สงครามนิวเคลียร์จะจบลงใน 72 นาที

เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้ฟังพ็อดแคสต์ The Diary Of A CEO ที่ Steven Bartlett สัมภาษณ์ Annie Jacobsen นักข่าวสืบสวนสอบสวน (investigative journalist) ที่เขียนหนังสือมาหลายเล่มเกี่ยวกับองค์กรสำคัญในอเมริกาอย่าง CIA และ The Pentagon

หนังสือเล่มล่าสุดของ Jacobsen มีชื่อว่า Nuclear War: A Scenario ตีพิมพ์เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2024

Jacobsen ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐอเมริกามากมาย ทั้งผู้ออกแบบระเบิดนิวเคลียร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Secretaries of Defense) อดีตผู้คุมเรือดำน้ำระเบิดนิวเคลียร์ (Nuclear Submarine Commander) และอดีตหน่วยอารักขาบุคคลสำคัญ (The Secret Service)

หนังสือเล่มนี้ได้เรตติ้ง 4.5 ดาวบน Goodreads (จากประมาณ 6,500 ratings 1,300 reviews) โดยคุณ Jordan (Jordy’s Book Club) ที่เขียนรีวิวหนังสือมาแล้ว 403 เล่ม บอกว่า Nuclear War: A Scenario คือหนังสือที่น่ากลัวที่สุดที่เขาเคยได้อ่านมาทั้งชีวิต

ผมเพิ่งได้หนังสือมาสองวัน อ่านไปแล้วประมาณ 1 ใน 4 ส่วนบทความนี้ซึ่งเขียนขึ้นจากเนื้อหาในพ็อดแคสต์ ก็เขียนทิ้งเอาไว้ประมาณสัปดาห์กว่าๆ แล้ว เพราะไม่แน่ใจว่าจะเอามาเผยแพร่ดีหรือไม่

แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจว่าเอามาเล่าสู่กันฟังดีกว่า เพราะแม้ว่ามันจะทำให้หลายคนกลัวหรือวิตกกังวล แต่การที่เราเผชิญหน้ากับความจริง (แม้จะเพียงส่วนหนึ่ง) อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับอีกหลายคนก็ได้

ผมเขียนบทความนี้ขึ้น ด้วยหวังใจว่ามันจะส่งแรงกระเพื่อมไปถึงใครที่จะช่วยให้สถานการณ์ในหนังสือไม่เกิดขึ้นจริง

โดยผมจะสรุปเป็น bullet points หากมีประเด็นไหนที่ผมเสริมขึ้นมาเอง จะใส่เอาไว้ใน [วงเล็บแบบนี้] นะครับ

