เมื่อนักการเมืองร้องเพลงร็อคและแม่บ้านส่องกระจก

เมื่อตอนต้นสัปดาห์ ผมเห็นคลิปไวรัลที่น.ต.ศิธา ทิวารี ขึ้นเวทีร้องเพลงในผับ

แถมเพลงที่ร้องก็คือเพลง “คุกเข่า” ของวง Cocktail ที่แม้จะไม่ได้ใหม่มากนัก แต่ก็เป็นเพลงที่ถือว่ายัง “วัยรุ่น”

ณ วันที่เขียนบทความ คลิปร้องเพลงคุกเข่าถูกแชร์ใน TikTok 10,000 ครั้ง และในเฟซบุ๊คของคุณศิธาอีก 11,000 ครั้ง

ผมเดาว่าที่คลิปนี้เป็นที่ถูกใจเพราะเป็นภาพที่ไม่คุ้นตา ไม่คิดว่านักการเมืองรุ่นใหญ่จะมากินเหล้าร้องเพลงอยู่ในผับเดียวกับ “คนธรรมดา” อย่างพวกเราได้


เมื่อได้ดูคลิปนี้ มันทำให้ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างที่ผมไปเดินเล่นรอบหมู่บ้านตอนเช้าตรู่

ผมเดินผ่านคลับหน้าเฮาส์ของหมู่บ้าน ที่ข้างในมีสระว่ายน้ำและห้องฟิตเนส

ตรงห้องฟิตเนส จะมีเครื่องเล่นเวท และมีกระจกทรงสูงอันหนึ่งติดอยู่ตรงกำแพงเพื่อให้คนที่มาเล่นเวทได้เห็นตัวเองว่าทำท่าถูกต้อง

จากระยะไกล ผมมองเห็นผู้หญิงคนหนึ่งยืนอยู่หน้ากระจก

ไม่ใช่คนที่มาออกกำลังกาย แต่เป็นแม่บ้านประจำคลับเฮาส์ อายุประมาณห้าสิบต้นๆ ผิวสีเข้ม ยืนส่องกระจกและหวีผมตัวเองอยู่อย่างพิถีพิถัน

เป็นภาพที่ผมไม่คุ้นตา เพราะทุกครั้งที่ผมเจอพี่แม่บ้านคนนี้ที่คลับเฮาส์ จะเป็นตอนที่เขากำลังถูพื้นอยู่เสมอ

การได้เห็นเขายืนส่องกระจก ทำให้ผมตระหนักได้ว่า ผู้หญิงย่อมรักสวยรักงาม ไม่ว่าเขาจะทำอาชีพอะไรก็ตาม


Wikipedia ได้อธิบายคำว่า “การเหมารวม” ไว้ดังนี้

“การเหมารวม[1] (อังกฤษ: Stereotype) คือ คตินิยมหรือทัศนคติของสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่น ชาติอื่น หรือลักษณะของบุคคลบางประเภทจนกลายเป็นมาตรฐาน”

กับบางอาชีพ เรามีภาพจำค่อนข้างชัด เมื่อภาพมันชัดและเกิดขึ้นซ้ำๆ จึงเกิดการเหมารวมไปโดยปริยาย

แขกในร้านขึ้นเวทีร้องเพลงในผับเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราแปลกใจเพราะเขาเป็นนักการเมือง

ผู้หญิงยืนหวีผมหน้ากระจกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผมแปลกใจเพราะว่าเขาเป็นแม่บ้าน

เมื่อเราเห็นภาพที่ขัดกับ stereotype จึงเกิดความรู้สึกประหลาดขึ้นในใจ ก่อนจะคิดได้ว่าเขาเองก็เป็นคนธรรมดา

การมองให้เห็นว่าคนอื่นเป็นคนธรรมดานั้นสำคัญมาก

เพราะด้วยกระแสการเมืองที่ร้อนแรง เศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง และ social media ที่คอยขยายเสียงให้กับเรื่องที่เป็นดราม่า เรามีแนวโน้มที่จะมอง “อีกฝ่าย” แบบเหมารวม ว่าเป็นคนใช้ไม่ได้ เป็นคนประสงค์ร้าย เป็นคนไม่ฉลาด

การเหมารวมช่วยให้สมองเราไม่ต้องทำงานหนัก เพราะมันช่วย simplify คนกลุ่มหนึ่งให้อยู่ใน “กล่อง” ที่เรากำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน และช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองว่าฉลาดกว่าหรือคุณธรรมสูงกว่า

แต่การเหมารวมนั้นมีจุดอ่อนสำคัญ เพราะว่ามันจะทำให้เราหลงลืม “ความเป็นมนุษย์” ของคนคนนั้น

