สุขภาพและความสัมพันธ์ คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

นิสัยหนึ่งของมนุษย์ คือการทุ่มแรงและเวลาเพื่อตามหาสิ่งที่เรายังไม่มี

เมื่อเราอาศัยอยู่ในระบอบทุนนิยมและเสพโซเชียลมีเดีย เราจึงมีตัวเปรียบเทียบให้เรารู้สึกว่ายังขาดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ นั่นคือ status หรือสถานะทางสังคม

ไม่ว่าเราจะมีชีวิตที่ดีเพียงใด เราจะถูกเตือนอยู่ตลอดว่ายังมีคนที่ “เหนือ” กว่าเรา รวยกว่าเรา บุคลิกดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา เราก็เลยต้องพยายามให้มากกว่านี้

เมื่อสภาพแวดล้อมผลักดันให้เราต้องมุ่งไปข้างหน้าแบบไม่มีขีดจำกัด แต่ชีวิตคนเรานั้นแสนจะจำกัด (finitude) สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ ก็คือการ “ต้องแลก”

เมื่อเราใช้เวลาไปกับการให้ได้มาซึ่ง status เวลาสำหรับการดูแลสุขภาพและความสัมพันธ์ย่อมลดน้อยลง

ในหนังสือ How Will You Measure Your Life ของ Clayton M. Christensen ที่ผลิตเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ openbooks มีถ้อยความช่วงหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“เป็นเวลาหลายปีที่ผมเฝ้าดูเรื่องราวของเพื่อนร่วมชั้นในวิทยาลัยธุรกิจฮาร์วาร์ดปี 1979 ซึ่งต้องประสบชะตากรรมแตกต่างกันไป

เพื่อนร่วมชั้นจำนวนมากกลับมางานเลี้ยงรุ่นด้วยความหม่นเศร้า ไร้สุข หย่าร้าง ห่างหายจากครอบครัวและบุตรหลาน

ผมยืนยันได้ว่า ไม่มีใครแม้แต่เพียงคนหนึ่งคนใด ที่วางแผนอย่างตั้งใจว่าจะนำชีวิตไปสู่การหย่าร้างและเลี้ยงลูกให้อ้างว้างห่างเหินจากตน แต่จำนวนมากจนน่าตกใจ จำต้องใช้กลยุทธ์เช่นนั้น

เหตุผลสั้นๆ นั้น เป็นเพราะพวกเขาไม่รักษาเป้าหมายแห่งชีวิต ว่าเขาจะใช้เวลา (time) ปัญญา (talent) และ พลังงาน (energy) ไปในทิศทางใด”


ผมเห็นคนรุ่น Gen Z จำนวนไม่น้อย ที่อายุยังไม่ถึงสามสิบ แต่ต้องทำกายภาพราวกับคนอายุ 50

ยังไม่นับอัตราคนรุ่นใหม่ที่เป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นอย่างชัดเจนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

เหตุผลที่ผมพอจะคิดได้ คือเราดูแลตัวเองน้อยเกินไป

เมื่อเราทุ่มเทกับการได้มาซึ่ง status เราอาจเหลือ “ที่ว่าง” ไม่มากพอให้คิดใคร่ครวญว่าอะไรคือสิ่งสำคัญต่อเราอย่างแท้จริง

คำแนะนำของผมก็คือ จงจัดการเรื่องสุขภาพและความสัมพันธ์ให้ดีก่อน แล้วค่อยเอาเวลาไปจัดการเรื่องที่เหลือ

เหมือนกับคำแนะนำทางการเงินที่ว่า เมื่อเราได้เงินเดือนมาแล้ว สิ่งแรกที่เราควรทำคือ “จ่ายให้ตัวเองก่อน” ด้วยการแบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินออมและเงินลงทุน เหลือเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น เพราะถ้าเราเอาเงินมาใช้ก่อน มันมักจะไม่เหลือเงินให้ออมเลย

สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยทำ คือเอางานเป็นตัวตั้ง และค่อยมาซ่อมสุขภาพและความสัมพันธ์เอาทีหลัง ในช่วงแรกอาจจะยังไปได้ดี เพราะร่างกายยังแข็งแรง และคนรอบข้างยังให้โอกาสเราอยู่

แต่ถ้าเราละเลยสุขภาพและความสัมพันธ์นานเกินไป ความจริงของชีวิตจะสำแดงตน และความเจ็บปวดจะรอเราอยู่ที่ปลายทาง

“If you want a recipe for unhappiness, spend your time accumulating a lot of money and let your health and relationships deteriorate.”
-James Clear

สุขภาพและความสัมพันธ์ คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดครับ