เราไม่สามารถละเลยเรื่องอะไรได้นานเกินไป

20200326

ผมเคยได้นั่งคุยกับเจ้าของบริษัทต่อเติมบ้านที่มีลูกชายอายุพอๆ กับลูกสาวของผม เขาเอ่ยปากว่าลูกสาวผมดูพูดจารู้เรื่องกว่าลูกชายของเขาเยอะเลย แล้วเขาก็เปรยว่าเขาไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกเท่าไหร่ เพราะมีลูกค้าติดต่อเข้ามาทุกวันทุกเวลา เลยกลายเป็นว่าลูกติดไอแพดมากและคงจะเป็นอย่างนี้ไปอีกสักพัก

เพื่อนผมคนหนึ่งมีชีวิตที่ดี หน้าที่การงานรุ่ง แถมตัวเองก็ไม่มีภาระอะไร ติดนิดเดียวตรงที่เขาเป็นคนขี้เหนียว เวลามีเหตุการณ์ให้ต้องช่วยเหลืออะไรเขาก็ไม่เคยร่วมทั้งกำลังกายและกำลังเงิน อยู่มาวันหนึ่งเขาล้มป่วยและมีปัญหากับที่ทำงานจนต้องออกจากงานภายในระยะเวลาอันสั้น อารมณ์ไม่ต่างกับเทวดาตกสวรรค์

ผมเคยได้เข้าทำงานในบริษัทเอเจนซี่ เป็นงานที่ไม่เคยทำและต้องคิดเยอะตลอดเวลา ผมเลยฟิตเป็นพิเศษ นอนห้าทุ่มตื่นตีสามมานั่งทำงานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ สุดท้ายผมไม่ผ่านช่วงทดลองงานของที่นั่น เมื่อมองย้อนกลับไป การที่ผมอดนอนติดต่ออกันน่าจะส่งผลกับคุณภาพการทำงานไปไม่น้อย

ละเลยเลี้ยงลูกจนลูกติดไอแพด

ละเลยการให้จนกินบุญเก่าหมดเกลี้ยง

ละเลยการนอนจนทำงานไม่ได้มาตรฐาน

อาจเป็นเพราะว่าลึกๆ แล้วเราเชื่อว่าเราพิเศษกว่าคนอื่น เราสามารถละเลยเรื่องบางอย่างได้โดยไม่เป็นอะไร

คนอื่นสูบบุหรี่แล้วเป็นมะเร็ง แต่เราเชื่อว่าเราสูบบุหรี่แล้วเราจะไม่เป็น

คนอื่นกินเหล้าแล้วขับรถชน แต่เราเชื่อว่าถ้าเรากินแล้วเรายังขับรถไหว

คนอื่นทำงานหามรุ่งหามค่ำแล้วชีวิตพัง แต่เราเชื่อว่าเราจะยังเอาอยู่

ต้องรอให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นก่อน เราถึงจะยอมรับได้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้พิเศษไปกว่าใครเลย

เราล้วนตกอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน หลักการที่ว่าเราไม่สามารถละเลยเรื่องอะไรได้นานเกินไป – you can’t get away with it for too long.

ลองสำรวจตัวเองนะครับว่าเรากำลังละเลยเรื่องอะไร และเรากำลังหลอกตัวเองอยู่รึเปล่า

อย่าเล่นเกมนับถอยหลังกับระเบิดเวลาแล้วคิดว่าจะชนะเลยนะครับ

—–

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

ปุ่มที่ปิดทีวีคือปุ่มที่เปิดทีวี

20200325

สลักที่เอาไว้ลงกลอน คือสลักที่เอาไว้เปิดประตู

สวิทช์ที่ใช้ปิดไฟคือสวิทช์ที่ใช้เปิดไฟ

หลายปัญหา เราคิดไม่ตกเพราะเรามัวแต่สรรหาทางออก

บางทีทางออกอาจอยู่ที่ทางเข้าก็ได้นะครับ

—–

ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ สิ่งเดียวที่จัดการได้คือใจของเรา โดยพระไพศาล วิสาโล