เมื่อเราหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวคนอื่น เราก็จะหลงลืมความเป็นมนุษย์ในตัวเราเช่นกัน

วิจารณญาณย่อมถดถอย อคติย่อมยึดครอง มองแต่ไม่เห็น ฟังแต่ไม่ได้ยิน

หากเราสามารถมองคนให้เต็มคน เราจะเห็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ต่างจากเรา มนุษย์ที่มีหลายมิติเกินกว่าจะนิยามได้ด้วย “กล่อง” ใดๆ

เมื่อเรามองเห็นคนธรรมดา ภาพต่างๆ เหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ควรประหลาดใจ

พลเอกไปรับหลานที่โรงเรียนอนุบาล คนเก็บขยะอ่านหนังสือ non-fiction

ดารานั่งจิบชาคุยกันเรื่องศาสนา อดีตศาลฏีกานั่งกินก๋วยเตี๋ยวริมทาง

คุณพ่อเลี้ยงลูกอยู่บ้าน คุณแม่ขึ้นกล่าวปาฐกถางานประชุมที่เมืองนอก

นักการเมืองร้องเพลงร็อค และแม่บ้านส่องกระจกครับ

ถ้อยคำที่ผ่านเข้ามาหลังวันเลือกตั้งปี 66

ถ้อยคำที่ผ่านเข้ามาหลังวันเลือกตั้งปี 66

ถ้อยคำแรก จาก Nassim Nicholas Taleb ในหนังสือ Skin in the Game ปี 2018

“You will never fully convince someone that he is wrong; only reality can.”

เราไม่อาจโน้มน้าวใครได้หรอกว่าเขาคิดผิด ต้องรอให้ความจริงพิสูจน์ตัวมันเอง


อีกหนึ่งถ้อยคำ มาจากคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของ openbooks ที่เคยมาพูดให้ Wongnai WeShare เมื่อสิงหาคม 2019

[ถาม]: เวลาอ่านหนังสืออย่างปัญญาอนาคต อ่านบทสัมภาษณ์คุณภิญโญ หรือดูวีดีโอที่คุณภิญโญให้สัมภาษณ์ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ ก็คือคุณภิญโญดูจะโปรคนรุ่นใหม่ (pro – เข้าข้าง) คำถามก็คือทำไมต้องโปรคนรุ่นใหม่ด้วยครับ แล้วคนรุ่นเก่าอยู่ที่ไหนในสมการของอนาคต

[ตอบ]: ที่ต้องโปรคนรุ่นใหม่มากเพราะคนรุ่นเก่าโปรตัวเองกันเยอะไปแล้ว หลงใหลในความรุ่งเรืองในอดีตของตัวเองมากจนเกินไป คนรุ่นเก่ามีอำนาจอยู่ในมือเพราะว่าอยู่ที่นี่มานาน เมื่ออยู่มานานก็มีอำนาจเยอะ แล้วก็ไม่อยากสูญเสียอำนาจนั้นไป

อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตลูกหลาน อำนาจในการตัดสินใจบงการชีวิตอนาคตธุรกิจ อำนาจในการตัดสินใจบงการอนาคตการเมือง อำนาจในการกำหนดนโยบายอนาคตของประเทศ

ซึ่งถ้าท่านผู้มีเกียรติเหล่านั้น รวมทั้งรุ่นผมหรือตัวผมด้วยทำได้ดี เราคงอยู่ในประเทศที่พัฒนาก้าวหน้ามีความสุขสะดวกสบายอิ่มหนำสำราญใกล้ๆ ยุคพระศรีอาริย์เข้าไปเต็มที จากเพชรบุรีตัดใหม่บ้านผมมาถึงสุขุมวิทคงไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงอย่างนี้ เมื่อกี้ต้องลงจากรถเพื่อนั่งมอเตอร์ไซค์มา ระยะทางมันแค่ 2 กิโล นี่คือผลงานของคนรุ่นเก่าที่ทำเอาไว้หรือไม่ได้ทำเอาไว้

ฉะนั้นคนรุ่นผมถือเป็นคนรุ่นเก่า มีประโยชน์อะไรที่จะมาชมเชยตัวเอง ถ้าเราทำดีไว้ในอดีตที่ผ่านมา เราคงไม่ต้องส่งมอบสังคมที่ทำให้ลูกหลานต้องลำบากแบบนี้ ถ้าเราใช้เวลา 20 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ผมเริ่มทำงานหรือ 30 ปีที่ผ่านมาสำหรับคนรุ่นที่กำลังจะเกษียณ ทำงานอย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพและทำในวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง เราจะส่งมอบสังคมที่น่าอยู่ ความขัดแย้งต่ำ แล้วทุกคนมองเห็นอนาคตร่วมกันได้ให้กับลูกหลาน ซึ่งก็คือทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ แล้วลูกหลานจะไม่มีคำถามย้อนกลับมาที่เรา

