5P ที่เติมเต็มคนทำงาน

หลายคนน่าจะรู้จัก “ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์” (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่มี 5 ขั้นด้วยกันคล้ายๆ กับพีระมิด

ที่ฐานของพีระมิดคือความต้องการทางกายภาพ (physiological) อย่างการหายใจ การกินอาหาร การนอนหลับ การขับถ่าย

ขั้นถัดมา คือความมั่นคงปลอดภัย (safety) ทั้งทางร่างกายและหน้าที่การงาน

ขั้นที่ 3 คือ ความรักและความได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (love and belonging) อยากมีคนที่เราไว้ใจและพร้อมดูแลกัน

ขั้นที่ 4 คือ ความเคารพนับถือ (esteem) ทั้งความนับถือที่มีต่อตัวเองและความนับหน้าถือตาที่ได้รับจากคนรอบข้าง

ขั้นที่ 5 ที่เป็นขั้นสูงสุด คือการได้บรรลุศักยภาพของตนเองในทุกๆ ด้าน (self-actualization)

คุณ Kathleen Hogan เป็น Chief People Officer ที่ Microsoft ซึ่งมีพนักงานถึง 130,000 คน

Hogan มองว่า การจะทำให้คนทำงานแสนกว่าคนรู้สึกว่าถูกเติมเต็ม (fulfillment) ก็น่าจะมีหลักการคล้ายๆ กับ Maslow’s Hierarchy of Needs คือมี 5 ขั้นเหมือนกัน เป็น 5P ที่เรียงจากฐานไปจนถึงยอดพีระมิด

Pay – ค่าตอบแทนเป็นรากฐานที่สำคัญ พนักงานต้องได้เงินเดือนที่ยุติธรรม เหมาะสมต่อความสามารถ และสอดคล้องกับราคาในตลาด

Perks – หรือสวัสดิการ ว่าองค์กรจะสนับสนุนพนักงานในด้านไหนบ้างเพื่อจะทำงานได้อย่างสบายใจ เช่นสิทธิ์วันลา หรือสวัสดิการที่ช่วยดูแลคนในครอบครัว

People – การมีเพื่อนร่วมงานที่ดีคือปัจจัยสำคัญสำหรับความสุขและความสำเร็จในการทำงาน เพราะมันจะส่งเสริมให้เราได้เป็นตัวของตัวเองและพร้อมจะเติบโตไปกับคนอื่นๆ ในองค์กร

Pride – องค์กรที่ดีคือองค์กรที่พนักงานภาคภูมิใจที่จะบอกกับใครๆ ว่าตัวเองทำงานอยู่ที่นี่

Purpose – พนักงานควรจะรู้สึกว่างานที่ตัวเองทำนั้นมีคุณค่าและมีความหมาย และจะยิ่งเพอร์เฟ็กต์ถ้ามันทำให้เขาได้บรรลุจุดมุ่งหมายของตัวเองและทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้น

Pay – Perks – People – Pride – Purpose

หากองค์ไหนมีให้พนักงานครบทั้ง 5P คนในองค์กรย่อมได้รับการเติมเต็มทั้งในฐานะคนทำงานและในฐานะมนุษย์คนหนึ่งครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก Kathleen Hogan: The 5Ps of Employee Fulfillment

องค์กรยุคนี้ควรมีผู้นำ On-Demand

ศัพท์คำหนึ่งที่เราเห็นบ่อยขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือคำว่า on-demand

On-demand printing คือธุรกิจที่รับผลิตสิ่งของตามจำนวนที่เราสั่งในเวลาอันรวดเร็วและในจำนวนที่พอดีกับความต้องการ ต้นทุนจึงไม่จม และเราไม่ต้องแบกสต๊อคเยอะ

On-demand transportation คือบริการเรียกรถเพื่อไปส่งเราให้ถึงที่หมาย

ส่วน On-demand delivery ก็อย่างเช่น food delivery ที่รับสั่งอาหารและส่งให้ถึงบ้าน

คำว่า on-demand คืออะไรที่ทันใจ ตอบโจทย์ และไม่ได้มีภาระผูกมัด

องค์กรยุคใหม่ก็ควรมี on-demand leadership เช่นกัน

องค์กรยุคเดิม จะมีลำดับขั้นและขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งโครงสร้างแบบนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้ว

แต่ในยุค New Normal ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไว มีโจทย์ใหม่ๆ ให้แก้ โดยที่เราไม่แน่ใจว่าโจทย์นี้ใครควรเป็นคนดูแล จนเกิดเป็น grey area และอาจกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง

On-demand leadership จะเข้ามาเติมคำในช่องว่างได้

คนที่เป็น on-demand leader จะมองเห็นว่างานนี้ยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นจึงอาสาขึ้นมาเป็น project manager/project coordinator โดยที่ไม่มีใครแต่งตั้ง

เขาแต่งตั้งตัวเองเพราะสถานการณ์มันจำเป็น และเพราะทนไม่ได้ที่เห็นปัญหาอยู่ตรงหน้าโดยไม่มีใครทำอะไร

On-demand leader ก็เลยสวมบทบาทเป็น owner ของปัญหานี้ นัดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง สรุป actions ที่ชัดเจน และสร้างความคืบหน้าให้กับการหาทางออก

เมื่อถึงจุดที่การแก้ปัญหาเริ่มมีโมเมนตัม หรือผู้บริหารได้มอบหมายให้มีคนดูแลอย่างเป็นทางการ on-demand leader ก็จะลดบทบาทตัวเองลงมาเป็นทีมงานธรรมดาคนหนึ่งเหมือนเดิม

ผู้นำสมัยเก่า ต้องรอการแต่งตั้งจากเบื้องบน และแม้เมื่อผ่านพ้นก็ยังปล่อยวางบทบาทตัวเองไม่ได้

