คำถามง่ายๆ เพื่อการโละเสื้อผ้า

20160818_ClothPurging

ทุกๆ สามเดือนที่บริษัทผมจะมีรับบริจาคเลือด บริจาคเสื้อผ้า และบริจาคหนังสือ

ก็เลยอยากจะเอาเคล็ดลับในการเลือกเสื้อผ้าบริจาคมาฝากเสียหน่อย

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับการจัดบ้านแบบ KonMari เมื่อปีที่แล้ว ที่สอนวิธีการโละเสื้อผ้าด้วยการหยิบมันขึ้นมา แล้วถามตัวเองว่า

Does it spark joy? จับเสื้อตัวนี้แล้วมันทำให้เราชื่นใจรึเปล่า?

ถ้าชื่นใจก็จงเก็บไว้ ถ้าไม่ชื่นใจก็ควรเอาไปบริจาค

อีกคำถามหนึ่งที่มีประโยชน์ คือการถามตัวเองว่า “ถ้าเราไม่ได้มีเสื้อตัวนี้อยู่แล้ว เรายังจะยอมควักเงินเพื่อซื้อมันอยู่รึเปล่า?” – If I don’t already own it, would I still buy it?

ถ้าคำตอบคือไม่ เราก็ควรเอาเสื้อตัวนี้ไปบริจาคเหมือนกัน

ลองเอาสองคำถามนี้ไปใช้ดูนะครับ น่าจะช่วยให้ตู้เสื้อผ้าดูสดใสงามตาขึ้นมาไม่มากก็น้อยครับ


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ได้ออกทีวีเพราะ KonMari

20150823_TVKonMari

เมื่อวานนี้ผมไปออกรายการทีวีมาครับ!

ชื่อรายการ Home Room ช่อง TPBS ออกอากาศตอน 18.30 – 19.30 ทุกเย็นวันเสาร์ครับ

เรื่องของเรื่องคือเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม คุณวรรณซึ่งเป็นทีมงานรายการโฮมรูมทักมาทาง Inbox ของเพจ Anontawong’s Musings อยากจะเชิญมาออกรายการเพื่อพูดคุยเรื่องวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari

บล็อกเรื่อง KonMari ที่ผมเขียนเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเป็นบทความที่ผมใช้พลังในการเขียนเยอะที่สุดตอนหนึ่ง (พอๆ กับเรื่องแต่งงานและเรื่องลดน้ำหนัก) และเป็นตอนที่มีคนแชร์ต่อถึง 32,000 ครั้ง จำนวนแชร์เป็นรองแค่เรื่องความเคารพของคุณโอปอล์ที่มีคนแชร์เจ็ดหมื่นครั้ง

พอเขาติดต่อมาอยากจะให้ไปคุยเรื่องนี้ผมเลยตอบตกลงทันที เพราะผมเชื่อจริงๆ ว่ามันเป็นแนวคิดที่จะมีประโยชน์มากๆ

จากนั้นคุณวรรณก็โทร.มาคุยกับผม ไอเดียแรกคือเขาอยากจะมาถ่ายที่บ้านด้วย แต่ผมออกตัวว่าไม่สะดวกเพราะหนึ่ง กำลังจะย้ายบ้าน ดังนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่ของบ้านจึงรกผิดปกติ (เนื่องจากขนชั้นและอะไรต่อมิอะไรไปบริจาคเกือบหมดแล้ว) และสองคือไม่มีคนที่จะมาคอยเปิดบ้านให้ทีมงานเข้ามาถ่าย

สุดท้ายจึงสรุปกันว่าจะหาตู้เสื้อผ้า กล่อง และเสื้อผ้ามาพับให้ดูกันสดๆ ในสตูดิโอเลย

—–

พอถึงวันเสาร์ (เมื่อวานนี้) ผม แม่ ภรรยา และพี่เขย ก็เดินทางไปยังสถานี Thai PBS ซึ่งอยู่ติดกับสโมรสรตำรวจบนถนนวิภาวดี-รังสิต

ไปถึงตอน 17.15 คุณวรรณก็เดินออกมารับและพาไปห้องรับแขก จากนั้นก็บรี๊ฟให้ฟังว่า รายการเริ่มตอนหกโมงครึ่ง แต่ช่วงของผมจะเป็นเบรคสอง ประมาณ 18.50 และบอกให้ผมฟังว่าพิธีกรจะถามคำถามประมาณไหน เช่น KonMari คืออะไร ถ้ามีเสื้อผ้ายังไม่ได้ใส่เลยจะทำยังไง สามารถใช้วิธีนี้ได้ทุกคนรึเปล่า ฯลฯ