ผมว่าคนรุ่นผมต้องทำความผิดพลาดอะไรบางอย่าง หรือไม่ได้ทำบางอย่างให้ดี มันจึงไม่ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลที่เราต้องละวางอดีต ละวางคนรุ่นเก่าไว้ เพราะว่ามีอำนาจ แต่ไม่สามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะให้คนรุ่นใหม่อยู่อาศัยและเดินทางต่อไปสู่อนาคตได้

คำถามคือ แล้วถ้าผมอยู่ตรงกลาง ผมควรที่จะไปยึดอดีต แล้วโปรคนมีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว มีทรัพยากรล้นฟ้าอยู่แล้ว หรือผมควรจะหันหน้ากลับมาสนทนากับคนรุ่นใหม่แล้วบอกว่านี่คือปัญหาที่คนรุ่นผมสร้างมา หรือว่าไม่ได้สร้างมาแต่เราล้มเหลว เราทำไม่สำเร็จ

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ผมขอฝากอนาคตไว้กับคนรุ่นใหม่ แล้วทำสิ่งที่มันดีขึ้นให้กับประเทศนี้ ไม่งั้นผมจะอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปได้อย่างไร

คนรุ่นผมเหลือเวลาไม่มากในการมีชีวิตอยู่ ความหวังก็คือหวังว่าคนรุ่นใหม่จะสร้างสังคมที่ดีขึ้น กำลังเราเหลือน้อย ปัญญาเราเหลือน้อย เราจำเป็นต้องฝากชีวิตเราไว้อยู่ในมือคนรุ่นใหม่ทุกท่าน

เราต้องให้ปัญญา ให้กำลัง ให้ทรัพยากร และให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมสร้างสังคมที่ดี เราจำเป็นต้องอยู่อาศัยในสังคมนี้ ถ้าคนรุ่นใหม่ทำไม่สำเร็จ เราจะไม่เหลือใครที่มีกำลังพอที่จะแบกรับอนาคตของประเทศชาตินี้ไว้ได้เลย…ซึ่งนี่จะเป็นเรื่องที่น่าขมขื่นมาก…พูดแล้วน้ำตาจะไหลนึกออกไหมครับ…

…ไหลมาเอง ไม่ได้ตั้งใจ…ขออภัย…

นี่คืออารมณ์ของสังคมตอนนี้ ผมว่ามันเป็นอารมณ์ที่อัดอั้นอยู่ในหัวใจคนไทย ที่ผมพูดอย่างนี้น้ำตามันไหลออกมาเอง ไม่ได้ตั้งใจจะดราม่า แต่คำถามมันโดนใจ

ถ้าเราไม่ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่ ใครจะสร้างอนาคตให้ประเทศไทย ผมดีใจมากที่มีโอกาสได้มาพูดกับทุกท่านในวันนี้ ขอบพระคุณที่ให้เกียรติ อยากมาพูดกับคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่า อยากมาพูดกับ startup ที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่าพูดกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ต้องปรับตัวอะไรอีกแล้ว เพราะทุกท่านคือความหวังของคนรุ่นผม

ผมจึงพยายามกำลังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ช่วยมีความมั่นใจและสร้างอนาคต เดินทางต่อไปเถอะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก คนรุ่นผมฝ่าฟันกันมาเยอะ ทำสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ สำเร็จบ้างก็มี ผลงานไม่ได้มากมายนัก แต่ประเทศนี้จะเดินทางต่อไปสู่อนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความยากลำบากขนาดนี้ได้ ไม่มีใครที่จะฟันฝ่าไปได้นอกจากคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะฟันฝ่าไปให้ได้

คนรุ่นใหม่คือบริษัทเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมา คือวงในและอื่นๆ อีก 500 บริษัท นี่ผมใช้คำเปรียบเปรย ห้าร้อยไม่ได้หมายถึงตัวเลข 500 นะ ห้าร้อยมาจากทหารพระเจ้าตาก ทหารเสือที่ฟันฝ่าและสร้างธนบุรีให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้

วันนี้เราต้องการ 500 ธุรกิจต้องการ 500 ชีวิตต้องการ 500 ผู้มีวิสัยทัศน์เพื่อที่จะสร้างอนาคตให้มันเดินต่อไปได้ ไม่งั้นเราจะอยู่อย่างไร เราจะส่งมอบอนาคตแบบไหนให้กับสังคมไทย คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจว่าประเทศมันต้องสร้างด้วยคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือให้ทรัพยากร ให้เวลา ให้ปัญญา ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศนี้ในทุกๆ ภาคส่วน เศรษฐกิจ สังคม การเงิน วัฒนธรรม ศิลปะ ต้องให้เขาสร้าง ต้องเปิดโอกาส อย่ากดสังคมนี้ไว้อีกต่อไป มันเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว

อย่าใช้อำนาจเป็นตัวนำสังคม ให้ใช้ปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ให้เขาได้มีโอกาสสร้างอนาคตให้กับประเทศในวันที่มันพอจะสร้างได้ เพราะในวันที่มันสร้างไม่ได้ เราเหลือกลยุทธ์เดียวคือเราต้องหนี อย่าให้คนรุ่นใหม่ อย่าให้เยาวชนต้องหนีจากประเทศนี้ไป

ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งความหวัง ให้ประเทศนี้เป็นดินแดนแห่งอนาคต ไม่ใช่เป็นดินแดนที่ถูกอดีตกดทับ แล้วเราต้องอยู่กับความทรงจำกับความรุ่งเรืองในอดีตที่จางหายไปแล้วแต่คุณยังไม่ตระหนัก

นี่คือทำไมผมต้องคุยกับคนรุ่นใหม่ ผมจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในอนาคตที่คนรุ่นใหม่สร้าง ฉะนั้นไม่มีทางที่ผมจะปฏิเสธกำลัง ความคิด ความฝันของคนรุ่นใหม่ ผมมีหน้าที่ต้องให้เวลา พลังงาน ปัญญากับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เขาทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อให้พวกคุณทุกท่านทำหน้าที่อย่างดีที่สุด แล้วผมจำเป็นต้องฝากชีวิตน้อยๆ ของผมอยู่ในสังคมที่สร้างโดยคนรุ่นใหม่ นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจนที่สุด แล้วจำเป็นต้องเปิดโอกาสทางสังคม ต้องทำให้สังคมตระหนักรู้ได้ว่า เราคนรุ่นเก่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ในทุกมิติได้แล้ว หยุดการครอบงำสังคมด้วยอคติและความทรงจำเดิมๆ และความสำเร็จในอดีตของเราเสียที

(เสียงปรบมือยาวนาน)

[ถาม]: คราวนี้จะทำยังไงดี ในเมื่อคนรุ่นเก่าเขาไม่เห็นความจำเป็นต้องหลีกทาง ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กๆ 500 คน

[ตอบ]: เรื่องแบบนี้ตอบง่ายที่สุดและสั้นที่สุด ท่านท่องไว้หนึ่งคำ 3 ครั้ง disruption, disruption, disruption

สวดมนต์ไว้ disruption, disruption, disruption

คุณไม่มีทางไปร้องขออำนาจหรือความเปลี่ยนแปลงจากคนที่หวงอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลง คุณขอสิ่งที่เขาไม่อยากให้มากที่สุดได้อย่างไร สิ่งที่คนรุ่นเก่าหวงมากที่สุดก็คืออำนาจ สิ่งที่คนรุ่นเก่ากลัวมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลง คืออยากจะรักษาอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงคือการสูญเสียอำนาจในทุกๆ มิติ

ฉะนั้นสิ่งเดียวที่คุณจะทำได้คือการ disruption สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ โดยไม่ต้องร้องขออำนาจ เมื่อคุณ disruption ไปทีละจุด ทีละจุด ทีละจุด 500 จุดหรือมากกว่าไปเรื่อยๆ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง โดยที่คนรุ่นเก่าก็ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วค่อยๆ ถอยออกจากบทบาทที่ตัวเองยืนอยู่

คลื่นลูกใหม่ย่อมเข้ามาแทนที่คลื่นลูกเก่า คลื่นลูกใหม่ไม่เคยขอร้องให้คลื่นลูกเก่าหลีกทางให้ แต่คลื่นลูกใหม่สร้างตัวเองเข้าสู่ชายหาดเรื่อยๆ เราเป็นต้นไม้เล็กๆ ต้องหาทางที่จะหลบร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ เพื่อเตรียมตัวเข้าไปหาแสงแล้วเติบโตขึ้นมา แม้ว่ามันจะบิดงอไปตามทิศทางของแสง แต่ในเมื่อมันเติบใหญ่ขึ้นมาได้ แม้ว่าจะบิดงอ ยากที่จะเหยียดยืนหยัดตรงเป็นต้นไม้เหมือนรุ่นเก่า แต่มันก็จะเติบโตขึ้นมาได้แล้วกลายเป็นป่าแห่งใหม่