ถือก็หนัก ไม่ถือก็ไม่หนัก

20200324

ตอนอยู่ที่ทำงานเก่า เคยมีพี่คนหนึ่งมาบ่นให้ฟังถึงความไม่พอใจในงานที่จัดขึ้นเมื่อคืนวันก่อน

พี่เขาพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ต่อว่าหลายคนที่ทำงานไม่ได้เรื่องอยู่ราวๆ 3-4 นาที

ผมเองได้แต่ฟังอย่างพยายามเข้าใจในความหงุดหงิดของเขา แต่อารมณ์ไม่เสียไปด้วย

แล้วผมก็คิดขึ้นได้ว่า ถ้าผมเป็นเจ้าของงานแล้วมาโดนพี่เค้าว่าอย่างงี้ ผมคงโกรธหรือไม่ก็คงอายน่าดู

คำพูดเหมือนกันเป๊ะๆ คนพูดคนเดียวกันเป๊ะๆ คนนึงฟังแล้วโกรธ คนนึงกลับฟังแล้วเฉยๆ

ความโกรธจึงไม่ได้เกิดมาจากคำพูดหรือคนพูด แต่เกิดจากคนฟัง

ถ้าคนฟังเป็น “เจ้าของ” สิ่งที่โดนต่อว่า เอาตัวตนเข้าไปรองรับคำว่านั้น คนฟังก็จะโกรธ

แต่ถ้าคนฟังไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้เอาตัวตนเข้าไปรองรับคนฟังก็จะไม่โกรธ

เหมือนหินที่วางอยู่ ถ้าเข้าไปแบกก็หนัก แต่ถ้าไม่แบกมันก็ไม่หนัก

แน่นอนว่าในทางทฤษฎีก็ฟังดูง่ายดาย เวลาเจอสถานการณ์จริงเรามักจะเผลอเข้าไปแบกทุกที

แต่ถ้าท่องคาถานี้ไว้ให้ขึ้นใจ “ถือก็หนัก ไม่ถือก็ไม่หนัก”

เมื่อบางครั้งอารมณ์มันหนักเกินจะรับไหว จะได้เตือนตัวเองว่าเราเลิกถือได้เสมอนะครับ

—–

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

นักบินอวกาศบอกเคล็ดลับการ Work from home

20200322

ใครหลายคนที่เริ่มทำงานจากที่บ้านไปบ้างแล้วอาจจะเจอปัญหาคล้ายๆ กับผม

– เฉา เหงา
– ตารางเวลาจะเละๆ หน่อย
– หมดวันแล้วหมดแรงกว่าไปทำงานที่ออฟฟิศเสียอีก

วันนี้อ่านเจอบทความของ The New York Times ที่เขียนโดย Scott Kelly อดีตนักบินอวกาศของ NASA ที่เคยใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศนานาชาติอยู่เกือบ 1 ปี

ในสถานการณ์ที่ COVID-19 กำลังยกระดับในเมืองไทย ผมเห็นว่าสิ่งที่คุณเคลลี่เขียนมีประโยชน์สำหรับคนที่ต้อง Work from home และทุกคนที่ต้องเก็บตัวอยู่ที่บ้าน เลยขอนำมาถอดความไว้ตรงนี้ครับ

—–

การต้องเก็บตัวอยู่กับบ้านเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ตอนที่ผมต้องขึ้นไปอยู่ที่ International Space Station เป็นเวลาเกือบปีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน เวลาผมเข้านอนผมก็อยู่ที่ทำงาน พอผมตื่นขึ้นมาผมก็ยังอยู่ที่ทำงาน การทำงานอยู่ในอวกาศน่าจะเป็นเพียงอาชีพเดียวที่เราลาออกกลางคันไม่ได้จริงๆ

แต่ผมก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับสถานการณ์ในตอนนี้ที่เราต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

และนี่คือคำแนะนำสำหรับการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจากคนที่เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว

 