พิธีกรสามท่านในวันนี้คือ พี่แอ๊ดไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย,  คุณโบว์ลิ่ง ปริศนา กัมพูสิริ และ คุณท๊อป ทศพล หมายสุข

ผมถามคุณวรรณว่าจะมีโอกาสได้ซักซ้อมคิวกับพิธีกรรึเปล่า คุณวรรณบอกว่าไม่ต้องค่ะ เดี๋ยวไปคุยกันสดๆ ในรายการเลย (เพื่อความเป็นธรรมชาติสินะ!)

จากนั้นคุณวรรณก็ขอยืมหนังสือ The Life Changing Magic of Tidying และ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ที่ผมติดมาด้วย เพื่อจะเอาไปเตรียมไว้โชว์ในรายการ

—-

ระหว่างนั่งรอเวลา พี่แอ๊ดที่เพิ่งแต่งหน้าเสร็จเดินเข้ามาที่ห้อง ตอนแรกนึกว่าเขาจะเข้ามาทักผม แต่ดูเหมือนเขาจะมองหาใครซักคนมากกว่า พอไม่เจอก็เลยเดินกลับออกไป สงสัยเค้าอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำแฮะว่าผมเป็นแขกรับเชิญ (เพราะคงไม่เคยเห็นหน้า)

จากนั้นช่างก็มาตามไปแต่งหน้าทำผม ตอนแต่งหน้าใช้เวลาแค่ 5 นาทีคือประแป้ง เติมคิ้ว (ผมคิ้วขาด) และทาลิปสติกบางๆ ให้ แต่ตอนทำผมใช้เวลาสิบกว่านาที ดูช่างทำผมจะหนักใจพอสมควรเพราะจัดยังไงก็ไม่ยอมเข้าทรง ซึ่งเป็นเรื่องที่เพื่อนกับแฟนผมบ่นมานานแล้วว่าผมของผมจัดทรงยากมาก ดังนั้น ถ้าเห็นในรายการผมหัวยุ่ง ขอบอกว่าช่างทำดีที่สุดแล้วนะครับ!

แต่งองค์ทรงเครื่องเสร็จเรียบร้อย เดินกลับมาที่ห้องรับรองก็เห็น “ผู้ติดตาม” ทั้งสามคนกำลังกิน cracker ที่ติดรถกันมาอย่างเอร็ดอร่อยเพื่อประทังหิว ผมเลยให้แฟนป้อนให้กินมั่ง แต่ก็ต้องระวังไม่ให้ลิปสติกเลอะเทอะ (นึกนับถือผู้หญิงขึ้นมาเลย)

18.25 เจ้าหน้าที่มาตามให้เข้าไปในสตูดิโอ จุดที่ผมไปนั่งรออยู่ตรงหลังห้อง ห่างจากเวทีที่พิธีกรนั่งอยู่ประมาณ 15 เมตร อีกไม่กี่นาทีรายการจะเริ่ม พิธีกรนั่งอยู่ที่เก้าอี้กันครบแล้ว และทุกคนกำลังก้มดูมือถือกันอยู่! (ส่วนสคริปต์ถืออยู่อีกมือหนึ่ง) แสดงให้เห็นว่าชิลล์กันสุดๆ

แล้วพี่คนหนึ่งในห้องส่งก็ตะโกนบอกว่ากำลังจะตัดเข้ารายการแล้ว พิธีกรทุกคนเก็บมือถือ หันหน้าขึ้นมองกล้อง ดนตรีมา และยกมือไหว้ทักทายแขกเข้ารายการกันอย่างพร้อมเพรียง

พอรายการเริ่มขึ้นแล้วจริงๆ ผมก็ชักจะเริ่มตื่นเต้นแฮะ เลยต้องลุกเดินไปเดินมาเพื่อให้พลังงานมันผ่องถ่ายไปทางอื่นบ้าง

เมื่อพิธีกรพูดทักทายเสร็จแล้ว พี่แอ๊ดกับคุณโบว์ลิ่งก็เดินไปที่ฉากข้างๆ เพื่อคุยกับเชฟบุ๊ค บุญสมิทธิ์ที่มาสาธิตวิธีการทำแกงอ่อมบุก (ครับ ผมเองก็เพิ่งเคยได้ยินเหมือนกัน) ส่วนคุณท๊อปที่ยังไม่ต้องเข้าฉาก ก็เดินลงมาจากเวที พอเดินผ่านจุดที่ครอบครัวผมนั่งอยู่ คุณท๊อปก็ยกมือไหว้ทุกคนเลย