อย่าร้องขอ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเป็นด้วยตัวของคุณเอง แล้วใช้พลังของการ disruption สร้างมันขึ้นมาทุกจุดในสังคม แล้วสังคมจะเปลี่ยน อยากทำงานธุรกิจสร้างธุรกิจ อยากทำงานวัฒนธรรมสร้างวัฒนธรรมใหม่ อยากทำงานสังคมสร้างสังคม อยากทำงานการเมืองสร้างการเมือง อยากเขียนหนังสือเขียนหนังสือ อยากทำอะไรทำ ใช้พลังแห่งความเชื่อมั่น disrupt มันไปทีละส่วน แล้วสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากความเปลี่ยนแปลงมวลรวมของปัจเจกชนขึ้นมาได้

ยากที่เราจะหา platform และฉันทามติร่วมกันในเวลานี้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งหมด รอไปถึงชาติหนึ่งก็อาจจะไม่เปลี่ยน แต่ง่ายกว่าที่ปัจเจกชนจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแล้วเปลี่ยนแปลงทีละจุด เปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วจึงเปลี่ยนแปลงผู้อื่น เปลี่ยนแปลงธุรกิจแล้วก็เปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงสังคมแล้วค่อยไปเปลี่ยนแปลงโลก อย่าคิดเปลี่ยนแปลงโลกแล้วย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ฉะนั้นง่ายสุดคือลงมือทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่น อย่าสูญเสียความเชื่อมั่นที่มีต่อตนเอง อย่าสูญเสียศรัทธาที่มีต่อตนเอง อย่าหมดหวังกับตนเอง อย่าหมดหวังกับประเทศ ถ้ามีความหวังกับตัวเอง มีความหวังกับสังคม เราจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงสังคมแล้วเปลี่ยนแปลงประเทศได้ เราไม่มีโอกาสหมดหวังกับประเทศนี้ เราไม่มีโอกาสหมดหวังกับสังคม เพราะเราจะไม่มีประเทศและไม่มีสังคมให้เราเดินต่อไปได้

คนรุ่นผมอาจจะต้องขออภัยที่ไม่สามารถส่งมอบสังคมในอุดมคติให้กับคนรุ่นใหม่ได้ แต่ผมหวังว่าคนรุ่นคุณจะสามารถแผ้วถางทางสร้างธุรกิจ สร้างสังคมวัฒนธรรมใหม่ที่ดีกว่าเพื่อสร้างสังคมให้คนรุ่นลูกหลานของคุณใน 20 ปีข้างหน้า แล้วคุณคือคนที่จะมานั่งคุยอยู่ตรงนี้ในอนาคต แล้วบอกกับคนรุ่นหลังว่า เราได้พยายามเต็มที่แล้ว”

มุมมองการอ่านหนังสือของผมในปี 2023

แฟนผมบอกว่าผมเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะเป็นพิเศษ เยอะแบบผิดปกติ

ถ้ามองย้อนกลับไป น่าจะมีปัจจัยอยู่สามข้อ

  1. ตอนเด็กๆ พ่อผมเป็นคนอ่านหนังสือเยอะเหมือนกัน ครอบครัวผมฐานะปานกลาง จึงแทบไม่เคยซื้อของเล่นราคาแพงหรือกินอาหารร้านหรู แต่สิ่งเดียวที่พ่อแม่ผมไม่เคยประหยัดเลยคือการซื้อหนังสือให้ลูก
  2. ตอนมัธยมปลายผมไปเรียนนิวซีแลนด์ซึ่งมีฟรีทีวีมีแค่สามช่อง รายการเดียวที่ดูได้คือซิตคอม Friends เวลาว่างเหลือเยอะ เลยขนหนังสือจากเมืองไทยไปอ่านที่นั่น และสมัครสมาชิกมติชนสุดสัปดาห์เพื่อติดตามข่าวสารในเมืองไทย
  3. ตอนที่รถไฟใต้ดินเปิดทำการ ผมเปลี่ยนวิธีการเดินทางไปทำงาน จากที่เคยขับรถไปจอดสวนลุมไนท์บาซ่าร์และเดินไปตึกอื้อจื่อเหลียง ผมเปลี่ยนเป็นขึ้นรถไฟฉึกฉักจากสถานีหัวหมากไปลงที่หยุดรถอโศก เดินไปขึ้นรถใต้ดินสถานีเพชรบุรีตัดใหม่แล้วลงที่สถานีลุมพินี – 80% ของเวลาเดินทางจึงสามารถใช้อ่านหนังสือไปด้วยได้ แต่ที่ได้อ่านเยอะที่สุดคือตอนรอรถไฟฉึกฉักเพราะมักจะมาสาย 15-30 นาทีเสมอ (สมัยนั้นยังไม่มี smartphone ด้วย เลยไม่มีอย่างอื่นให้ดู)

