ความรู้ชั่วคราวกับความรู้ถาวร

Morgan Housel บอกว่าความรู้มีอยู่สองประเภท คือความรู้ชั่วคราว กับความรู้ถาวร

ความรู้ชั่วคราว หรือ Expiring Knowledge คือความรู้ที่มีวันหมดอายุ

วิธีดูง่ายๆ ว่าความรู้นี้เป็น Expiring Knowledge หรือเปล่า ก็คือการถามว่า “อีกหนึ่งปีเราจะยังแคร์เรื่องนี้มั้ย?”

ข่าวสารส่วนใหญ่ในหนังสือพิมพ์และในโลกโซเชียลคือความรู้ชั่วคราว มาเพื่อสร้างความตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็นแต่ก็หมดอายุโดยเร็วเช่นกัน

ส่วนความรู้ถาวรหรือ Permanent Knowledge นั้นไม่มีวันหมดอายุ มันคือหลักการหรือเฟรมเวิร์คที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายสิบปีหรือแม้กระทั่งตลอดชีวิต

ความรู้ถาวรนั้นหาได้ในหนังสือบางเล่ม จากการทำงาน การสังเกต หรือการพูดคุยกับคนมีปัญญา* ส่วนในโซเชียลและในเว็บก็มีเช่นกันเพียงแต่ต้องคัดสรรให้ดีๆ

ความรู้ชั่วคราวนั้นมีข้อเสียอย่างหนึ่งที่คนมักไม่ค่อยนึกถึง ก็คือมันทำให้สมองของเรารกโดยไม่จำเป็น

เหมือนตู้เสื้อผ้าที่ยังไม่ผ่านการ KonMari ความรู้ชั่วคราวจึงเบียดเสียดแน่นตู้ ส่วนความรู้ถาวรถูกยัดเก็บเอาไว้ในหลืบ

ข่าวดีก็คือความรู้ชั่วคราวมันจะหายไปด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับความรู้ชั่วคราวชุดเก่า เราแค่ต้องคอยระวังไม่เสพความรู้ชั่วคราวชุดใหม่มากจนเกินไป

ฝรั่งมีคำบอกว่า Garbage in, garbage out.

ถ้าเราอยากมีความคิดดีๆ ผลิตผลงานดีๆ เราก็ควรเสพความรู้ถาวรให้มาก และเสพความรู้ชั่วคราวให้น้อยครับ


* การสังเกตและพูดคุยกับตนเองก็อาจสร้างความรู้ถาวรได้เช่นเดียวกัน

25 คำที่ชอบจากหนังสือครีมชั้นบน

พลอย เซ่” เป็นเจ้าของบริษัท C’est Design ที่เคยออกแบบหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” ให้กับผม

เซ่เคยมีผลงานเขียนมาแล้วสามเล่มคือ “เด็กนอกคอก” (2014) “โลกต้องจำ” (2016) และ “จริงไม่จริง” (2018)

ส่วนหนังสือเล่มล่าสุด “ครีมชั้นบน” (2023) เป็นหนังสือเล่มแรกในรอบ 5 ปีของเซ่

ผมเคยอ่านเด็กนอกคอกกับจริงไม่จริงมาแล้ว ครีมชั้นบนเป็นเล่มที่ผมชอบมากที่สุดของเซ่ เห็นการเติบโตทางความคิดและการ make peace กับตัวเองได้ว่าชีวิตนี้ต้องการอะไร – และไม่ต้องการอะไร (แม้ว่ามันเป็นสิ่งที่คนมากมายต้องการก็ตาม)

นี่คือบางถ้อยคำและข้อคิดที่ผมอยากนำมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ครับ