ผู้นำสมัยใหม่ ไม่ต้องรอให้ใครแต่งตั้ง และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็พร้อมจะเดินลงจากเวที

On-demand leadership จึงเป็นอะไรที่ทันใจ ตอบโจทย์ และไม่ได้มีภาระผูกมัด

ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยโจทย์ใหม่อันท้าทายและปัญหาที่ไม่มีใครเคยพบเจอ หากองค์กรใดมีพนักงานที่พร้อมจะเป็น on-demand leader ในจำนวนที่มากเพียงพอ ก็ย่อมจะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ดีกว่าองค์กรอื่นๆ ครับ


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ Impact Players by Liz Wiseman

กฎที่ไม่มีกฎของ Netflix

สำหรับคนที่ติดตามบล็อกนี้เป็นประจำ อาจสังเกตว่าผมจะพูดถึงหนังสือ No Rules Rules ที่เขียนโดย Reed Hastings, CEO ของ Netflix อยู่บ่อยๆ*

ด้วยความที่เนื้องานของผมเป็น HR อยู่แล้ว จึงอินกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ และยกให้เป็นหนังสือ Top 3 ที่ผมได้อ่านในปีนี้

หนึ่งในประเด็นที่ผมชอบมากในหนังสือเล่มนี้คือ Lead with Context, Not Control – จงนำองค์กรด้วยบริบท ไม่ใช่ด้วยการบังคับควบคุม

องค์กรส่วนใหญ่จะใช้ Control ในการกำกับกิจกรรมในองค์กร ทุกสิ่งที่พนักงานทำต้องผ่านการอนุมัติจากหัวหน้า มีกระบวนการมากมายเต็มไปหมดเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดความผิดพลาด ในขณะที่ Netflix นั้น พนักงานมีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจอะไรได้เองโดยไม่ต้องให้หัวหน้าอนุมัติเลย แม้ว่ามันจะเป็นการตัดสินใจเซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ที่ต้องใช้เงินเป็นหลักล้านก็ตาม

สมมติว่าเรามีลูกชายที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นและอยากจะไปปาร์ตี้ที่บ้านเพื่อนคืนวันเสาร์ เราเป็นห่วงว่าลูกจะเมาแล้วขับมั้ย หรือจะนั่งรถเพื่อนที่เมาแล้วขับรึเปล่า เรามีวิธีป้องกันปัญหาได้สองแบบ

1.เรามีสิทธิ์ตัดสินใจได้ว่าปาร์ตี้ไหนบ้างที่ลูกของเราจะไปได้หรือไปไม่ได้ ถ้าเขาอยากจะไปปาร์ตี้บ้านเพื่อน เขาต้องมาอธิบายให้เราฟังก่อนว่าทำไมถึงอยากไปงานนี้ และต้องให้เราได้คุยกับพ่อแม่เจ้าของบ้านด้วย โดยเราต้องการความมั่นใจว่าจะมีผู้ใหญ่อยู่ที่บ้านคอยดูแลพวกเด็กๆ เวลาปาร์ตี้ เมื่อเราอนุญาตให้ไปแล้ว เราก็ให้ลูกลงแอปที่เอาไว้แทร็คโลเคชั่นของลูกเพื่อให้แน่ใจว่าเขาไปแค่ที่นี่ที่เดียว นี่คือวิธีการ Lead with Control

2.อีกวิธีคือนั่งคุยกับลูก อธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมวัยรุ่นถึงดื่มเหล้า และอันตรายที่มาพร้อมกับการเมาแล้วขับนั้นมีอะไรบ้าง เราเอาเหล้าแต่ละชนิดมารินใส่แก้วแล้วให้ลูกลองดื่มดูเพื่อเขาจะได้รู้ว่ากินแค่ไหนถึงจะมึน แค่ไหนถึงจะเมา และแค่ไหนถึงจะเมาเละเทะจนจำอะไรไม่ได้ เราเปิด Youtube ให้เขาดูว่าพอเมาแล้วขับนั้นมันมีผลลัพธ์อะไรตามมาบ้าง เมื่อเรามั่นใจว่าลูกเข้าใจผลกระทบของการเมาแล้วขับ เราก็ปล่อยให้ลูกเลือกได้เองว่าจะไปปาร์ตี้ที่ไหนบ้าง นี่คือการ Lead with Context

แน่นอนว่าเราจะเลือกทางไหนขึ้นอยู่กับว่าลูกชายของเราเป็นเด็กแบบไหน ถ้าที่ผ่านมาเขาเป็นเด็กเกเรและไม่ค่อยมีวิจารณญาณ เราก็อาจจะจำเป็นต้องใช้วิธีแรก แต่ถ้าลูกของเราเฉลียวฉลาดและมีความเป็นผู้ใหญ่พอ เราก็สามารถเลือกใช้วิธีที่สองได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เขาตัดสินใจได้ดีเรื่องการไปปาร์ตี้แล้ว ยังทำให้เขาเป็นคนที่สามารถตัดสินใจได้ดีในสถานการณ์อื่นๆ อีกด้วย

กับที่ทำงานก็เช่นกัน ถ้าเรามีพนักงานที่ฉลาดและมีวิจารณญาณที่ดี การ Lead with Context ก็น่าจะถูกจริตเขามากกว่า เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเคารพในตัวเขาและเราให้เขาได้มีอิสรภาพและความรับผิดชอบ (freedom and responsibility) กับทุกงานที่เขาได้รับมอบหมายครับ


* หนังสือ No Rules Rules มีผู้เขียนร่วมคือ Erin Myer ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ INSEAD ซึ่งโด่งดังด้านหลักสูตร MBA