร็จในที่นี้อาจจะหมายถึง ทำงานได้ 5 นาทีตามที่บอกตัวเองไว้ตอนแรกก็ได้ หรือจะเสร็จส่วนแรกของงานชิ้นนี้ก็ได้ หรือถ้าโชคดีอาจจะเสร็จงานทั้งชิ้นเลยก็ได้ ส่วนรางวัลที่เราจะให้กับตัวเองก็อาจจะเป็นอะไรก็ได้ที่เราชอบทำ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเฟซบุ๊ค หรือเดินไปชง/ซื้อเครื่องดื่มที่เราโปรดปราน

การที่เราเลือกทำเป็นชิ้นแรก ก็เพื่อที่จะได้แตะงานชิ้นนี้ก่อนที่ความวุ่นวายของชีวิตคนทำงานออฟฟิศจะถาโถม

เราทำสั้นๆ เพื่อที่จะได้เริ่มต้นซะที

และเราให้รางวัลกับตัวเอง เพื่อที่จะทำให้สมองของเรารู้สึกดีกับกระบวนการนี้ และมีแรงกระตุ้นให้เราอยากจะทำแบบเดิมอีกในวันพรุ่งนี้ครับ

ลองเอาไปใช้ดูนะครับ

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ชอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Leave a comment