10 เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในปี 2023

ทุกปี MIT Technology Review จะออกมาประกาศเทคโนโลยี 10 อย่างที่สำคัญที่สุดในปีนั้น

ของปี 2023 นี้จะมีอะไรบ้าง มาดูกันนะครับ

  1. ใช้ CRISPR ตัดต่อยีนส์เพื่อควบคุมคอเลสเตอรอล – CRISPR (อ่านว่าคริสเปอร์) เป็น gene-editing tool ที่ใช้รักษาโรคทางพันธุกรรมที่หายาก แต่ตอนนี้ CRISPR เริ่มเป็นที่แพร่หลายจนถูกนำมาใช้รักษาโรคที่พื้นฐานมากขึ้นเช่นคอเลสเตอรอลสูงได้แล้ว
  2. AI ที่วาดรูปได้ – เราสามารถใช้เครื่องมือของ Google และ OpenAI ที่เนรมิตภาพออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีด้วยการพิมพ์คำอธิบายสั้นๆ ลงไปว่าต้องการภาพแบบไหน
  3. การออกแบบชิป (chip) ที่ไม่เหมือนเดิม – ที่ผ่านมาผู้ผลิตจะต้องซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตไมโครชิปจากผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ตอนนี้มี open standard ตัวใหม่ชื่อว่า RISC-V ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องพึ่งพา chip designers เจ้าตลาดอีกต่อไป
  4. โดรนทางการทหาร – ที่ผ่านมาโดรนที่ใช้ในกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ เข้าไม่ถึงเนื่องด้วยราคาที่แพงและกฎหมายควบคุมการส่งออกที่เข้มงวด แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาทำให้หลายบริษัทสามารถสร้างโดรนสู้รบได้ในราคาที่ย่อมเยาลงมาก
  5. การจ่ายยาทำแท้งผ่าน telemedicine – ในปีที่ผ่านมา หลายรัฐในอเมริกาแบนคลินิกทำแท้ง ผู้ที่ต้องการทำแท้งจึงต้อง “หาหมอ” ผ่านวีดีโอคอลและให้หมอสั่งยาส่งมาจากอีกรัฐหนึ่ง
  6. อวัยวะ on demand – ทุกวันจะมีคนไข้ 17 คนต้องเสียชีวิตลงเพราะไม่มีอวัยวะเปลี่ยน แต่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม รวมถึงการสร้างปอดด้วย 3D-printing โดยใช้เซลล์ของคนไข้เป็นหมึกพิมพ์
  7. รถ EV จะมาแน่ เพราะแบตเตอรี่รถราคาถูกลง และรัฐบาลในหลายประเทศได้ออกกฎหมายที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมรถที่ใช้น้ำมัน ส่วนผู้ผลิตรถหลายรายก็ได้ออกมาประกาศว่าจะมุ่งไปสู่การผลิตรถไฟฟ้าทั้งหมด
  8. กล้องโทรทัศน์อวกาศ James Webb ถูกสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ในการสำรวจเอกภพ มันถูกส่งออกไปเมื่อปลายปี 2021 และถ่ายรูปภาพอันน่าตะลึงมากมายส่งกลับมายังโลก นี่ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการดาราศาสตร์
  9. การวิเคราะห์ DNA ของมนุษย์ยุคดึกดำบรรรพ์ – แต่ก่อนนี้การจะทำ genome sequencing จำเป็นต้องมีกระดูกหรือฟันของคนในยุคนั้น แต่เครื่องมือสมัยใหม่ละเอียดพอที่จะวิเคราะห์ DNA โดยใช้เพียง sample จากดินที่โดนคนยุคก่อนปัสสาวะใส่!
  10. การรีไซเคิลแบตเตอรี่ – เมื่อรถ EV มีมากขึ้น ความต้องการแบตเตอรี่ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายบริษัทกำลังสร้างโรงงานที่จะนำแบตเตอรี่เก่ามารีไซเคิลแล้วส่งไปให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion ซึ่งจะทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลงกว่าเดิมและลดขยะอันตรายได้อีกด้วย

ขอบคุณเนื้อหาจาก MIT Technology Review: 10 Breakthrough Technologies 2023

รักน้อยๆ แต่รักนานๆ

20190113_slowbutsure

คนไทยที่อายุเกิน 30 หลายคนน่าจะเคยใช้ Hi5 ที่เป็นเว็บเอาไว้แชร์รูปภาพแล้วกดเป็นเพื่อนกับคนแปลกหน้า บางคนมีเพื่อนเป็นพันๆ หมื่นๆ คน

ช่วงหนึ่ง Hi5 เคยดังมากๆ เพื่อนผมมีโปรไฟล์ Hi5 กันแทบทุกคน แต่การมาถึงของ Facebook ก็ทำให้ Hi5 ล่มสลายไป

ในอีกมุมหนึ่ง อีเมลเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เราใช้อย่างแพร่หลาย 20 ปีแล้ว

และแม้จะมี social media อย่าง Hi5, Facebook, Twitter, Instagram เข้ามามากมายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อีเมลก็ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ยังคงอยู่กับเราอย่างเหนียวแน่น

โทรศัพท์ Nokia ก็คล้ายๆ กับ Hi5 ช่วงหนึ่งคนไทยส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia ก่อนที่ Nokia จะโดนตีตลาดด้วย Blackberry ซึ่งก็ดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองไม่แพ้กัน (อย่างน้อยก็ในคนกรุงเทพ)

