
ช่วงนี้ “ใกล้รุ่ง” ลูกชายวัยสี่ขวบครึ่งของผมมีพลังงานล้นเหลือเป็นพิเศษ
สามทุ่มกว่ายังวิ่งไปวิ่งมา ผมปิดไฟห้อง เปิดโคมไฟอ่านนิทานจบไป 3 เรื่องแล้วก็ยังลืมตาแป๋วในขณะที่ “ปรายฝน” พี่สาวของใกล้รุ่งหลับไปเรียบร้อยแล้ว บางทีผมอ่านนิทานต่ออีก 2-3 เรื่องก็ยังไม่หลับ จนต้องใช้ท่าไม้ตายปิดโคมไฟ-ปิดวาจาแล้วนอนเฉยๆ จนหลับไปทั้งลูกและพ่อ
เช้าวันถัดมา เวลาโดนปลุกตอน 7 โมง ใกล้รุ่งก็จะอ้อยอิ่งที่สุด นอนหลับตาตัวไม่กระดิก พอเปิดม่านให้แสบตา เขาก็จะนอนคว่ำเพื่อพยายามจะหลับต่อ ต้องใช้เวลาร่วม 5 นาทีในการชวนคุย แกล้งจั๊กจี้ และสุดท้ายต้องช้อนตัวขึ้นมาอุ้มและพาลงมาอาบน้ำข้างล่าง
เมื่อวานนี้พอเดินลงมา ทิ้งใกล้รุ่งบนโซฟา ใกลุ้ร่งก็ยังนอนคว่ำต่อ ผมก็เลยหมั่นเขี้ยวแซวใกล้รุ่งพร้อมใช้มือตีก้นเป็นจังหวะว่า “เวลาตื่นไม่ยอมตื่น (ตีก้นหนึ่งที) เวลานอนไม่ยอมนอน (ตีก้นอีกหนึ่งที)”
แล้วผมก็ตระหนักได้ว่า ที่พูดไปนี่ก็เข้าตัวอยู่เหมือนกัน
พอโตมาเป็นผู้ใหญ่ ถึงเวลานอนเราก็ไม่ยอมนอน เพราะช่วงเวลากลางดึกนั้นเป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่ามีอิสรภาพอย่างแท้จริง หลังจากที่ต้องทำตามความคาดหวังของคนอื่นมาทั้งวัน
เราจึงนอนดูซีรี่ส์ตอนแล้วตอนเล่า หรือนอนไถฟีดได้เป็นชั่วโมง
พอถึงเวลาตื่น เราก็เลยต้องตื่นอย่างไม่เต็มใจ บางคนต้องพึ่งพากาแฟเพื่อให้มีเรี่ยวมีแรงพอที่จะทำงานไหว
เวลาช่วงเช้าที่เหมาะแก่การทำงานชิ้นใหญ่ เราก็เผลอไผลไปเช็คโซเชียล หรือไม่ก็ตอบอีเมล รู้ตัวอีกทีคนก็เริ่มทักสแล็ค-ทักไลน์จนเราไม่อาจทำงานที่ต้องใช้สมาธิได้อีกต่อไป ระหว่างวันก็มีประชุมติดๆ กัน ก็เลยกลายเป็นว่าต้องมานั่งทำงานของตัวเองตอนดึกๆ แล้วจบด้วยการดูซีรี่ส์เป็นการให้รางวัลตัวเอง เป็นวงจรอย่างนี้เรื่อยไป
เวลาที่มีนัดแล้วเราไปสาย ก็เกิดจากสาเหตุเดียวกัน คือควรจะเตรียมตัวออกจากบ้านได้ตั้งนานแล้ว แต่เราก็ใช้เวลาไปกับอย่างอื่นจนนาทีสุดท้าย แล้วก็ต้องมานั่งเครียดบนท้องถนนโดยไม่ใช่เรื่อง
กล่าวโดยสรุปก็คือ เราสามารถหลีกเลี่ยงความเครียดส่วนใหญ่ในชีวิตได้ หากเราทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่ควรทำ
ฟังดูง่ายๆ แต่ทำได้ไม่ง่าย – simple but not easy
อาจจะเริ่มต้นด้วยการนอนในเวลาที่ควรนอน และตื่นอย่างเต็มใจในเวลาที่ควรตื่น
ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำในเวลาที่ควรทำได้อย่างสม่ำเสมอ ชีวิตน่าจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