  • Jacobsen เคยสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยงานสำคัญของอเมริกามากมาย และหลายคนก็บอกเธอด้วยความภูมิใจว่าพวกเขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อป้องกันสงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งจะเป็นสงครามนิวเคลียร์
  • แต่ ณ วันนี้ ความตึงเครียดของภูมิรัฐศาสตร์โลกนั้นขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์จึงพุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน จาคอบเซ่นจึงตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มใหม่ขึ้นมา
  • ในหนังสือ Nuclear War: A Scenario ผู้เขียนสมมติสถานการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง โดยแบ่งเป็นสามองก์ องก์ละ 24 นาที เพราะสงครามนิวเคลียร์จะจบลงภายใน 72 นาทีเท่านั้น
  • ตอนที่หนังสือของเธอวางตลาดในเดือนมีนาคม 2024 เป็นจังหวะเดียวกับที่ประธานาธิบดีปูตินเคลื่อนย้ายขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปไว้ในประเทศเบลารุส และเริ่มให้สัมภาษณ์ว่ารัสเซียอาจมีสิทธิ์ได้ใช้อาวุธนิวเคลียร์
  • ใครที่อายุไม่ถึง 50 ปี อาจไม่เคยรู้เลยว่าโลกของเราเคยตกอยู่ในความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์มาก่อน แถมโอกาสการเกิดสงครามนิวเคลีย์ก็ยังเป็นไปได้เสมอ แม้ว่าสงครามเย็นระหว่างอเมริกากับสหภาพโซเวียตจะจบไปแล้วก็ตาม
  • เคยเกิดเหตุการณ์ฉิวเฉียดที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นหลายครั้ง ยกตัวอย่างเช่นในปี 1979 ที่ศูนย์บัญชาการพบว่าโซเวียตยิงขีปนาวุธใส่อเมริกา เจ้าหน้าที่เตรียมจะแจ้งประธานาธิบดี Jimmy Carter อยู่แล้ว แต่หยุดไว้ทันเพราะพบว่าเป็นความเข้าใจผิด เหตุเกิดจากมีคนใส่ม้วนวีดีโอ VHS ลงไปในเครื่อง ซึ่งวีดีโอนั้นเป็น simulated war game หรือภาพจำลองสงครามว่าโซเวียตกำลังโจมตีสหรัฐด้วยระเบิดนิวเคลียร์อยู่ ซึ่งภาพนั้นก็เหมือนจริงจนเจ้าหน้าที่ในศูนย์บัญชาการเชื่อและเกือบจะกลายเป็นเรื่องใหญ่
  • เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 นาย António Guterres เลขาธิการ UN ได้กล่าวว่า “Humanity is just one misunderstanding, one miscalculation away from nuclear annihilation.” หากเกิดการเข้าใจผิดเพียงครั้งเดียว หรือคำนวณพลาดเพียงครั้งเดียว มนุษยชาติก็อาจดับสูญ
  • ที่โลกรอดพ้นจากสงครามนิวเคลียร์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็เพราะผู้นำของอเมริกาและสหภาพโซเวียตใช้คอนเซ็ปต์ที่ชื่อว่า Mutual Assured Destruction – MAD (ซึ่งแปลว่าความบ้าคลั่ง)
  • นั่นก็คือสมมติฐานที่ว่า ถ้าทั้งอเมริกาและรัสเซีย (หรืออดีตสหภาพโซเวียต) มีระเบิดนิวเคลียร์นับพันลูกที่พร้อมจะยิงเข้าใส่กัน หากใครยิงก่อน อีกฝ่ายย่อมจะยิงตอบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะมากมายเกินรับไหว อารยธรรมมนุษย์จะล่มสลาย ดังนั้นย่อมไม่มีผู้นำคนไหนบ้าพอที่จะเปิดฉากยิงอาวุธนิวเคลียร์หรอก
  • เมื่อก่อนมีแค่ 2 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ นั่นคืออเมริกากับรัสเซีย แต่ตอนนี้มีถึง 9 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ โดย 7 ประเทศที่เพิ่มขึ้นมาได้แก่ จีน อินเดีย ปากีสถาน อังกฤษ ฝรั่งเศส เกาหลีเหนือ และอิสราเอล แถมอิหร่านก็พยายามจะมีระเบิดนิวเคลียร์เป็นประเทศที่ 10 อีกด้วย
