วิกฤติรถม้า

20190331_horsemanure

ใครที่เคยไปเที่ยวยุโรปอาจเคยย้อมเสียตังค์เพื่อได้ขึ้นไปนั่งรถม้าชมเมือง

คงเป็นประสบการณ์ที่ชวนให้เราย้อนยุคกลับไปสมัยเก่าก่อน ที่คนยังเดินทางด้วยสัตว์อันสง่างามอย่างม้าอาชาไนย ไม่มีควันพิษที่ออกมาจากท่อไอเสียอย่างสมัยนี้

แต่ภาพที่เราคิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันก็ไม่ได้สอดคล้องกันเสมอไป

เมื่อก่อนปี ค.ศ.1900 ลอนดอนใช้ม้าถึง 50,000 ตัวสำหรับการสัญจรของคนในเมือง

ปัญหาก็คือม้าพวกนี้วิ่งไปถ่ายไป ม้าตัวนึงอุจจาระวันละประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งนั่นแปลว่ามีขี้ม้าถึงวันละห้าแสนกิโลกรัมถูกถ่ายเรี่ยราดไว้ตามท้องถนนในลอนดอน ส่วนที่นิวยอร์คที่มีม้า 100,000 ตัวก็จะมีขี้ม้าถึงวันละ 1 ล้านกิโลกรัม

ม้าพวกนี้ยังมีอายุขัยค่อนข้างต่ำคือ 3 ปีเท่านั้น จึงมีม้าที่หมดแรงตายตามท้องถนนเต็มไปหมด ศพม้ามักจะถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยเสียก่อนเพื่อจะได้จัดเก็บได้ง่าย

ลองคิดสภาพดูว่าท้องถนนที่เต็มไปด้วยขี้ม้าและศพม้านั้นจะมีกลิ่นอบอวลเพียงใด

แย่ไปกว่ากลิ่นคือการที่มันเป็นแหล่งเพาะเชื้อชั้นดีให้แมลงวันและสัตว์ที่เป็นพาหะต่างๆ มาซ่องสุมและกระจายเชื้อร้ายอย่างไทฟอยด์และอหิวา

ในปี 1894 ปัญหาขี้ม้าเป็นวิกฤติที่หนักหนาสาหัสในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก หนังสือพิมพ์ The Times ถึงกับทำนายว่า อีกไม่เกิน 50 ปี ถนนทุกสายในลอนดอนจะจมอยู่ในกองขี้ม้าลึก 3 เมตร!

เหตุการณ์นี้ได้รับการขนานนามว่า ‘The Great Horse Manure Crisis of 1894’ – วิกฤติขี้ม้าครั้งใหญ่แห่งปี 1894

วิกฤตินี้นำไปสู่การประชุมการวางแผนผังเมืองนานาชาติครั้งแรกในปี 1898 ซึ่งตอนแรกจะใช้เวลา 10 วัน แต่พอผ่านไป 3 วันการประชุมนี้ก็ต้องยุติลงเพราะไม่มีใครคิดหาทางออกให้กับปัญหาขี้ม้านี้ได้

แต่แล้วแสงสว่างปลายอุโมงค์ก็มาถึงอย่างไม่มีใครคาดคิด

ในปีค.ศ. 1903 ณ เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา นายเฮนรี่ ฟอร์ด (Henry Ford) ได้ก่อตั้งบริษัท Ford Motor Company และคิดค้นระบบสายพานการผลิต (assembly line) ที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตรถถูกลงอย่างมหาศาล

ในปี 1908 ฟอร์ดผลิตรถรุ่น Model T ที่ดิบขายดีไปทั่วทั้งอเมริกาและยุโรป แถมยังมีราคาถูกลงทุกปี จนสุดท้ายคนก็หันมาซื้อรถยนต์เพราะราคาถูกกว่าและดูแลง่ายกว่าการใช้รถม้า

ภายในปี 1917 รถม้าก็หมดไปจากท้องถนนในนิวยอร์ค และเหตุการณ์คล้ายๆ กันก็เกิดขึ้นในลอนดอนและเมืองใหญ่ต่างๆ ที่เคยใช้รถม้ามาก่อน

วิกฤติบางอย่างอาจจะมีทางออกที่เรานึกไม่ถึง

อ่านเรื่องนี้แล้วอาจช่วยให้เราพอจะมีความหวังกับวิกฤติฝุ่น PM2.5 และภาวะโลกร้อนได้ไม่มากก็น้อยนะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก Historic UK, Business Horsepower, Wikipedia

เปิดรับสมัคร Writing Workshop รุ่นที่ 3 เรียนวันเสาร์ที่ 20 เมษายน 9:00-12:00 (เหลือ 8 ที่นั่ง) อ่านรายละเอียดได้ที่ https://anontawong.com/2017/12/03/writing-workshop