(ดาราอีกคนที่นอบน้อมมากคือคุณเป้ อารักษ์วงเสลอที่ชอบไปเล่นปีนเขาที่สปอร์ตคลับแห่งหนึ่งแถวทองหล่อ เจอพี่พนักงานทุกคนเข้าไหว้หมดเลย)

ทำอาหารกันอยู่ประมาณเกือบยี่สิบนาทีก็เป็นอันจบเบรคแรก อยากบอกว่ากลิ่นแกงอ่อมบุกหอมมาก ผมนั่งอยู่ห่างจากเวทีราว 20 เมตรยังได้กลิ่นจนอยากลองชิม

พอจะเข้าเบรคสอง เจ้าหน้าที่ก็ให้ผมไปยืนรอด้านข้างเพื่อที่จะเดินขึ้นเวทีตรงมุมเวที ผมยังคิดเล่นๆ เลยว่าถ้าเข้าฉากแล้วเกิดสะดุดบันไดล้มนี่คงฮาน่าดู

พอพิธีกรแนะนำชื่อผมเสร็จ ก็เดินขึ้นเวทีด้วยความระมัดระวัง เข้ามาถึงพี่แอ๊ดก็บอกให้แนะนำตัวเลยว่าทำอะไรอยู่ ผมก็บอกไปว่าตอนนี้ทำงานสื่อสารองค์กรที่ทอมสันรอยเตอร์ บริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์รายใหญ่เจ้าหนึ่งในเมืองไทยนะ เสร็จแล้วพี่แอ๊ดก็ถามต่อเลยว่า KonMari คืออะไร

(จริงๆ มาคิดได้ทีหลังว่าเขาน่าจะถามซักนิดว่าทำงานสื่อสารองค์กรแล้วมาพูดเรื่องการจัดบ้านได้ยังไง พอเค้าไม่ถามผมก็เลยอดโปรโมตบล็อกตัวเองเลย)

จากนั้นทุกๆ อย่างก็เป็นไปตามครรลอง

เรื่องหนึ่งที่ประทับใจพิธีกรคือความเป็นธรรมชาติของทั้งสามคน อย่างตอนที่ทีมงานผิดคิวเล็กน้อยเอาวีดีโอพับผ้าเร็วหนึ่งวินาทีขึ้นมาโชว์แทนที่จะเป็นการพับเสื้อแขนยาวแบบคอนมาริ คุณโบว์ลิ่งก็ดูแล้วทำตามได้เลย (เธอบอกด้วยว่าไม่เคยดูมาก่อน) หรือตอนพับถุงเท้า พี่แอ๊ดก็พับตามแล้ววางตั้งไว้บนโต๊ะให้ทีมงานได้ซูมกล้องให้ดูกันจะจะ ส่วนคุณท๊อปก็มีการช่วยสรุปประเด็นได้ตรงเป้า แสดงถึงความคิดความอ่านที่เป็นผู้ใหญ่เกินตัว

—–

มีคำถามหนึ่งที่พี่แอ๊ดถามแล้วผมรู้สึกว่าตอบได้ไม่ดี

คือเขาถามว่า การปฏิบัติกับของทุกชิ้นราวกับว่ามันมีชีวิตนี่มันช่วยสร้างความแตกต่างยังไง

ผมคิดว่าที่เขาถามอย่างนี้เพราะคุณผู้ชมหลายคนอาจจะมองว่าการจินตนาการว่าของทุกชิ้นนั้นมีชีวิตนั้น ถ้าพูดกันแบบไม่เกรงใจก็เหมือนเป็นเรื่องหลอกเด็ก

ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้

เพราะในหนังสือก็ไม่ได้ตอบตรงๆ ว่าทำไมเราควรปฏิบัติราวกับของทุกชิ้นมีชีวิต

แต่ “สาร” หนึ่งที่ส่งออกมาจากหนังสือก็คือ ถ้าคุณคิดว่าสิ่งของเป็นสิ่งมีชีวิต คุณจะหาคำตอบได้ไม่ยากว่าคุณควรจะปฏิบัติกับข้าวของคุณยังไง