  • ประเทศเหล่านี้มีข้อขัดแย้งกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็น อเมริกากับรัสเซีย จีนกับอเมริกา อินเดียกับปากีสถาน อเมริกากับเกาหลีเหนือ อิสราเอลกับอิหร่าน ส่วนอังกฤษกับฝรั่งเศสก็อยู่ใน NATO ซึ่งอาจถูกดึงไปพัวพันในสงครามยูเครน
  • หลายคนอาจไม่รู้ว่าในอเมริกานั้น การตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาคองเกรส แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว นั่นคือประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
  • เหตุผลที่กฎหมายอนุญาตให้ประธานาธิบดีมีอำนาจตัดสินใจมากขนาดนี้ เพราะว่ามันเป็นสถานการณ์นาฬิกานับถอยหลัง – the ticking clock scenario
  • ระเบิดนิวเคลียร์ที่ถูกใช้ในฮิโรชิมานั้นมีขนาดเท่ากับลูกช้างหนึ่งตัว หนักประมาณ 15 ตัน ต้องถูกขนส่งด้วยเครื่องบิน โดยมีแรงระเบิด 15 kilotons และคร่าชีวิตคนได้หลายหมื่นคน
  • แต่ระเบิดนิวเคลียร์ยุคใหม่นั้นเป็น thermonuclear bomb (อีกชื่อคือ hydrogen bomb) โดยเป็น “ระเบิดที่อยู่ในระเบิด” ที่มีพลังทำลายล้างสูงแต่ขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก จึงไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินในการปล่อยระเบิดอีกต่อไป แต่ใช้มิสไซล์หรือขีปนาวุธยิงได้เลย แถมพลังทำลายล้างยังมากกว่าระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าเป็นพันเท่า จึงคร่าชีวิตคนได้นับล้าน
  • ขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่เรียกว่า Intercontinental ballistic missile หรือ ICBM นั้นสามารถเดินทางได้เร็วถึง 22,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง [ประมาณ 25 เท่าของความเร็วเครื่องบินที่เรานั่งไปต่างประเทศ] การยิงขีปนาวุธข้ามจากทวีปหนึ่งไปสู่อีกทวีปหนึ่งจึงใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น
  • ถ้าอเมริกาตรวจจับได้ว่ามีขีปนาวุธนิวเคลียร์กำลังถูกยิงมาที่อเมริกา ประธานาธิบดีในฐานะ “จอมทัพ” หรือ Commander-in-chief จึงมีเวลาตัดสินใจเพียง 6 นาทีเท่านั้นว่าจะตอบโต้อย่างไร
  • จะมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ถือกระเป๋าหนังสีดำเดินติดตามประธานาธิบดีอยู่ตลอด ในกระเป๋าใบนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า the nuclear Football [ถ้าลองกูเกิลคำนี้ก็จะเห็นว่ากระเป๋าที่ใส่นิวเคลียร์ฟุตบอลมีความคล้ายกระเป๋านักเรียนที่เราเคยใช้ตอนเด็กๆ แต่เราจะไม่เห็นภาพของสิ่งที่อยู่ในกระเป๋า ผมก็เลยไม่แน่ใจเหมือนกันว่านิวเคลียร์ฟุตบอลหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เดาว่าน่าจะคล้ายกับลูกอเมริกันฟุตบอลมากกว่าลูกฟุตบอลกลมๆ ที่เราคุ้นเคย]
  • ใน nuclear Football จะมีระบบให้ประธานาธิบดียืนยันตัวตน และมีสิ่งที่เรียกว่า the Black Book
  • ที่มันชื่อว่า “สมุดดำ” ก็เพราะว่ามันคร่าชีวิตคนได้มากมาย โดยในสมุดดำเล่มนี้มี “เมนู” ที่คัดสรรมาให้ประธานาธิบดีเลือกว่าจะยิงระเบิดนิวเคลียร์แบบไหน ยิงเมืองใด ยิงมากเท่าไหร่
  • เมื่อประธานาธิบดีตัดสินใจแล้วจึงใส่ passcode และคำสั่งก็จะถูกส่งไปที่ National Military Command Center ซึ่งเป็นบังเกอร์ใต้ The Pentagon ที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐ เพื่อทำการปล่อย ICBM ตามคำสั่งของประธานาธิบดี
  • เมื่อประธานาธิบดีสั่งการเรียบร้อย หากทางการยืนยันว่าขีปนาวุธจากศัตรูจะยิงมาในพื้นที่ที่ประธานาธิบดีอาศัยอยู่ หน่วยอารักขาจะพาประธานาธิบดีขึ้น Marine One ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ประจำตำแหน่ง เพื่อหนีไปให้ไกลที่สุดจาก Ground Zero หรือจุดที่ระเบิดนิวเคลียร์จะตกลงมา
