- ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนของฟินแลนด์ลดลงถึง 50%
- ปี 2019 ฟินแลนด์เป็นข่าวไปทั่วโลกเพราะเป็นปีที่ไม่มีการเสียชีวิตของคนเดินเท้าหรือคนขี่จักรยานเลยแม้แต่คนเดียว
- ปี 2021 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 219 คน คิดเป็น 4 คนต่อประชากร 1 แสนคน น้อยกว่าอเมริกาสองเท่า และน้อยกว่าเมืองไทย 8 เท่า (32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน)
- เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ มีประชากร 1.3 ล้านคน การเดินทางเข้าเมืองนั้น 25% ใช้การเดินเท้า 9% ผ่านขนส่งมวลชน และ 7.5% ทางจักรยาน (ที่เหลือคือการขับรถส่วนตัว)
- ในปี 1970 เขตตัวเมืองจะจำกัดความเร็วอยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในช่วงปี 2000’s ลดลงเหลือ 40 ก.ม.ต่อชั่วโมง และในตอนนี้ถนนกว่าครึ่งหนึ่งในตัวเมืองจำกัดความเร็วเพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
- ถนนหลายเส้นจงใจออกแบบให้มีช่องจราจร (เลนรถ) ที่แคบลงด้วย พอเลนแคบคนก็จะไม่กล้าขับเร็วโดยปริยาย นอกจากนี้ยังมีการใช้ต้นไม้และพุ่มไม้เพื่อให้คนขับรถช้าลงอีก ส่งผลให้จำนวนคนขี่จักรยานและคนเดินเท้าที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง 75% ระหว่างปี 2005 ถึง 2020
- ในเฮลซิงกิมีกล้องตรวจจับความเร็วประมาณ 35 ตัว ใครที่ขับรถเร็วเกินกำหนดไปมากกว่า 20 ก.ม.ต่อชั่วโมง (เช่นขับ 51 ก.ม.ต่อชั่วโมงในเขตที่จำกัดความเร็วไว้ที่ 30 ก.ม.ต่อชั่วโมง) จะโดนปรับอย่างน้อย 200 ยูโรหรือประมาณ 7,500 บาท
- แต่สิ่งที่ทำให้ฟินแลนด์ไม่เหมือนใครก็คือค่าปรับจะสูงขึ้นตามรายได้ของผู้ฝ่าฝืน ในปี 2002 มีผู้บริหารของโนเกียคนหนึ่งโดนค่าปรับไป 116,000 ยูโรหรือ 4 ล้านบาท เพราะขับมอเตอร์ไซค์เร็ว 75 ก.ม.ต่อชั่วโมงในเขตจำกัดความเร็ว 50 ก.ม.ต่อชั่วโมง
- ทุกครั้งที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนจนมีผู้เสียชีวิต (ย้ำว่าทุกครั้ง) จะมีคณะกรรมการศึกษาอุบัติเหตุครั้งนั้นอย่างจริงจัง โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งผู้บังคับใช้กฎหมาย งานวางผังการจราจร พฤติกรรมมนุษย์ และงานสาธารณสุข เมื่อศึกษาเสร็จแล้ว คณะกรรมการจะออกรายงานที่เปิดเผยต่อสาธารณชนซึ่งมักจะนำไปสู่การแก้ไขนโยบาย การปรับปรุงถนน และสัญญาณไฟจราจร
ขอบคุณข้อมูลจาก Bloomberg How Finland Put Traffic Crashes on Ice