ชนชั้นของภาษา

20151112_LanguageHierarchy

เมื่อวันก่อนมีนักเรียนจากอเมริกาเข้ามาขอสัมภาษณ์ผมเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับงานวิจัยปริญญาโทของเขา

พอคุยกันเรื่องงานสื่อสารของผมเสร็จแล้ว เขาก็ถามด้วยความสงสัยเฉยๆ ว่า ป้ายโฆษณาใหญ่ๆ ในกรุงเทพนี่ตั้งใจเอาไว้ให้ใครอ่าน? (Who’s the target group?)

ที่เขาถามอย่างนี้ เพราะเขาสังเกตเห็นว่า ป้ายโฆษณาเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เขาเห็นตั้งแต่ออกจากสุวรรณภูมิแล้ว จึงนึกว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยว แต่พอเข้ามาในเมือง เขาก็เห็นอีกว่าป้ายก็ยังเป็นภาษาอังกฤษเยอะอยู่ดี สมมติฐานถัดมาก็คือ ป้ายโฆษณาเหล่านี้เอาไว้ให้ฝรั่งที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยอ่านรึเปล่า

ผมก็ออกความเห็นไปว่า เป้าหมายของป้ายโฆษณาเหล่านี้ก็คือคนไทยนี่แหละ แต่ที่ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษก็เพราะว่ามันเกี่ยวกับเรื่องภาพลักษณ์

ผมบอกเขาไปว่าสินค้าในเมืองไทย น้อยมากที่จะใช้ชื่อภาษาไทยเพราะมันจะทำให้ดูเป็นของราคาถูกหรือเชยไปเลย

สินค้า บริการ และชื่อร้านที่อยู๋ในเมืองส่วนใหญ่ถึงมีแต่ชื่อภาษาอังกฤษ (หรือถึงจะเป็นชื่อไทยก็ใช้อักษรภาษาอังกฤษ)

ทั้งนี้เพราะภาษาอังกฤษถูกยึดโยง (associate) กับของที่มีราคาสูงกว่าและคุณภาพสูงกว่า ซึ่งย่อมหมายถึงสามารถตั้งราคาได้แพงกว่าและทำกำไรได้มากกว่านั่นเอง

ผมเดินไปหยิบหลอดยาสีฟันเดนทิสเต้มาให้เขาดู เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าบนหลอดไม่มีภาษาไทยเลย ทั้งๆ ที่เป็นของคนไทย

เล่าไปก็แอบรู้สึกอายไปด้วยเล็กน้อย ที่เรามีภาษาของเราเองแท้ๆ แต่กลับให้ “คุณค่า” และ “มูลค่า” กับภาษาต่างชาติมากกว่า

—–

ผมบอกเขาอีกว่า สำหรับเมืองไทย ถ้าไม่ตั้งชื่อยี่ห้อเป็นภาษาอังกฤษ ก็ยังมีอีกทางหนึ่งคือตั้งชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น เพราะนี่ก็เป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์โดยที่แทบไม่ต้องลงทุนใดๆ เช่นกัน

ในเซเว่นเรามีไข่ต้ม ซึ่งราคาน่าจะเท่ากับไข่ลวก แต่ไข่ออนเซ็นจะกระโดดไปอีกราคาหนึ่งเลย

ที่ออฟฟิศผม ชั้น 9 จะมีโรงอาหาร ซึ่งก็มีร้านหนึ่งที่ตั้งชื่อเมนูเป็นภาษาญี่ปุ่นหมด ทั้งๆ ที่รสชาติอาหารก็ไม่ได้รู้สึกว่าญี่ปุ่นอะไร แต่ตั้งราคาจานละ 60-80 บาทกันเลยทีเดียว

——

ตอนผมเรียนปริญญาโทที่นิด้า มีวิชาหนึ่งที่เรียกว่า Sociolinguistics

Socio -> society -> สังคม
Linguistics -> language -> ภาษา

วิชานี้จึงว่าด้วยความเชื่อมโยงของภาษาและสภาพสังคม

ภาษาของเราจะปรับเปลี่ยนไปตามคนที่เราสังคมด้วย เช่นเวลาคุยกับพ่อแม่เราพูดแบบหนึ่ง เวลาคุยกับเพื่อนเราพูดอีกแบบหนึ่ง และเวลาคุยกับหัวหน้าเราก็พูดอีกแบบหนึ่ง

นอกจากนั้น ภาษายังบ่งชี้ถึงชนชั้นในสังคมอีกต่างหาก โดย “ภาพลักษณ์” ของภาษาหรือสำเนียงท้องถิ่นน่าจะไล่เรียงได้ตามนี้ (ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ คนอื่นอาจจะไม่ได้เรียงแบบนี้)

ภาษากลาง > ภาษาเหนือ > ภาษาใต้ > ภาษาอีสาน

ลองคิดภาพว่าคุณเป็นผู้จัดการบริษัทซอฟท์แวร์ชั้นนำของโลก ต้องสัมภาษณ์เด็กสองคนที่เก่งพอๆ กัน คนหนึ่งตอบเป็นสำเนียงคนกรุงเทพ อีกคนหนึ่งตอบเป็นสำเนียงคนอีสาน คุณมีแนวโน้มที่จะเลือกคนไหน?

ในความเป็นจริง คงไม่มีคนอีสานคนไหนมาสัมภาษณ์งานประเภทนี้แล้วพูดภาษาอีสานหรอกครับ ด้วยรู้ตัวดีว่าจะทำให้เขา “ดูไม่ดี” เลยต้องตอบเป็นสำเนียงภาคกลางอยู่แล้ว

และด้วยความที่สำเนียงของคนกรุงเทพมีมูลค่าสูงที่สุดนั่นเอง (เมื่อเทียบกับภาษาไทยด้วยกัน) คนต่างจังหวัดจึงต้องหัดพูดภาษากลาง แต่คนกรุงเทพไม่เคยต้องหัดพูดภาษาของภาคอื่นเลย

—–

ที่เขียนมายืดยาวนี่ไม่ใช่ต้องการหยามเหยียดภาษาของภาคไหนเลยนะครับ เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นบางมุมที่พวกเราอาจมองข้ามไป เพราะเรา “ลำเอียง” กับภาษาบางภาษาหรือสำเนียงบางสำเนียงซะจนชิน

เผื่อว่าในอนาคต เจอใครที่พูดสำเนียงไม่เหมือนเรา เราจะได้รู้ทันความลำเอียงของตัวเอง

และเผื่อว่าเจอใครที่พูดภาษาอังกฤษเก่งมากๆ ก็จะได้ไม่เผลอคิดไปว่าเขาเก่งกว่าเราเสียทุกเรื่องครับ

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

Leave a comment