  • แต่แม้ว่า Marine One จะอยู่ห่างจากจุดระเบิดเป็นสิบกิโลเมตรแล้วก็ยังไม่ปลอดภัย เพราะเมื่อเกิดการระเบิด จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Electromagnetic Pulse หรือ EMP ซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ทุกอย่างในเฮลิคอปเตอร์ไม่ทำงานและเฮลิคอปเตอร์ตกได้ หน่วยอารักขาจึงต้องพร้อมพาประธานาธิบดีกระโดดร่มชูชีพออกมาก่อนที่เครื่องเฮลิคอปเตอร์จะดิ่งพสุธา
  • ในกรณีที่ประธานาธิบดีเสียชีวิต พาสเวิร์ดพิเศษที่เป็น universal unlock code จะถูกส่งไปให้ผู้บัญชาการของ The US Strategic Command (USSTRATCOM) เป็นผู้มีอำนาจในการสั่งยิงระเบิดนิวเคลียร์ต่อไป
  • อเมริกามีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ซิบเบอร์ส” (Space Based Infrared System – SBIRS) ที่ใช้ดาวเทียมตรวจจับความร้อนของไอพ่นของขีปนาวุธ ICBM และคำนวณได้เลยว่าถูกยิงมาจากที่ไหน กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใด โดยสามารถตรวจทราบภายในไม่กี่วินาทีที่ขีปนาวุธถูกปล่อยตัว
  • ความยากก็คือ ICBM อาจจะไม่ได้ถูกปล่อยตัวมาจากแผ่นดินของประเทศคู่อริก็ได้ เพราะหลายชาติมี nuclear submarine หรือเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีเรือดำน้ำเหล่านี้ก็ลึกล้ำมากจนไม่สามารถตรวจจับได้เลยว่าเรือแล่นอยู่ที่ไหนในมหาสมุทรอันเวิ้งว้าง
  • มีผู้เชี่ยวชาญเคยบอกไว้ว่า ให้ตรวจจับวัตถุขนาดเท่าลูกองุ่นในอวกาศยังง่ายเสียกว่าการตรวจจับเรือดำน้ำใต้ท้องทะเล และเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของรัสเซียก็เคยแล่นมาใกล้ชายฝั่งของอเมริการในระยะไม่กี่ร้อยกิโลเมตรแล้วด้วยซ้ำ
  • ดังนั้น ถ้ามี ICBM ถูกยิงมาจากมหาสมุทรแปซิฟิก มุ่งหน้ามาทางอเมริกา อเมริกาไม่มีทางจะรู้ได้เลยว่าใครเป็นคนยิงมา อาจจะเป็นเกาหลีเหนือก็ได้ เป็นรัสเซียก็ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นอังกฤษก็ได้ ดังนั้นการตัดสินใจจะโต้ตอบของประธานาธิบดีภายในเวลา 6 นาทีจึงยากเย็นขึ้นไปอีก
  • ในหนังสือ ผู้เขียนจำลองสถานการณ์ให้ผู้ที่ยิงขีปนาวุธใส่อเมริกาคือเกาหลีเหนือ เหตุผลที่ผู้เขียนเลือกเกาหลีเหนือ เพราะเกาหลีเหนือเป็นประเทศที่ผู้เขียนมองว่าเป็น rogue nuclear nation คือชอบทำตัวเกเร แอบทดสอบขีปนาวุธโดยไม่แจ้งใครล่วงหน้า
  • โดยมารยาท ถ้าชาติไหนจะทดสอบขีปนาวุธ ชาตินั้นจะบอกประเทศเพื่อนบ้านก่อนเสมอ แต่เกาหลีเหนือนั้นทดสอบโดยไม่บอกใคร นับแค่เฉพาะปี 2022-2023 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ (โดยที่ไม่ได้ใช้ระเบิดจริง) เกิน 100 ครั้งเข้าไปแล้ว
  • ตามสถานการณ์สมมติในหนังสือ เมื่ออเมริกาตรวจจับได้ว่าเกาหลีเหนือยิงเข้ามา อเมริกาก็ยิงตอบโต้ แต่วิถีของขีปนาวุธของอเมริกานั้นไม่อาจวิ่งอ้อมไกลได้มากนัก เพราะเชื้อเพลิงมีจำกัด ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะบินผ่านน่านฟ้าของรัสเซีย และในสถานการณ์โลกที่ตึงเครียดเช่นนี้ รัสเซียอาจเข้าใจว่าอเมริกายิงขีปนาวุธใส่ตัวเอง รัสเซียจึงต้องยิงขีปนาวุธตอบโต้อเมริกาเช่นกัน
  • และเวลามีใครยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่เราหนึ่งลูก เราจะไม่ยิงกลับแค่ลูกเดียว แต่จะยิงกลับแบบ “จัดเต็ม” เพื่อให้อีกฝ่ายเสียหายมากที่สุด ไม่ให้ทำร้ายเราได้อีกต่อไป
  • เมื่อขีปนาวุธ ICBM ถูกปล่อยออกไปแล้ว จะไม่สามารถหยุดหรือเรียกกลับฐานได้