เมื่อหนังสือคือส่วนสำคัญของชีวิต ผมก็เลยมีเวลาได้ขบคิดและเรียนรู้จากคนอื่นเรื่องการอ่านหนังสือ และคิดว่าบางมุมมองน่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่ติดตาม Anontawong’s Musings เลยขอนำมาแชร์ไว้ตรงนี้ครับ

  • Naval Ravikant นักลงทุน VC ชื่อดังบอกว่าการนั่งนับจำนวนหนังสือที่อ่านจบคือการวัดผลที่เปล่าดาย “The number of books completed is a vanity metric. As you know more, you leave more books unfinished.
  • ได้ยินครั้งแรกผมก็รู้สึกค้านในใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงเริ่มมองเห็นว่าทำไมเราไม่ควรตั้งเป้าว่าเดือนนึงหรือปีนึงจะอ่านหนังสือได้กี่เล่ม เพราะเมื่อเราตั้งเป้าเป็นจำนวนหนังสือที่จะอ่านให้จบ สิ่งที่อาจตามมาจะมีดังนี้
  • เราจะให้เวลากับการอ่านหนังสือที่อ่านง่ายๆ เพราะอยากทำตัวเลข
  • เราจะไม่ค่อยอ่านหนังสือหนาๆ หรือหนังสือยากๆ เพราะใช้เวลาเยอะเกินไป กว่าจะอ่านจบอาจกินเวลา 1-2 เดือน
  • เราจะไม่อ่านหนังสือดีๆ ซ้ำสองรอบ ทั้งที่หนังสือบางเล่มมีความลึกซึ้ง และการอ่านรอบสองจะได้ประโยชน์มากกว่าการอ่านรอบแรก
  • เราจะมีแนวโน้มที่จะอ่านหนังสือในกระแส หนังสือออกใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ใช่หนังสือที่มีคุณค่าเสมอไป
  • Ravikant ยังบอกอีกว่า แทนที่เขาจะอ่านหนังสือ 100 เล่ม เขาอยากอ่านหนังสือระดับตำนาน 10 เล่มจบ 10 รอบมากกว่า ผมว่า Ravikant อาจจะพูดเกินเลยไปบ้าง แต่ก็เข้าใจประเด็นว่าปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ
  • Nassim Taleb ผู้เขียน The Black Swan, Antifraigle และ Skin in the Game บอกว่าเขาไม่ชอบไปโรงเรียน และคนที่สอบได้คะแนนดีๆ นั้นมักจะรู้ดีแต่เรื่องที่อยู่ในหนังสือเรียน
  • แต่ Taleb ชอบอ่านหนังสือที่หลากหลาย เขาเกิดในเลบานอนและโตมาในยุคที่มีสงครามกลางเมือง เลยใช้เวลาส่วนใหญ่ขลุกอยู่แต่กับหนังสือเพราะออกไปไหนไม่ค่อยได้
  • Taleb ไม่เคยจดว่าตัวเองอ่านหนังสือจบไปกี่เล่ม แต่จะจดว่าแต่ละวันอ่านหนังสือไปกี่นาที/กี่ชั่วโมง
  • สำหรับคนที่ชอบทำสถิติหรือจดตัวเลข ผมคิดว่าการเอา “ระยะเวลาที่ใช้อ่านหนังสือในแต่ละวัน” น่าจะเป็น KPI ที่มีความเป็นกลางมากกว่า และจะช่วยคลี่คลายปัญหาที่ผมกล่าวถึงด้านบนได้ (อ่านแต่หนังสือง่ายๆ ไม่อ่านหนังสือยากๆ ไม่อ่านซ้ำทั้งที่ควรอ่าน) เพราะเราไม่สนใจจำนวนเล่มที่อ่านจบอีกต่อไป สนใจแต่ว่าเราได้ใช้เวลากับการอ่านมากน้อยแค่ไหน
  • Taleb ยังแนะนำอีกว่าอย่าอ่านหนังสือที่ใหม่กว่า 10 ปี เพราะไม่รู้ว่ามันดีจริงรึเปล่า ถ้าอีก 10 ปียังมีคนพูดถึงอยู่เราค่อยอ่านก็ยังไม่สาย ส่วนหนังสือที่อายุเกิน 100 ปี หรือ 1000 ปียิ่งควรอ่าน เพราะมันได้รับการกลั่นกรองจากกาลเวลามาแล้ว
  • ผมเคยเขียนบทความ “ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ” โดยยกตัวอย่าง “พี่เล้ง” ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ที่ได้ไอเดียสดใหม่ในการบริหารคนและองค์กรจากการอ่านคัมภีร์เต้าเต๋อจิง