อย่างเสื้อผ้าที่เราคัดทิ้ง เราไม่ใช่แค่จับมันโยนลงถุงเฉยๆ แต่เราควรจะขอบคุณมันด้วยที่เคยดูแลกันมาก (ประเด็นนี้ผมเลยพูดไปเสียสนิท ทั้งๆ ที่มันสำคัญมากๆ)

หรืออย่างคุณมาริเอะบอกว่า เสื้อผ้าส่วนใหญ่ให้พับเก็บ แต่ถ้าตัวไหนดูน่าจะแฮปปี้กว่าถ้าโดนแขวน ก็จงแขวนมันซะ (อย่างพวกเสื้อโค้ทหรือเสื้อสูทเป็นต้น)

แถมคุณมาริเอะย้งบอกอีกว่า ที่เก็บของในบ้านมีมากเกินพอ ถ้าเราคัดของของเราเรียบร้อยแล้ว และลอง “ถาม” ข้าวของของเราดีๆ ว่ามันควรจะอยู่ตรงไหน เราจะรู้คำตอบเอง

สิ่งที่คุณมาริเอะอาจไม่ได้เขียนในหนังสือ แต่ผมคิดเอาเองก็คือ ถ้าคุณปฏิบัติต่อข้าวของซึ่งไม่มีชีวิตด้วยความเคารพ คุณก็จะปฏิบัติต่อคนอื่นๆ ด้วยความเคารพเช่นกัน และเมื่อเราใช้ชีวิตด้วยการให้เกียรติคน สัตว์ สิ่งของเป็นสรณะแล้ว เราก็ย่อมจะมีชีวิตที่เจริญยิ่งขึ้น

—–

อีกประเด็นหนึ่งที่คุณท๊อปหันมาคุยด้วยตอนจบรายการก็คือ ความยากของ KonMari อยู่ที่การเก็บนี่แหละ เพราะมันต้องใช้เวลาเยอะกว่าปกติ แถมคนกรุงเทพก็ไม่ค่อยมีเวลาว่าง ถึงบ้านแล้วก็อยากจะพัก ดังนั้นการจะใช้วิธีนี้ได้ คงต้องจัดเวลาว่างเพื่อมานั่งเก็บผ้ากันทุกสัปดาห์

พอดีคุณท๊อปคงไม่เคยอ่านบล็อก anontawong.com ไม่อย่างนั้นผมจะบอกให้เขาลองไปอ่านตอน จะรีบไปไหน

การที่เรารู้สึกว่าไม่มีเวลามานั่งจัดบ้านหรือพับผ้า ก็เพราะว่าเรามองว่ามันเป็น “งาน” (chore)

แต่ถ้าเรามองว่ามันเป็น “กิจกรรมผ่อนคลาย” หรือ “งานอดิเรก” ไม่ต่างจากการเล่น Facebook หรือเล่น LINE เราจะมีความรู้สึกต่อการพับผ้าที่เปลี่ยนไป

ผมว่าการนั่งพับผ้านี่คือวิธีง่ายๆ ที่จะมี Slow Life โดยไม่ต้องเปลืองตังค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรารู้ว่า การพับผ้าพวกนี้จะนำพาความสุขมาให้เราทุกครั้งที่จะหยิบเสื้อผ้าขึ้นมาใช้

กาารพับผ้าจะกลายเป็นช่วงเวลาของการได้อยู่กับตัวเอง ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องจ้องจอแสงจ้าให้ปวดตา

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราสามารถมีความสุขแม้กระทั่งกับการพับผ้าได้ เราก็น่าจะมีความสุขกับเรื่องอื่นๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน

——

สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบคุณคุณวรรณ และทีมงานรายการ Home Room ทุกๆ ท่านที่ให้โอกาสผมได้มาออกรายการนี้นะครับ

และต้องขอโทษจริงๆ ที่ผมยังพูดเร็วและ”พูดหวัด” อยู่มาก ทั้งๆ ที่ที่บ้านก็กำชับแล้วกำชับอีก

ทั้งนี้เพราะผมเป็นคนพูดเร็วอยู่แล้ว และชั่วโมงบินเรื่องการพูดคุยออกสื่อยังต่ำมาก

สงสัยทางเดียวที่จะแก้ได้คือต้องเชิญผมไปออกรายการทีวีบ่อยๆ แล้วล่ะครับ!

