10 เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในปี 2023

ทุกปี MIT Technology Review จะออกมาประกาศเทคโนโลยี 10 อย่างที่สำคัญที่สุดในปีนั้น

ของปี 2023 นี้จะมีอะไรบ้าง มาดูกันนะครับ

  1. ใช้ CRISPR ตัดต่อยีนส์เพื่อควบคุมคอเลสเตอรอล – CRISPR (อ่านว่าคริสเปอร์) เป็น gene-editing tool ที่ใช้รักษาโรคทางพันธุกรรมที่หายาก แต่ตอนนี้ CRISPR เริ่มเป็นที่แพร่หลายจนถูกนำมาใช้รักษาโรคที่พื้นฐานมากขึ้นเช่นคอเลสเตอรอลสูงได้แล้ว
  2. AI ที่วาดรูปได้ – เราสามารถใช้เครื่องมือของ Google และ OpenAI ที่เนรมิตภาพออกมาได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีด้วยการพิมพ์คำอธิบายสั้นๆ ลงไปว่าต้องการภาพแบบไหน
  3. การออกแบบชิป (chip) ที่ไม่เหมือนเดิม – ที่ผ่านมาผู้ผลิตจะต้องซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตไมโครชิปจากผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ตอนนี้มี open standard ตัวใหม่ชื่อว่า RISC-V ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องพึ่งพา chip designers เจ้าตลาดอีกต่อไป
  4. โดรนทางการทหาร – ที่ผ่านมาโดรนที่ใช้ในกองทัพนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศเล็กๆ เข้าไม่ถึงเนื่องด้วยราคาที่แพงและกฎหมายควบคุมการส่งออกที่เข้มงวด แต่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาทำให้หลายบริษัทสามารถสร้างโดรนสู้รบได้ในราคาที่ย่อมเยาลงมาก
  5. การจ่ายยาทำแท้งผ่าน telemedicine – ในปีที่ผ่านมา หลายรัฐในอเมริกาแบนคลินิกทำแท้ง ผู้ที่ต้องการทำแท้งจึงต้อง “หาหมอ” ผ่านวีดีโอคอลและให้หมอสั่งยาส่งมาจากอีกรัฐหนึ่ง
  6. อวัยวะ on demand – ทุกวันจะมีคนไข้ 17 คนต้องเสียชีวิตลงเพราะไม่มีอวัยวะเปลี่ยน แต่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม รวมถึงการสร้างปอดด้วย 3D-printing โดยใช้เซลล์ของคนไข้เป็นหมึกพิมพ์
  7. รถ EV จะมาแน่ เพราะแบตเตอรี่รถราคาถูกลง และรัฐบาลในหลายประเทศได้ออกกฎหมายที่เข้มข้นขึ้นในการควบคุมรถที่ใช้น้ำมัน ส่วนผู้ผลิตรถหลายรายก็ได้ออกมาประกาศว่าจะมุ่งไปสู่การผลิตรถไฟฟ้าทั้งหมด
  8. กล้องโทรทัศน์อวกาศ James Webb ถูกสร้างขึ้นเพื่อสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ในการสำรวจเอกภพ มันถูกส่งออกไปเมื่อปลายปี 2021 และถ่ายรูปภาพอันน่าตะลึงมากมายส่งกลับมายังโลก นี่ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของวงการดาราศาสตร์
  9. การวิเคราะห์ DNA ของมนุษย์ยุคดึกดำบรรรพ์ – แต่ก่อนนี้การจะทำ genome sequencing จำเป็นต้องมีกระดูกหรือฟันของคนในยุคนั้น แต่เครื่องมือสมัยใหม่ละเอียดพอที่จะวิเคราะห์ DNA โดยใช้เพียง sample จากดินที่โดนคนยุคก่อนปัสสาวะใส่!
  10. การรีไซเคิลแบตเตอรี่ – เมื่อรถ EV มีมากขึ้น ความต้องการแบตเตอรี่ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายบริษัทกำลังสร้างโรงงานที่จะนำแบตเตอรี่เก่ามารีไซเคิลแล้วส่งไปให้กับผู้ผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion ซึ่งจะทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลงกว่าเดิมและลดขยะอันตรายได้อีกด้วย

ขอบคุณเนื้อหาจาก MIT Technology Review: 10 Breakthrough Technologies 2023

5 เรื่องที่นึกว่าเป็นคนเดียว ที่แท้คนอื่นก็เป็น

1. มือถือสั่นแม้ไม่มีใครโทรมา

ผมจะพกมือถือเอาไว้ในกระเป๋ากางเกงด้านซ้าย นั่งไปสักพักก็จะรู้สึกว่ามือถือสั่น แต่พอหยิบขึ้นมาดูกลับไม่ได้มีใครโทรมา