แล้วทั้ง Nokia และ Blackberry ก็แทบจะล้มทั้งยืนเมื่อสตีฟจ๊อบส์เปิดตัว iPhone แถมหมัดสองด้วย Android จาก Google จากนั้นมาคนก็หันมาใช้ smartphone ทิ้งให้ Nokia และ Blackberry เหลือเพียงอดีตอันยิ่งใหญ่

ของที่มาเร็ว มาแรง ดังเร็วนั้น มีความเสี่ยงที่จะไปเร็วและดับเร็วด้วยเช่นกัน

ของที่จะอยู่คู่กับเราไปนานๆ มักจะเป็นของที่ไม่หวือหวามากนัก เรื่อยๆ มาเรียงๆ แต่ก็มีความคลาสสิค เพราะมีเวลาสร้างรากฐานจนมั่นคงในใจคน

ผมจึงมีความรู้สึกว่าของเหล่านี้แม้จะถูกกระทบอยู่บ้าง แต่ก็จะไม่หายไปไหน

วิทยุ vs พ็อดคาสท์
หนังสือ vs อีบุ๊คส์/audiobooks
ดินสอ vs แล็ปท็อป

เพราะมันไม่ได้เท่ ไม่ได้เก๋อะไรมากมายมาแต่ไหนแต่ไร จึงไม่เคยเป็นของฮิต ไม่เคยเป็นของอินเทรนด์

แต่เมื่อไม่เคยอินเทรนด์ มันจึงไม่เคยตกเทรนด์ด้วยเช่นกัน

อีก 20 ปี ในวันที่สมองมนุษย์เชื่อมกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง เราอาจไม่จำเป็นต้องพิมพ์อะไรลงแป้นคีย์บอร์ดอีกต่อไป แล็ปท็อปอาจจะสูญพันธุ์ แต่ถึงกระนั้นผมว่าเราก็น่าจะยังใช้ดินสอขีดเขียนอะไรลงกระดาษอยู่ดี

พอคิดได้อย่างนี้ก็สบายใจ หากเราไม่ได้โตเร็วเหมือนใครเขา

บล็อก Anontawong’s Musings กำลังเข้าสู่ปีที่ 5 เขียนมา 1400 ตอนแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่เพจใหญ่ คนตามยังไม่เยอะมาก ถึงกระนั้นก็เป็นคนที่มีคุณภาพและมี engagements กับเพจสูงจนน่าชื่นใจ

ค่อยๆ โตช้าๆ ไปอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่หลงตัวเองว่าดังแล้ว และจะได้เอาพลังไปโฟกัสกับการผลิตงานที่ดีออกมาวันละชิ้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

รักน้อยๆ แต่ขอให้รักนานๆ นะครับ 🙂

—–

Storytelling with Powerpoint รุ่นที่ 2 เรียนเสาร์ที่ 19 มกราคมนี้ เหลืออีก 7 ที่ ดูรายละเอียดได้ที่  http://bit.ly/tgimstory2fb

Senolytics ยาที่อาจทำให้มนุษย์อายุยืนขึ้นได้

20180930_senolytics

ผมมีเรื่องน่าสนใจจาก Quora.com มาฝากครับ

คำถาม: ความก้าวหน้าทางการแพทย์เรื่องใดที่ทำให้คุณตื่นเต้นที่สุด? (What advance in medical science are you most excited about?)

คำตอบโดย Franklin Veaux:

ตอนนี้เหรอ? Senolytics ไงล่ะ

เวลาที่เราแก่ตัว เซลล์ในร่างกายของเราจะหยุดทำงาน มันจะหยุดแบ่งตัวและไม่ทำหน้าที่ แถมมันยังหลั่งโปรตีนชนิดที่ทำลายเซลล์ข้างๆ อีกด้วย แต่เซลล์ที่เก่าแล้วมันก็จะยังคงอยู่อย่างนั้น (แทนที่จะตายไป) ร่างกายจึงไม่สามารถแทนที่ด้วยเซลล์ใหม่ๆ ได้

กระบวนการนี้เรียกว่า ความชราภาพของเซลล์ (cellular senescence) ซึ่งเป็นเหตุผลในหลายๆ ความเสื่อมถอยในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นรอยเหี่ยวย่นหรือความเสื่อมของไขข้อกระดูก แม้กระทั่งโรคอัลไซเมอร์ก็อาจเป็นผลจากความชราภาพของเซลล์ด้วยเช่นกัน

Senolytics คือยาที่ทำลายเฉพาะเซลล์ที่ชราภาพแล้วโดยไม่มีผลกับเซลล์ที่ยังแข็งแรงตัวอื่นๆ ซึ่งนั่นหมายความว่าร่างกายของเราสามารถผลิตเซลล์คุณภาพมาทดแทนเซลล์ที่ไม่ทำงานแล้วได้

เคยมีการนำ senolytics ไปให้กับหนูทดลองที่อายุมากแล้ว ขนของมันดกขึ้น ผิวหนังก็ตึงขึ้นและกลับมามีความยืดหยุ่นอีกครั้ง กระดูกไขข้อก็แข็งแรงขึ้น และกล้ามเนื้อที่มันเคยสูญเสียไปจากความชราก็กลับคืนมาอีกครั้ง อายุขัยของมันยาวนานขึ้น โดยในบางการทดลองอายุมันยาวกว่าอายุเฉลี่ยถึงสี่เท่า

เราเพิ่งเริ่มทำการทดลองยา senolytics นี้ในมนุษย์ และถ้ามันเวิร์คจริงๆ มันอาจจะสำคัญพอๆ กับการค้นพบยาปฏิชีวนะเลยทีเดียว

—–

ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Franklin Veaux’s answer to What advance in medical science are you most excited about?