  • หลายคนเชื่อว่าอเมริกามีความสามารถพอที่จะยิงขีปนาวุธให้ระเบิดกลางอากาศได้ ซึ่งอเมริกาก็ได้สร้าง interceptor missile เพื่อการนี้จริงๆ แต่ระบบนี้อาจจะหวังพึ่งได้ไม่มากนัก
  • อเมริกามี interceptor missile ที่เอาไว้หยุดการโจมตีทั้งหมด 44 ลูก ในขณะที่อเมริกามีขีปนาวุธนิวเคลียร์ ICBM ที่พร้อมยิงประเทศอื่นถึง 1770 ลูก รัสเซียมี 1674 ลูก จีนมีมากกว่า 500 ลูก อินเดียกับปากีสถานมีประเทศละ 165 ลูก เกาหลีเหนือมี 50 ลูก ดังนั้น “กองกำลังป้องกัน” จึงน้อยกว่า “กองกำลังโจมตี” อยู่นับสิบหลายร้อยเท่า
  • ICBM เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 22,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วน interceptor missile นั้นเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 32,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การยิง interceptor missile ใส่ ICBM จึงไม่ต่างอะไรกับการยิงลูกกระสุนด้วยลูกกระสุน
  • ในการทดสอบ interceptor missile ช่วงปี 2010-2013 ไม่มีครั้งไหนที่ interceptor missile ป้องกันได้สำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว และในอีก 5 ปีถัดมา จากการทดสอบ 20 ครั้ง interceptor missile ทำสำเร็จเพียง 11 ครั้ง คิดเป็น 55% เท่านั้น
  • FEMA อ่านว่าฟีม่า ย่อมาจาก Federal Emergency Management Agency มีหน้าที่บริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย FEMA จะมีแผนการที่เรียกว่า Population Protection Planning ไว้สำหรับดูแลประชาชนในสถานการณ์คับขันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งอุกกาบาตชนโลก
  • มีเพียงสถานการณ์เดียวเท่านั้นที่ FEMA ไม่มีแผนคุ้มครองประชาชน นั่นก็คือในสงครามนิวเคลียร์ เพราะ FEMA ไม่อาจทำอะไรได้เลย
  • ระเบิดนิวเคลียร์แต่ละลูกจะทำให้เกิดแสงสว่างวาบและอุณหภูมิ 100,000,000 (หนึ่งร้อยล้าน) องศาเซลเซียส [เพื่อให้เห็นภาพ ดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิพื้นผิว 5,600 องศา และอุณหภูมิแกนกลาง 15 ล้านองศา]
  • ผู้คนและสิ่งทีมีชีวิตทุกอย่างรอบบริเวณนั้นจะกลายเป็นเถ้าถ่านในพริบตาเดียว ทุกอย่างในรัศมี 15 กิโลเมตรจะลุกเป็นไฟ สิ่งก่อสร้างทุกอย่างจะถล่มลงมา ไฟจะลุกลามไปเรื่อยๆ และกลายเป็น mega-fire ที่กินพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร สารกัมมันตรังสีแผ่กระจายไปทั่วและคร่าชีวิตผู้คนนับไม่ถ้วน
  • ในนาทีที่ 72 ของสงครามครั้งนี้ ระเบิดนิวเคลียร์ของรัสเซียนับพันลูกจะถูกยิงใส่อเมริกา เมืองนับร้อยนับพันเมืองจะจมอยู่ในทะเลเพลิง มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยล้านคนในทันที
  • Nikita Khrushchev (นิกิต้า ครุซชอฟ) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต เคยกล่าวไว้ว่า “After the nuclear war, the survivors will envy the dead.” เมื่อสงครามนิวเคลียร์เสร็จสิ้น คนเป็นจะอิจฉาคนตาย
  • เพราะสารกัมมันตภาพรังสีจะทำให้เราต้องลงไปเก็บตัวอยู่ใต้ดิน แต่เมื่อถึงวันที่เสบียงหมดและไม่มีน้ำมันดีเซลหรือพลังงานทดแทนหลงเหลือ พวกเขาก็ต้องขึ้นมาบนดินอีกครั้ง อยู่ในโลกอันป่าเถื่อนเพราะไม่มีรัฐบาล ไม่มีผู้รักษากฎหมาย ต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรอันน้อยนิด มนุษย์จะกลับไปสู่สัญชาตญาณดิบแต่ก่อนเก่า ในสภาวะที่แต่ละคนเพิ่งสูญเสียทุกอย่างที่เคยมีและทุกคนที่เคยรักไปแล้ว