  1. เมื่อพูดถึง “รองเท้าแก้ว” เราจะรู้ได้ทันทีว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของ “ซินเดอเรลล่า” ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปกี่เวอร์ชั่นซินเดอเรลล่าจะมีรองเท้าแก้วเป็นภาพจำเสมอ แล้วเราล่ะ มีอัตลักษณ์ มีความคงที่ของตัวตนให้คนรู้ว่าเราเป็นใครแล้วหรือยัง
  1. เรากำลังคุ้นชินกับความสำเร็จรูปแบบเดียวรึเปล่า? เคยมีงานวิจัยที่ให้คนเลือกน้ำที่จะดื่ม โดยผู้วิจัยมองว่ามีตัวเลือกเยอะๆ น่าจะดี ก็เลยจัดไป 7 แบบ: โค้ก ไดเอ็ตโค้ก เป๊บซี่ เป๊ปซี่แม็กซ์ สไปรท์ เมาเธ่นดิว และ ดร.เป๊ปเปอร์รสเชอรี่ แต่ในห้องนั้นกลับมีคนหนึ่งที่ไม่เลือกอะไรเลย โดยบอกว่าทั้งถาดมีเครื่องดื่มแค่แบบเดียวคือ “น้ำอัดลม”
  2. ภาพความสำเร็จที่คนส่วนใหญ่รู้จักมักผ่านการเสนอคุณค่าด้วยภาษา “เงิน” ซึ่งก็อาจไม่ต่างอะไรกับ “น้ำอัดลม” ที่เป็นแค่เครื่องดื่มประเภทเดียวในสายตาใครบางคน หากโลกนี้ยังมีน้ำเปล่า นมสด ชา กาแฟ เบียร์ “ความสำเร็จ” ก็มีความหลากหลายมากกว่าแค่เรื่องเงินเช่นกัน
  3. คนบางคนอาจจะดูช้า ดูธรรมดา แต่เขาอาจเป็นสายลมอ่อนเวลาที่เราร้อนรน
  4. เวลาที่เห็นลูกน้องเครียด หน้าที่ของเราคือดึงความรู้สึกเขากลับมาในแดนบวก
  5. หน้าที่ของเราในการทำงานให้ดี คือการไม่ลืมว่าชีวิตคืออะไร
  6. ถึงขับรถ Eco Car ก็ไม่เคยมีลูกค้าคนไหนเลิกจ้างเพราะรถที่เราขับ
  7. ถ้าเรามั่นใจ จงใช้เวลาพิสูจน์
  8. จงเลือกทำงานกับคนที่ระดับพลังงานเท่าๆ กันที่เก่งในสิ่งที่แตกต่างกัน
  9. สิ่งที่เราฝัน เราต้องการมันจริงหรือ?
  10. ประเมินตัวเองให้ได้ว่าเรามีความสามารถในการแบกรับความสำเร็จแค่ไหน เพราะมันมาพร้อมความกดดันและภาระ
  11. อยากสำเร็จแค่ไหน ก็คูณภาพความลำบากเข้าไปเท่านั้น คูณความสามารถในการแบกรับความทุกข์ ความเครียดเข้าไปด้วย แล้วประเมินดูว่าเรายังต้องการมันจริงหรือไม่
  12. เงินมาพร้อมกับปัญหาเสมอ ลูกค้าถือเงินมาให้เราแก้ปัญหา ยิ่งเงินมาก ปัญหายิ่งมากตามตัว
  13. ผู้เขียนยังไม่เคยเจอคนรวยที่ไม่มีปัญหา เพราะยิ่งเงินเยอะ ปัญหายิ่งเยอะ
  14. เราไม่จำเป็นต้องเป็นเศรษฐี แต่เราควรเป็นคนที่เศรษฐีอยากร่วมงานด้วย
  15. ต้องสำเร็จเท่าไหร่ถึงจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข?
  16. คัดเลือกเส้นทางที่ใช่ ตัดเส้นทางที่ไม่ใช่ แทนที่จะขยายใหญ่ เราอาจเลือกทางเล็กๆ แบบพอดีตัว [ตรงนี้มีความคล้ายคลึงกับธีมของหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” เหมือนกันครับ]
  17. เมื่อมองแต่ภาพใหญ่ก็อาจลืมมองหัวใจคนรอบตัว
  18. ผู้เขียนเคยจิ๊กกุญแจรถแม่เพื่อขับรถออกจากบ้าน ปรากฎว่ารถครูดประตูรั้ว เมื่อโทรไปสารภาพ แม่บอกว่า “ไม่เป็นไรลูก แม่ไม่โกรธหรอก เพราะถือว่าลูกกล้าพูดความจริง”
  19. เราจะกล้าทำอะไรมากที่สุดตอนที่เราไม่รู้ว่ามันยาก
  20. ต้องกล้าออกไปผิด ให้รู้จักคำว่าถูกบ่อยๆ
  21. ทำงานพลาดแล้วเฟล ตอนแก้ปัญหาได้แล้วมีความสุข หากเราเฟลแล้วแก้ปัญหาให้ได้บ่อยๆ ก็จะมีความสุขได้ตลอด
  22. เราต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สนุก ถ้ามันไม่สนุกก็ต้องหาแง่มุมสนุกให้กับมัน การทำงานให้ดี เราต้องชอบมันก่อน หากยังทำไม่ได้เราจะส่งต่อความตื่นเต้นให้คนอื่นได้อย่างไร
  23. การที่เราให้ความเคารพกับตัวเองและคนรอบข้าง แปลว่าเรามองเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในทุกๆ ที่ เป็นสัญญาณที่ดีของคนที่จะกลายเป็นผู้นำ
  24. แม้ระหว่างทางอาจต้องพบเจอกับความทุกข์ แต่มันคือทางผ่านของความสุขที่เราเลือกเอง

ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ ครีมชั้นบน พลอย เซ่ เขียน สำนักพิมพ์ DOT

ถ้าไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ให้เริ่มตรงกลาง

ผมเคยเปิดสอน Writing Workshop ให้กับคนทั่วไปและพนักงานที่ออฟฟิศ

หนึ่งในปัญหาที่หนักอกที่สุดสำหรับนักเขียนมือใหม่ คือไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง จะจั่วหัวเรื่องอย่างไร จะเขียน intro อย่างไรให้น่าอ่าน

คำแนะนำที่ผมใช้กับตัวเองและบอกกับคนอื่นเสมอก็คือ ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน ให้เริ่มตรงกลาง – Start in the middle.

จะเป็นบุคคลที่เราอยากเขียนถึง บทเรียนที่ได้รับมา หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นก็ได้

พอเราได้เริ่มเสียแล้ว เดี๋ยวเครื่องก็จะติดเอง แล้วเราค่อยมากคิดบทนำ ชื่อเรื่อง หรือแม้กระทั่งประเด็นทีหลังก็ไม่ผิด

นักแต่งเพลงหลายท่านที่ผมรู้จัก ก็เริ่มจากแต่งท่อนฮุคก่อน แล้วค่อยมาใส่ท่อน verse ทีหลัง

การทำงานก็เช่นกัน ถ้าเป็นโปรเจ็คที่ใหญ่และยากจนเราไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนดี ก็ให้เริ่มจากตรงกลางได้เช่นกัน เช่นคุยกับคนนั้นคนนี้ หรือเริ่มเปิดไฟล์ขึ้นมาพิมพ์สิ่งที่เราคิดได้ว่าต้องทำ

ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า ที่เราช้าเรามักไม่ได้ช้าตอนทำ แต่เราช้าตอนกลัว

การ start in the middle หรือเริ่มจากตรงไหนก็ได้ที่มีแรงเสียดทานน้อยที่สุดจะช่วยให้เรากลัวน้อยลง แล้วหลังจากนั้นสิ่งต่างๆ ก็จะค่อยๆ แสดงผลขึ้นมาเอง

ลองนำไปปรับใช้ดูนะครับ