ขั้วตรงข้ามของความสำเร็จไม่ใช่ความล้มเหลว

จริงๆ แล้วความล้มเหลวเป็น milestone ของความสำเร็จ

เพราะเมื่อเราผิดพลาดหรือคาดการณ์ผิด นั่นคือ mini failures และสิ่งที่ได้กลับมาคือการเรียนรู้

เมื่อรู้แล้วไม่ทำผิดซ้ำ เราก็จะก้าวต่อไปได้อีกขั้น เดินไปต่อได้อีกวัน แล้วเราก็จะเจอโจทย์ใหม่ๆ ให้เราผิดพลาดและล้มเหลวไปเรื่อยๆ

ยิ่งเผชิญและแก้ไขข้อผิดพลาดและล้มเหลวเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นแล้วขั้วตรงข้ามของความสำเร็จคืออะไร?

คือการไม่ลงมือทำ

เพราะการไม่ลงมือทำ ก็เหมือนกับการไม่ได้ออกวิ่ง ณ จุดสตาร์ท

ถ้าเปรียบเป็นการวิ่งทางไกล จุด START คือการลงมือ Checkpoints คือความล้มเหลว และจุด FINISH คือความสำเร็จ

ดังนั้น หากได้ออกวิ่ง ไม่รีบร้อนเร่งฝีเท้าจนหมดแรงไปเสียก่อน เราจะค่อยๆ วิ่งผ่าน checkpoints ไปเรื่อยๆ

เก็บ checkpoints ครบเมื่อไหร่ ก็ถึงเส้นชัยได้แน่นอนครับ

สำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับว่าเราวัดกันตอนไหน

หนังสือ Atomic Habits ของ James Clear ถือเป็นหนึ่งในหนังสือ non-fiction ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา

แม้จะเปิดตัวมา 4 ปีแล้ว แต่ Atomic Habits ก็ยังติดชาร์ทของ Amazon มีคนเขียนรีวิวไปแล้วเกือบ 100,000 รีวิว และมียอดจำหน่าย 5 ล้านเล่ม

ถ้าคิดเล่นๆ ว่าเล่มนึงราคา 500 บาท และนักเขียนได้เงินเล่มละ 10% ของราคาปกแสดงว่าหนังสือเล่มนี้ทำเงินให้ผู้เขียนไปแล้ว 250 ล้านบาท

ฟังดูเส้นทางโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ แต่เจมส์ เคลียร์บอกว่าที่มันดูสวยหรูเพราะเราเพิ่งมาวัดกันตอนนี้ต่างหาก

จริงๆ แล้วเจมส์เซ็นสัญญาที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ปลายปี 2015

ถ้าวัดกันตอนปี 2016 หนังสือยังเขียนไม่เสร็จ ดังนั้นมันจึงเป็นความล้มเหลว

ถ้าวัดกันตอนปี 2017 หนังสือก็ยังไม่เรียบร้อยเช่นกัน

หรือตอนต้นปี 2018 หนังสือก็ยังไม่พร้อม ยังถือว่ามันยังล้มเหลวอยู่

กว่าหนังสือจะได้วางแผงในเดือนตุลาคม 2018 Atomic Habits เป็น “ความล้มเหลว” มาโดยตลอด

หนังสือเล่มเดิม คนเขียนคนเดิม เพียงแต่วัดผลในเวลาที่ต่างกัน

ดังนั้น การจะตัดสินสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ก็ต้องดูด้วยว่าเราเลือกจะวัดกันตอนไหน

บางทีที่เรากำลังมองชีวิตว่าล้มเหลวอยู่นั้น อาจจะเพราะว่าเราวัดผลผิดจังหวะ

“You’re not failing. You’re just in the middle of succeeding.”
-James Clear

บางทีเราอาจไม่ได้ล้มเหลว

เราแค่กำลังอยู่กลางทางของความสำเร็จเท่านั้นเอง

ไม่ยกยอ-ไม่ต่อว่า

Kim Scott ผู้เขียนหนังสือ Radical Candor และอดีตผู้บริหารของ Google และ Apple เคยเล่าไว้ว่า สมัยที่เธอออกมาตั้งธุรกิจของตัวเองและอยู่ในช่วงที่กำลังย่ำแย่ มีคนที่พูดข้อความนี้กับเธอ

“There is a fine line between success and failure. When you’re succeeding, never think you’re as good as everyone is telling you that you are. And when you’re failing, never think you’re as bad as everyone is telling you that you are.”

เวลาที่ชีวิตไปได้สวย เรามักจะอวยตัวเอง ความมั่นใจพุ่งทะยาน จะหยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง อดคิดไม่ได้ว่าเรานี่ฉลาดและเก่งกว่าคนอื่น

ทั้งที่จริงแล้ว ความสำเร็จไม่เคยเกิดจากเราคนเดียว มันมีปัจจัยรายล้อมมากมายทั้งที่เรามองเห็นและที่เรามองไม่เห็น เราอาจจะเรียกสิ่งมองไม่เห็นและอธิบายไม่ได้ว่าเป็น จังหวะ โชคชะตา หรือบุญเก่า แต่เราไม่ค่อยมองเรื่องเหล่านี้ เราจะเข้าข้างตัวเองว่าเป็นฝีมือของเราล้วนๆ

ซึ่งความคิดเช่นนี้มันอันตรายตรงที่มันจะทำให้เราคิดว่าเราเก่งกว่าความเป็นจริงเสมอ

เวลาที่คนล้มเหลวหรือพลาดพลั้ง ก็จะแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือโทษข้างนอกไว้ก่อน โทษว่าโดนคนอื่นหลอกลวง โทษตลาด โทษรัฐบาล เล่นบทเป็นผู้เสียหาย ทั้งที่การโทษคนอื่นไม่ได้ทำให้คนอื่นทำตัวดีขึ้นเสียหน่อย

ส่วนอีกกลุ่มคือโทษตัวเอง คิดย้อนกลับไปในอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งๆ ที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เมื่อต่อว่าตัวเองบ่อยๆ ก็พลอยหมดกำลังใจและหมดความมั่นใจไปเลย

ทั้งที่จริงแล้วเราอาจไม่ได้ทำอะไรผิด อาจจะทำอย่างเดียวกับตอนที่เราสำเร็จนั่นแหละ แต่เนื่องจากมีปัจจัยที่มองไม่เห็นอย่างจังหวะ โชคชะตา หรือบุญเก่า(หมด) ผลลัพธ์มันก็เลยออกมาเป็นเช่นนี้

ดังนั้นอย่าทุบตีตัวเองจนเกินเลย เราไม่ได้ห่วยขนาดนั้นสักหน่อย

เมื่อบินสูงอย่าไปยกยอ เมื่อบินต่ำก็ไม่จำเป็นต้องต่อว่า

แล้วเราจะสอดคล้องกับ “เส้นความจริงของชีวิต” มากกว่าเดิมครับ