—–

ขอบคุณภาพจาก Youtube ช่อง Thai PBS รายการ Home Room

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

จัดบ้านแบบ KonMari ในวันแม่

20150812_KonMariMotherDay

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ช่วยแชร์บทความวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari อย่างล้นหลามถึงหมื่นกว่าแชร์ ถือว่าเกินความคาดหมายและสร้างความปลาบปลื้มให้กับผมแบบสุดๆ ไปเลย

อย่างที่ได้เขียนเล่าไปเมื่อสองวันที่แล้วว่า วันแม่ปีนี้ผมมีนัดจัดบ้านกับครอบครัว

กำลังสำคัญวันนี้ได้แก่ แม่ พ่อ รอง (น้องชาย) ผึ้ง (ภรรยา) เฮียชาติ พี่ชายของผึ้ง และตัวผมเอง

ผึ้ง แม่ และรองอ่านบล็อกของผมมาเรียบร้อยแล้ว แต่พ่อกับเฮียชาติยังไม่ได้อ่านเลยต้องมีอธิบายขั้นตอนกันนิดหน่อย ว่าวันนี้เราจะเริ่มจากเสื้อผ้าของห้องพ่อกับแม่นะ แล้ววิธีเลือกว่าจะเก็บเสื้อผ้าชิ้นไหนเอาไว้ก็ด้วยการหยิบมันขึ้นมาทีละชิ้นแล้วถามตัวเองว่ามันสปาร์คจอย (spark joy / ชื่นใจ) รึเปล่า

ประมาณสิบโมง เราก็เริ่มภารกิจกันด้วยการขนเสื้อผ้าของพ่อบางส่วนมากองไว้ที่พื้น แล้วก็ให้พ่อคัด ส่วนแม่เองก็เอาผ้ามากองไว้บนเตียงและทำขนานกันไปเช่นกัน

ในขณะที่พ่อและแม่คัดผ้า พวกเราเหล่าลูกๆ ก็ช่วยกันจัดผ้าเก็บเข้าตู้เป็นอย่างๆ ไป เพราะไม่อย่างนั้นจะมีพื้นที่ไม่พอปฏิบัติการ

ข้อดีที่ได้พบก็คือ แม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ Spark Joy เป็นอย่างดี วันนี้ทั้งวันผมว่าแม่พูดคำว่า “สปาร์ค” ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง ไม่ว่าจะกับเสื้อผ้าหรือกระเป๋าถือ ส่วนพ่อจะใช้คำว่า “ชื่นใจ” หรือคำว่า “ชอบ” ไม่ค่อยได้ใช้คำว่าสปาร์คจอยเท่าไหร่

บทเรียนที่ได้ร้บจากการช่วยพ่อแม่จัดการเรื่องเสื้อผ้ามีดังนี้

1. การไม่เอาผ้าลงมากองให้หมดทีเดียวทำให้ต้องทำงานซ้ำ เพราะห่วงกันว่าพื้นที่จะไม่พอ ก็เลยทยอยทำจากชุดชั้นในก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ โกยเอาเสื้อจากตู้เสื้อผ้ามาคัด แล้วค่อยเอาผ้าจากราวเหล็กมาคัด ซึ่งด้วยวิธีการอย่างนี้พอเอาเสื้อใส่กล่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะเจออีกตัวใหม่เข้ามาอีกสองสามตัว เลยต้องมานั่งจัดกันใหม่ เราเลยยิ่งเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าทำไมมาริเอะถึงแนะนำว่าควรจะเอาเสื้อผ้าทั้งหมดมากองไว้ตูมเดียวเลย (แม้จะดูว่าพื้นที่อาจจะไม่พอ แต่ผมเชื่อว่าทำจริงๆ ก็ต้องพออยู่แล้วเพราะผ้าจะกองสูงเท่าไหร่ก็ได้)

2. ควรเตรียมกล่องใส่ไว้ให้พร้อม เมื่อวานพอดีที่ตึกเอ็มไพร์มีร้านมาออกบู๊ธขายกล่องใส่รองเท้า ผมเลยซื้อมาทั้งหมดสี่กล่อง ใช้เงินไป 480 บาท (กล่องรองเท้าผู้หญิงเซ็ตสามกล่อง 310 บาท กล่องรองเท้าผู้ชายหนึ่งกล่อง 170 บาท) พอแม่รู้ราคาก็บอกว่าแพงจัง ที่แม่เคยซื้อไดโสะ แม๊กซ์แวลูพัฒนาการถูกกว่า เพราะกล่องละ 60 บาทเอง แถมสี่กล่องที่ซื้อมายังไงก็คงไม่พออยู่แล้ว