  • อีกประเด็นนึงสำหรับหนังสือเก่า ก็คือสมัยก่อนนั้นการทำหนังสือสักเล่มต้นทุนสูงมากถึงมากที่สุด (เรากำลังพูดถึงยุคก่อนที่ Gutenberg จะปฏิวัติการผลิตหนังสือ) ดังนั้นหนังสือเก่าแก่จึงจำเป็นต้องเขียนให้กระชับ เนื้อๆ เน้นๆ เพื่อจะได้มี waste ให้น้อยที่สุด
  • มองกลับมาสมัยนี้ ที่ใครจะสร้าง content อะไรที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้โดยแทบจะไม่มีต้นทุน (เช่นบทความนี้!) สิ่งที่เขียนออกมาอาจมีเนื้อหาที่ไม่ได้เข้มข้นเท่ากับหนังสือเก่าแก่
  • ส่วนหนังสือใหม่ที่อยู่ในกระแส ใครๆ ก็อ่านกัน เมื่อเราอ่านหนังสือเหมือนกับคนอื่น เราก็จะคิดเหมือนกับคนอื่น ซึ่งจะทำให้เราขาด edge หรือข้อได้เปรียบ
  • ไม่ได้แปลว่าหนังสือใหม่ไม่ควรอ่านเลยนะครับ เพียงแต่ควรจะเลือกให้ดีๆ เท่านั้นเอง หนังสือเล่มโปรดของผมหลายเล่มก็ได้อ่านตั้งแต่ตอนออกใหม่ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Sapiens, The Psychology of Money หรือ Four Thousand Weeks.
  • อีกเคล็ดลับหนึ่งที่ทำให้ Taleb อ่านหนังสือได้เยอะๆ ก็คือถ้าหนังสือเล่มไหนน่าเบื่อเขาจะเลิกอ่านทันที – Life is too short to be reading a boring book.
  • แต่เราต้องไม่สับสนระหว่างหนังสือน่าเบื่อกับหนังสืออ่านยาก อย่างหนังสือของ Taleb ทุกเล่มนั้นอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันจะมีอะไรบางอย่างที่ดึงให้เรากลับไปอ่านต่อและใช้เวลาทำความเข้าใจกับมัน (ซึ่งถ้าเราตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนเล่มของหนังสือที่จะอ่านให้จบ เราก็อาจไม่พร้อมที่จะใช้เวลากับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งได้นานๆ ซึ่งผิดกับการตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เวลาอ่านหนังสือวันละกี่นาที)
  • แต่ก่อนผมเคยมีกติกาว่าถ้าอ่านหนังสือแล้วก็อยากอ่านให้จบ และไม่ควรอ่านหนังสือพร้อมกันเกิน 3 เล่มไม่อย่างนั้นจะอ่านไม่จบสักเล่มเดียว
  • อาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจ Nopadol’s Story เคยตั้งข้อสังเกตว่าการที่เราทนอ่านหนังสือไม่ดีให้จบถือเป็น sunk cost fallacy อย่างหนึ่ง
  • เดี๋ยวนี้หนังสือที่ผมอ่านไม่จบจึงมีมากกว่าหนังสือที่ผมอ่านจบ มีความรู้สึกผิดอยู่บ้างแต่ก็เริ่มชินแล้ว
  • อีกหนึ่งความรู้สึกผิดที่คนรักหนังสือชอบมีกันก็คือ “กองดอง” ขนาดมหึมา แต่พอมีงานหนังสือทีไรก็อดไม่ได้ที่จะซื้อมาทำให้กองดองมันใหญ่ขึ้นไปอีก
  • Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks เคยเขียนบทความชื่อ “Treat your to-read pile like a river, not a bucket” – ให้มองว่าหนังสือคือแม่น้ำที่เราเลือกจะตักน้ำขึ้นมาดื่มเมื่อไหร่ก็ได้ อย่าไปมองว่ามันคือถังน้ำที่เราต้องคอยเทน้ำออกให้หมด
  • เมื่อเราไม่ได้มองการอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่ “ต้องทำ” แบบเดียวกับที่เรามอง to do list แต่เป็นเพียงทางเลือกในการใช้เวลาและพักผ่อนหย่อนใจ ความรู้สึกผิดต่อกองดองก็จะมีน้อยลง
  • วิธีที่จะอ่านหนังสือได้มากขึ้นคือการไม่เอามือถือเข้าห้องน้ำ
  • เวลาอ่านหนังสือผมจะมีไฮไลท์หลักๆ อยู่สามแบบ หนึ่งคือไฮไลท์ปกติ สองคือไฮไลท์ประเด็นสำคัญของหนังสือ และสามคือไฮไลท์ว่าเรื่องนี้เอาไปเขียนบล็อกได้