มารู้ทีหลังว่า มีคนเป็นกันเยอะ มีชื่อเรียกว่า Phantom vibration syndrome อ่านจากใน Wikipedia แล้วยังไม่ทราบต้นเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการตีความผิดของเปลือกสมอง (cerebral cortex) เวลามีผัสสะที่เกิดจากสิ่งอื่นเช่นเสื้อผ้าหรือกล้ามเนื้อหดตัว

2. หายใจผ่านรูจมูกข้างเดียว

ผมเป็นคนเป็นภูมิแพ้อยู่เรื่อยๆ เลยมักจะคิดว่าคงมีเฉพาะคนที่เป็นหวัดหรือเป็นภูมิแพ้ที่หายใจผ่านรูจมูกแค่ข้างเดียว เพราะอีกข้างมักมีน้ำมูกคั่งอยู่

แต่จริงๆ แล้วคนส่วนใหญ่หายใจผ่านรูจมูกแค่รูเดียว แล้วพออีก 2-3 ชั่วโมงก็จะสลับไปหายใจผ่านรูจมูกอีกข้างหนึ่ง ปรากฎการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า nasal cycle หรือวงจรนาสิก

“During the nasal cycle, unequal blood flow in the nostrils causes the tissue in one nostril to fill with blood and block that nostril, while the other remains open. Researchers believe 70–80% of adults have a regular nasal cycle.”

การที่รูจมูกข้างใดข้างหนึ่งไม่ทำงาน จึงไม่ได้เกิดจากบล็อกของน้ำมูก แต่เกิดจากการบล็อกของเส้นเลือดฝอยในรูจมูก

3. เมื่อเสียเงินไปแล้วกลับใช้เงินเยอะกว่าเดิม

เคยมั้ยครับที่พอขาดทุนอะไรบางอย่างไปแล้ว เช่นเสียเงินกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือราคาหุ้น/คริปโตตก แล้วแทนที่เราจะระมัดระวังกับการใช้จ่ายมากขึ้น เรากลับออกไปซื้อของแพงๆ ราคาหลายพันหลายหมื่นแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง อารมณ์คนประชดชีวิตประมาณนั้น

ผมไม่รู้ว่าฝรั่งมีชื่อให้ปรากฎการณ์นี้รึเปล่า แต่เพื่อนผมคนหนึ่งก็เคยเล่าให้ผมฟังว่าเขาก็เป็นเหมือนกัน

4. นึกว่ามีกล้องจับจ้องเราอยู่

ตอนเด็กๆ ผมเคยคิดว่า จะเป็นไปได้มั้ยว่าจริงๆ แล้วทุกคนรอบตัวเราเล่นละครหมดเลย มีกล้องจับเราอยู่ทุกความเคลื่อนไหว และมีคนดูเราอยู่ด้วยความบันเทิง

พอเรียนม.ปลายก็มีเพื่อนคนนึงที่มีความคิดเหมือนกันเป๊ะ แล้วหลังจากนั้นจึงได้รู้ว่ามัน mass กว่าที่เราคิดเมื่อหนังเรื่อง The Truman Show ที่นำแสดงโดย Jim Carrey เข้าโรง

5. ถ่ายรูปไม่ขึ้น

สมัยที่ยังเป็นกล้องฟิล์ม เรามักจะรู้สึกว่าเราถ่ายรูปไม่ขึ้นเท่าไหร่ ขณะที่รูปคนอื่นๆ ก็ดูโอเคดี

เหตุผลหลักก็เพราะว่าเราไม่คุ้นเคยกับหน้าที่แท้จริงของเรา คนที่เห็นหน้าที่แท้จริงของเรามีแต่คนอื่นเท่านั้น ส่วนเราจะเห็นเพียงภาพสะท้อนในกระจกเงา

และเนื่องจากหน้าของคนไม่ได้สมมาตรเป๊ะๆ สมมติว่าจมูกเราเบ้ไปทางซ้ายแค่ 2 มิลลิเมตร เวลาดูในกระจกเราจะเห็นว่ามันเบ้ไปทางขวา 2 มิลลิเมตร และนี่คือหน้าที่เราคุ้นเคย

แต่พอถ่ายรูปออกมา กลับกลายเป็นว่าจมูกมัน ผิดที่ผิดทางไปถึง 4 มิลลิเมตร (เบ้ซ้าย 2 มิลแทนที่จะเบ้ขวา 2 มิล) เราก็เลยรู้สึกว่าหน้าเราแปลกๆ และพานคิดว่าถ่ายรูปไม่ขึ้น ในขณะที่คนอื่นเห็นรูปเราแล้วก็บอกว่าปกติดีเพราะเขาคุ้นเคยกับหน้าเราแบบนี้อยู่แล้ว (เหมือนกับที่เราเห็นรูปคนอื่นแล้วก็รู้สึกว่าเขาปกติดีเช่นกัน)

นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่คนชอบเซลฟี่ เพราะนอกจากจะใช้ฟิลเตอร์แล้ว มันยังเป็นหน้าตาที่เราคุ้นเคยมาตลอดอีกด้วย