จริงๆ เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมกับแฟนไปเดินไดโสะมาแล้วและหาไม่เจอ แต่แม่ก็ยืนยันให้ลองโทร.ไปถามดูอีกที ผมก็เลยลองโทร.ไปที่ร้านและเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่ามีกล่องรองเท้าจริงๆ ผมก็เลยวิ่งไปดูแล้วก็ซื้อมา 12 กล่อง เอากลับมาใช้ได้แค่ชั่วโมงกว่าๆ ก็ทำท่าจะไม่พออีก เฮียชาติเลยวิ่งไปซื้อมาให้เพิ่มอีก 20 กล่อง รวมแล้วเป็น 32 กล่องที่เราใช้ในการเก็บเสื้อผ้าพ่อแม่ครั้งนี้ (แถมใช้หมดเกลี้ยงด้วย!)

ข้อเสียอย่างหนึ่งของกล่องจากไดโสะก็คือ มันแคบไปนิดนึง ทำให้เวลาพับเสื้อต้องเฉไปทางใดทางหนึ่ง ทำให้คอดูเบี้ยวๆ ไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ (แต่ตอนพับเสร็จและจัดลงกล่องแล้วก็ดูไม่ออกหรอกนะ) จะให้ดีคือควรจะหากล่องกว้างซัก 22-25 ซ.ม. ถึงจะพับลงได้พอดี ซึ่งเท่าที่ผมลองใช้มากล่องผ้าพับได้จาก Ikea ขนาดลงตัวสุดครับ

3. คนใส่กับคนเตรียมชุดคนละคนกัน ธรรมดาแม่จะเป็นคนจัดเสื้อผ้าให้พ่อ ทั้งวันที่ไปทำงานและวันที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัด แต่พ่อผมดันโละกางเกงสแล็กสีดำไปเกือบหมด (น่าจะสิบกว่าตัว สงสัยไม่ค่อยสปาร์คจอย) เหลือแต่กางเกงยีนส์และกางเกงสีอื่นๆ  เอาไว้ แม่เลยโวยวายใหญ่เลยว่าอย่างนี้จะจัดเสื้อผ้าให้ได้ยังไง ผมเลยต้องไปค้นกางเกงที่พ่อโละแล้วขึ้นมาให้แม่ “ฟื้นคืนชีพ”

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เสื้อผ้าก็สามารถแยกได้สองประเภทคือประเภท Emotional กับ Functional โดยประเภท Emotional (เสื้อผ้าสวยงามใส่แล้วอารมณ์ดี) ควรให้สิทธิ์กับเจ้าของโดยเต็มที่ที่จะตัดสินใจว่ามัน Spark Joy หรือไม่ แต่ประเภท “เพื่อใช้งาน” อย่างชุดชั้นใน กางเกงสแล็ก เสื้อกล้าม เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี ดังนั้นควรจะคุยกับคนที่ต้องเตรียมเสื้อผ้า (อย่างภรรยา) ก่อนที่จะโละทิ้ง

4. ของที่เป็น Functional อย่างกางเกงใน ชุดชั้นใน ถุงเท้านั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีเยอะมากมาย ตอนนี้จากความรู้สึกผม ผมว่าพ่อกับแม่ยังมีถุงเท้า เสื้อกล้าม ชุดชั้นในเยอะเกินไปนิดนึงจน “เสื้อผ้าเค้าดูอึดอัด” ตอนนี้พ่อน่าจะมีถุงเท้าทำงานไม่ต่ำกว่า 40 คู่ ถ้าเอาออกไปได้ซัก 10 คู่น่าจะพอดีกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแล้วแต่เจ้าของครับ

แต่ผลลัพธ์ของวันนี้ก็น่าดีใจไม่น้อย เพราะเราสามารถเอาราวเหล็กแขวนผ้าขนาดยาว 2.4 เมตรออกจากห้องไปได้เลย และเสื้อผ้าต่างๆ ของพ่อกับแม่ก็หยิบง่ายและน่าใช้ขึ้นเยอะ ถือเป็นการแสดงความรักในวันแม่ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

นัดจัดบ้านครั้งต่อไปคงจะได้จัดเอกสารและของจิปาถะ แล้วจะมาเล่าให้ฟังอีกนะครับผม

IMG_2187 IMG_2182
IMG_2183

—–

ภาพจากกล้องของผู้เขียน ถ่ายเมื่อ 12 สิงหาคม 2558

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่