  • ไฮไลท์ปกติผมจะใช้ดินสอขีดเส้นแนวดิ่งด้านข้างของย่อหน้าหรือประโยคนั้นๆ ไฮไลท์ประเด็นสำคัญของหนังสือจะใช้เครื่องหมาย + (ตอนแรกใช้ * แต่เครื่องหมาย + ออกแรงขีดน้อยกว่า) ส่วนไฮไลท์เรื่องที่เอาไปเขียนบล็อกได้ก็จะใช้ตัว B
  • หน้าแรกด้านในมักจะมีพื้นที่ว่าง ผมจะทำ Index เอาไว้ว่าผมใส่ + ไว้หน้าไหนและใส่ B ไว้หน้าไหนบ้าง เวลาจะกลับมาทวนก็สามารถเจาะดูหน้าเหล่านั้นได้เลย
  • บางทีผมก็ใส่เครื่องหมายอื่นเอาไว้ด้วย เช่น T (Typo สะกดผิด), A (Action สิ่งที่เราควรเอาไปลงมือทำจริง)
  • ผมยังไม่เคยใช้ Kindle สำหรับการอ่านหนังสือ น้องที่ออฟฟิศบอกว่าจะเอามาให้ผมดูหลายครั้งแล้วแต่ก็คลาดกันทุกที ถ้าใครอ่าน Kindle อยู่แล้วรบกวนแนะด้วยครับว่าเราสามารถไฮไลท์ได้หลากหลายอย่างที่ผมเขียนข้างบนได้รึเปล่า (ผมลองเสิร์ชดูคร่าวๆ เหมือนจะไฮไลท์ด้วยสีต่างกันได้)
  • หนังสือเป็นเล่มมีข้อดีคือกรีดเล่มดูได้ง่าย แถมหนังสือมันสวยด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าใครเคยไปเดิน Open House ชั้นบนสุดของ Central Embassy จะเข้าใจดีว่าหนังสือคืออุปกรณ์ตกแต่งชั้นยอด
  • แต่ข้อเสียของหนังสือก็คือใช้พื้นที่และมีฝุ่นเยอะ ผมเองเป็นภูมิแพ้ไรฝุ่นเลยมีความสัมพันธ์แบบ love-hate relationship กับหนังสือเก่าๆ บนชั้นอยู่เหมือนกัน ถ้าจะหยิบมาอ่านบางทีก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยด้วย
  • พอชั้นเริ่มเต็ม และเราเพิ่งไปเดินงานหนังสือมา หนังสือใหม่ก็จะเริ่มไปกินพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในบ้าน ทำให้ห้องรกไม่ spark joy ซึ่งถ้าอ่าน Kindle เป็นหลักคงจะไม่เจอปัญหานี้
  • ผมเคยถามพี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาว่าจัดการหนังสือยังไง พี่ภิญโญตอบว่าต้องมีการคัดออกทุกปี เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ให้หนังสือใหม่ และไม่ยึดติดกับหนังสือที่เราไม่คิดจะอ่านอีกแล้ว ส่วนถ้าไม่อยากให้หนังสือมีฝุ่น ก็ควรเก็บอยู่ในตู้กระจกหรือไม่ก็เก็บไว้ในห้องที่ไม่เปิดหน้าต่าง
  • แอปสรุปหนังสือผมน่าจะใช้ครบทุกยี่ห้อ และเลิกใช้ไปแล้ว เหตุผลอยู่ในบทความชื่อ “เหตุผลที่ผมเลิกใช้บริการ Book Summaries
  • ผมเคยพยายามฟัง Audiobook ตอนขับรถไปทำงาน แต่ไม่ค่อยเข้าหัวเท่าไหร่ จะไฮไลท์ก็ทำไม่ได้ จะกลับมาทบทวนยิ่งลำบาก
  • สิ่งที่ผมมักจะฟังตอนขับรถคือสัมภาษณ์หรือปาฐกถาของนักเขียนที่ผมกำลังอ่านหนังสือของเขาอยู่ ยกตัวอย่างเช่นล่าสุดผมอ่านหนังสือ Skin in the Game ผมก็จะไล่ฟัง Podcast/Youtube ที่ Nassim Taleb พูดถึงหนังสือเล่มนี้เป็นสิบคลิป พอกลับไปอ่านหนังสืออีกครั้งก็จะกระจ่างกว่าเดิมมาก ผมทำเช่นเดียวกันนี้กับนักเขียนคนโปรดคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Yuval Noah Harari (Sapiens), Morgan Housel (The Psychology of Money) และ Oliver Burkeman (Four Thousand Weeks)

และนี่คือมุมมองการอ่านหนังสือของผมในปี 2023

ไว้อนาคตถ้ามีมุมมองเพิ่มเติมจะมาแชร์อีกนะครับ