หากใครเคยเป็นหนึ่งใน 5 ข้อข้างบน หรือมีข้ออื่นๆ เสนอแนะ ก็มาพูดคุยกันได้เลยนะครับ

กาลครั้งหนึ่ง หนังสือ Sapiens เคยขายไม่ออก

Sapiens: A Brief History of Humankind ที่เขียนโดย Yuval Harari เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2016 สำหรับผม จนผมตัดสินใจเขียนถึง Sapiens ลงบล็อกนี้ทุกวันอาทิตย์ติดต่อกันถึง 20 ตอน

Sapiens ขายไปแล้วอย่างน้อย 20 ล้านเล่ม และถ้านับรวมหนังสือทุกเล่มของ Harari ก็ขายไปแล้วกว่า 40 ล้านเล่ม

แต่ทราบมั้ยครับว่า Sapiens นั้นเคยเป็นหนังสือที่ขายไม่ออก และเราเกือบจะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันแล้วด้วยซ้ำ

Tim Ferriss ผู้เขียนหนังสือ 4-Hour Workweek และนักจัดพอดแคสต์ชื่อดัง เคยถาม Harari ว่า “ความล้มเหลวอันไหนที่กลายมาเป็นบันไดสู่ความสำเร็จของคุณในภายหลัง? มีความล้มเหลวที่คุณชอบมากที่สุดมั้ย?” – How has a failure, or apparent failure, set you up for later success? Do you have a favorite failure of yours?

นี่คือคำตอบของ Harari ครับ

“หลังจากที่ผมตีพิมพ์หนังสือ Sapiens ในภาษาฮีบรูจนเป็นหนังสือขายดีในอิสราเอลแล้ว ผมก็คิดว่าคงไม่ยากเกินไปนักที่จะตีพิมพ์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษด้วย

ผมแปลหนังสือด้วยตัวเอง แล้วก็ส่งต้นฉบับไปให้หลายสำนักพิมพ์ได้พิจารณา แต่ทุกเจ้าปฏิเสธผมกลับมาแบบไม่มีเยื่อใย ผมยังเก็บจดหมายปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ใหญ่เจ้าหนึ่งเอาไว้อยู่เลย เพราะข้อความในจดหมายนั้นเขาเขียนแรงเป็นพิเศษ

จากนั้นผมก็เลยพิมพ์เองและขายเอง (self-publish) บน Amazon แต่คุณภาพหนังสือนั้นแย่มาก หนังสือขายได้แค่ไม่กี่ร้อยเล่มเท่านั้น มันทำให้ผมหงุดหงิดอยู่นานเลยทีเดียว

แล้วผมจึงได้ข้อสรุปว่า การทำอะไรด้วยตัวคนเดียวนั้นไม่น่าจะเวิร์ค และแทนที่จะหาทางลัด ผมควรจะยอมไปทางอ้อมและพึ่งมืออาชีพมากกว่า

Itzik สามีของผม [Harari เป็น LGBTQ+] นั้นทำธุรกิจเก่งกว่าผมมาก เขาก็เลยเข้ามาดูแลโปรเจ็คนี้แทน เขาติดต่อเอเย่นต์หนังสือที่เก่งสุดยอดชื่อ Deborah Harris ซึ่งแนะนำให้เรารู้จักบ.ก.มือฉมังอย่าง Haim Watzman ซึ่งมาช่วยผมเขียนและเกลาต้นฉบับ จากการช่วยเหลือของเขาทั้งคู่ ทำให้เราได้ทำสัญญากับ Harvill Secker ซึ่งอยู่ในค่าย Random House และ Michal Shavit ที่เป็นบ.ก.ของที่นั่นก็ช่วยเกลา Sapiens ให้เนียนขึ้นไปอีก และเราก็จ้าง PR agency อิสระที่ดีที่สุดในอังกฤษอย่าง Riot Communications มาช่วยโปรโมตหนังสือให้เรา

ผมตั้งใจเอ่ยชื่อทุกคน เพราะถ้าไม่ได้ความช่วยเหลือจากทีมงานมืออาชีพเหล่านี้ Sapiens ก็ไม่มีทางที่จะเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลกได้ ถ้าไม่มีพวกเขา Sapiens ก็จะเป็นเพียงเพชรที่ยังไม่ได้ถูกเจียรไนและคงไม่ต่างจากหนังสือชั้นดีอีกมากมายที่ไม่มีใครรู้จัก

จากความล้มเหลวในครั้งนั้น ทำให้ผมเข้าใจว่าตัวเองมีข้อจำกัดตรงไหน ทำให้ผมเข้าใจถึงความสำคัญของการขอความช่วยเหลือจากคนเก่งๆ แทนที่จะหาทางลัดสู่ความสำเร็จด้วยตัวเอง


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ Tribe of Mentors by Tim Ferriss

อ่านสรุป Sapiens ทั้ง 20 ตอน