มีตารางเวลาที่ชัดเจน (Follow a schedule)
ตอนอยู่ในสถานีอวกาศ ผมมีตารางที่เข้มงวดมากตั้งแต่ตื่นยันเข้านอน บางวันผมต้องเดินท่องอวกาศเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ส่วนงานบางชิ้นก็ใช้เวลาแค่ 5 นาทีเช่นเช็คการเจริญเติบโตของดอกไม้ที่เราทดลองปลูกในอวกาศ

คุณจะพบว่าการมีแผนการจะช่วยให้คุณและครอบครัวปรับตัวกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนไปได้ หลังจากที่ผมเดินทางกลับมายังโลก ผมอดคิดถึงชีวิตที่มีแบบแผนในอวกาศไม่ได้

 

แต่ก็ต้องคุมจังหวะให้ดี (But pace yourself)
ถ้าคุณใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในที่เดียวกันเป็นเวลาหลายเดือน งานมักจะเทคโอเวอร์ทุกอย่างถ้าคุณปล่อยไปตามยถากรรม ตอนที่อยู่ในอวกาศผมตั้งใจใช้ชีวิตแบบผ่อนหนักผ่อนเบาเพราะผมรู้ว่าผมต้องอยู่แบบนี้ไปอีกสักพัก – ซึ่งก็ไม่ต่างกับสถานการณ์ของพวกเราในตอนนี้

อย่าลืมให้เวลากับกิจกรรมสนุกๆ ผมมักจะมีนัดดูหนังกับเพื่อนนักบินอวกาศพร้อมกับขนมนมเนยครบเซ็ท ผมได้ดู Game of Thrones จนจบสองรอบเลยนะจะบอกให้

อย่าลืมเข้านอนให้เป็นเวลาด้วย นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าได้ศึกษาพฤติกรรมการนอนของนักบินอวกาศและพบว่าคุณภาพการนอนส่งผลต่อความเฉลียวฉลาด สภาพอารมณ์และความสัมพันธ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการประกอบภารกิจบนอวกาศหรือการทำงานอยู่ที่บ้าน

 

ออกไปข้างนอกบ้าง (Go outside)
หนึ่งในสิ่งที่ผมคิดถึงมากที่สุดตอนอยู่ในอวกาศคือการได้ออกไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หลังจากต้องเก็บตัวอยู่ในพื้นที่แคบๆ เป็นเวลาหลายเดือน ผมเริ่มทุรนทุรายที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ – สีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า กลิ่นดินกรุ่นๆ และไออุ่นจากแสงอาทิตย์ การทดลองปลูกดอกไม้ในอวกาศกลายเป็นงานที่มีความหมายมากกว่าที่ผมคิด

เพื่อนนักบินของผมมักเปิด “เสียงของโลก” ให้ผมฟังซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงนกร้อง เสียงพุ่มไม้ในสายลมหรือแม้กระทั่งเสียงหึ่งๆ ของยุง เสียงเหล่านี้ทำให้ผมได้รู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน แม้บางครั้งผมจะเผลอตบหูเพราะนึกว่ามียุงมาบินใกล้ๆ ก็เถอะ

สำหรับนักบินอวกาศ การออกไปข้างนอกยานนั้นเป็นเรื่องอันตรายและต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้น ดังนั้นผมจึงรู้สึกดีที่แม้ขณะนี้เราจะตกอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ผมก็ยังเดินออกจากบ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักบินอวกาศ

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาตินั้นเป็นคุณต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจเช่นเดียวกับการออกกำลังกาย คุณไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายวันละสองชั่วโมงครึ่งเหมือนนักบินอวกาศหรอก แต่การได้ได้ออกกำลังกายวันละหนึ่งครั้งควรจะเป็นส่วนหนึ่งในตารางของคุณ ขอแค่อย่าลืมที่จะอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตรก็พอ

 

คุณต้องมีงานอดิเรก (You need a hobby)
เมื่อคุณถูกจำกัดบริเวณคุณจำเป็นต้องมี “พื้นที่ปลดปล่อย” ที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน

หลายคนแปลกใจที่รู้ว่าผมเอาหนังสือไปอ่านในอวกาศด้วย การได้ดำดิ่งอยู่ในหนังสือกระดาษโดยไม่มีเสียง notifications มากวนใจนั้นเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก ร้านหนังสือเล็กๆ หลายร้านเริ่มมีบริการส่งหนังสือตามบ้านหรือไปรับหนังสือได้ที่ร้าน ซึ่งแปลว่าคุณสามารถช่วยซัพพอร์ตธุรกิจในละแวกบ้านคุณแถมยังได้พักสายตาจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

คุณยังฝึกเล่นเครื่องดนตรีได้อีกด้วย (ผมเพิ่งสมัครคลาสสอนกีตาร์ออนไลน์) ลองทำงานฝีมือหรืองานศิลปะ นักบินอวกาศล้วนจัดเวลาให้กับกิจกรรมเหล่านี้กันทั้งนั้น ลองดูวีดีโอที่นักบินอวกาศ Chris Handfield ร้องและเล่นคัฟเวอร์เพลง Space Oddity ของ David Bowie ดูก็ได้

 

เขียนไดอารี่ (Keep a journal)
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่นาซ่าศึกษาผลของการ isolation ที่มีต่อมนุษย์ และเรื่องน่าประหลาดใจอย่างหนึ่งที่พวกเขาค้นพบคือประโยชน์ของการจดบันทึกประจำวัน

ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผมขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ผมแบ่งเวลามาเขียนบันทึกประสบการณ์ของผมเกือบทุกวัน ถ้าคุณพบว่าตัวเองแค่จดสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแล้วมันค่อนข้างซ้ำซาก ลองเปลี่ยนไปเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่คุณรู้สึกผ่านสัมผัสทั้งห้าหรือเกี่ยวกับความทรงจำของคุณดู แม้ว่าสุดท้ายแล้วคุณจะไม่ได้ตีพิมพ์หนังสือเหมือนที่ผมทำ การเขียนไดอารี่จะช่วยให้คุณรับรู้ประสบการณ์จากอีกมุมมองหนึ่งและในวันข้างหน้ามันจะช่วยให้คุณหันกลับมามองช่วงเวลาสำคัญนี้ว่ามันมีความหมายต่อชีวิตคุณอย่างไร

 

ให้เวลากับคนที่คุณรัก (Take time to connect)
แม้ว่าผมจะมีภาระมากมายของการเป็นผู้บัญชาการสถานีอวกาศ แต่ผมก็ไม่เคยพลาดโอกาสที่จะทำ video conference กับคนในครอบครัวและกับเพื่อนฝูง นักวิทยาศาสตร์พบว่าการอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย

เทคโนโลยีช่วยให้การติดต่อสื่อสารกันง่ายดายแค่ปลายนิ้ว ดังนั้นการให้เวลากับการพูดคุยกับคนสำคัญของคุณทุกวันนั้นเป็นเรื่องที่สุดคุ้ม ใครจะไปรู้ มันอาจจะช่วยให้ร่างกายของคุณต่อสู้ไวรัสได้ดีขึ้นก็ได้

 

ฟังคนที่ควรฟัง (Listen to experts)
ผมได้เรียนรู้ว่าปัญหาส่วนใหญ่ในชีวิตไม่ใช่ rocket science (rocket science = “วิทยาศาสตร์ในการขับเคลื่อนจรวด” เป็นสำนวนอังกฤษที่แปลว่าเรื่องที่ยากและซับซ้อนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้)

แต่เมื่อใดก็ตามที่ปัญหานั้นเป็น rocket science เราก็ควรถามคนที่เป็น rocket scientist

การใช้ชีวิตอยู่ในอวกาศฝึกให้ผมเชื่อฟังคำแนะนำของคนที่มีความรู้เรื่องนั้นดีกว่าผม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิทยาศาตร์ วิศวกรรม หยูกยา หรือดีไซน์อันซับซ้อนของสถานีอวกาศที่ทำให้ผมยังมีชีวิตอยู่ได้

ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ เราต้องหาความรู้จากคนที่รู้จริงและฟังพวกเขาอย่างตั้งใจ โซเชียลมีเดียและสื่อที่ไม่มีการตรวจสอบมักจะแพร่ข้อมูลเท็จ ไม่ต่างอะไรกับการจับมือที่แพร่ไวรัส เราจึงควรฟังแต่คนที่ควรฟังอย่าง WHO และ Johns Hopkins Coronavirus Resource Center

 

เราล้วนเชื่อมโยงกัน (We are all connected)
เมื่อมองจากอวกาศ โลกนี้ไม่มีพรมแดน การระบาดของโคโรนาไวรัสแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรามีเหมือนกันนั้นทรงพลังกว่าสิ่งที่แบ่งแยกเรามากมายนัก เราทุกคนเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และยิ่งเราร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาได้ดีเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้นเท่านั้น

หนึ่งในผลข้างเคียงจากการที่ได้มองโลกจากอวกาศ – อย่างน้อยก็สำหรับผม – คือความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น แม้ว่าเราจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายอย่างที่เราทำได้ ผมเห็นคนที่สอนหนังสือเด็กผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ เห็นคนบริจาคเงินและสละเวลาให้กับองค์กรการกุศล และเห็นคนที่ช่วยเป็นธุระให้กับคนเฒ่าคนแก่และเพื่อนบ้านที่สุขภาพไม่แข็งแรง ทุกคนได้ประโยชน์กันหมดไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกช่วยเหลือหรือตัวอาสาสมัครเอง

ผมเคยเห็นความร่วมมือร่วมใจของมนุษยชาติจนสามารถเอาชนะปัญหาที่ยากเย็นเกินจินตนาการมานักต่อนักแล้ว และผมก็มั่นใจว่าเราจะสามารถเอาชนะวิกฤติครั้งนี้ได้เช่นกันหากเราร่วมมือและทำงานกันเป็นทีม

อ้อ แล้วก็อย่าลืมล้างมือบ่อยๆ ด้วยล่ะ

—–

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์ The New York Times: I Spent a Year in Space, and I Have Tips on Isolation to Share by Scott Kelly

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

มีเวลา แต่ไม่รู้จะเอาเวลาไปทำอะไร

20200321

ตอนที่ชีวิตเรายุ่งๆ เราเคยคิดว่าถ้ามีเวลา เราอยากจะทำนู่นทำนี่มากมาย

อ่านหนังสือที่ดองเอาไว้ ออกกำลังกาย ฝึกทำกับข้าว ลองทำ side business

ตอนนี้เรามีเวลามากขึ้นแล้วจริงๆ เพราะสถานการณ์โควิด-19

แต่ถ้าผู้อ่านเป็นเหมือนผม อาจจะพบว่า 4-5 วันที่ผ่านมา แม้จะมีเวลามากขึ้น แต่กลับไม่ได้ทำในสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเท่าไหร่

อาจเป็นเพราะเรายังไม่เคยชินกับ routine ใหม่ๆ การนอนตื่นสายได้ การอยู่บ้านทั้งวัน การต้องทำงานในขณะที่มีลูกๆ มาคอยรอจะเล่นกับเราตลอด

อีกเหตุผลก็เพราะเราอาจมีเวลาเพิ่มขึ้นมากเกินไปจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไรดี อารมณ์ไม่ต่างกับสามล้อที่เพิ่งถูกหวย เราก็เลยใช้เวลาอย่างสุรุ่ยสุร่าย จับจ่ายมันไปกับการติดตามสถานการณ์โควิดและวิตกกังวลมากกว่าที่จะไปทำอย่างอื่นที่จริงๆ เราเคยฝันหวานว่าจะทำมาช้านาน

สัปดาห์หน้าปล่อยไว้แบบนี้ไม่ได้แน่ ตัวผมเองจะลองพยายามปรับ routine ใหม่ เพราะมันจะเป็น the new normal ไปอีกอย่างน้อยหลายสัปดาห์

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่งอยู่แล้ว ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ

—–

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59