  • โลกจะเข้าสู่ Nuclear Winter เพราะฝุ่นละอองที่เกิดจากแรงระเบิดเหล่านี้จะปกคลุมชั้นบรรยากาศจนแสงอาทิตย์ไม่อาจส่องมาถึงโลก ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ เมื่อปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ ก็ย่อมนำไปสู่ famine หรือ ทุพภิกขภัย ซึ่งจะทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 5 พันล้านคน
  • สองประเทศที่มีโอกาสรอดจากหายนะมากที่สุด คือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพราะเป็นพื้นที่อยู่ห่างไกลความขัดแย้ง และยังทำเกษตรกรรมที่พอจะเลี้ยงคนทั้งประเทศได้
  • เมื่อ 66 ล้านปีที่แล้ว มีอุกกาบาตชนโลก ทำให้ไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตบนโลกประมาณ 70% ของสายพันธุ์ชีวิตทั้งหมดสูญพันธุ์
  • อุกกาบาตชนโลกถือเป็นโชคร้ายที่ไม่มีใครทำอะไรได้ แต่สงครามนิวเคลียร์ถือเป็นโชคร้ายที่มนุษย์สร้างขึ้นเองกับมือ
  • ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนเคยเป็น “สายเหยี่ยว” เชื่อเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์เอาไว้มากๆ เพื่อข่มขู่โซเวียตไม่ให้ทำอะไร ด้วยหลักการ MAD – Mutual Assured Destruction
  • แต่ในปี 1983 ช่อง ABC ได้สร้างหนังชื่อ The Day After ที่ประชาชนในอเมริการวมถึงเรแกนได้รับชมถึง 100 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรในปีนั้น
  • The Day After เล่าถึงสงครามนิวเคลียร์ระหว่างอเมริกากับโซเวียตว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อเรแกนได้ดูหนังจบ เรแกนบอกว่าเขา depressed อยู่หลายวัน ก่อนที่จะติดต่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียต และจัดประชุม Reykjavík Summit ในไอซ์แลนด์ เพื่อพูดคุยเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์
  • ผู้นำทั้งสองชาติออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า “A nuclear war cannot be won and must never be fought.”
  • ในปี 1986 ทั่วโลกมีระเบิดนิวเคลียร์ถึง 70,000 ลูก ปัจจุบันมีประมาณ 12,500 ลูก แม้จะยังมากเกินไปอยู่ดี แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปถูกทาง
  • ถามว่าเราจะมีวันที่ระเบิดนิวเคลียร์จะเป็น 0 หรือไม่ Annie Jacobsen บอกว่าเธอไม่ขอออกความเห็น หน้าที่ของเธอคือการนำเรื่องราวมาเล่าให้สาธารณชนรับรู้ ส่วนการลดจำนวนระเบิดนิวเคลียร์เป็นหน้าที่ของ disarmament expert หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการปลดระเบิดนิวเคลียร์ที่กำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น

เมื่ออ่านบทความนี้จบ บางท่านอาจถามว่า แล้วคนตัวเล็กๆ อย่างเราจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง?

ผมเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่ผมชอบคำที่ Brian Klaas เขียนเอาไว้ในหนังสือ Fluke ว่า “We control nothing, but we influence everything.” เราไม่อาจควบคุมอะไรได้ แต่สิ่งที่เราทำก็มีผลต่อทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้

ด้วยการนำเรื่องราวนี้มาถ่ายทอด ผมเองมีความหวังไม่ต่างจาก Annie Jacobsen ผู้เขียนหนังสือ นั่นคือ เมื่อผู้คนตระหนักถึงความเสี่ยงและผลลัพธ์ของสงครามนิวเคลียร์แล้ว เราจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทำในสิ่งที่เราพอจะทำได้ในวันที่โอกาสและบริบทเปิดทางให้เราทำเช่นนั้นครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก พ็อคแคสต์ The Diary Of A CEO: Nuclear War Expert: 72 Minutes To Wipe Out 60% Of Humans, In The Hands Of 1 Person! – Annie Jacobsen

หนังสือ Nuclear War: A Scenario by Annie Jacobsen