ฉันมันไม่ดีตรงไหน

20180605_howhaveiwrongedyou

เป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์

แถมยังอาจไม่จริงใจอีกด้วย

“ฉันมันไม่ดีตรงไหน” เป็นคำถามที่มีนัยว่า ฝ่ายหนึ่งผิด ฝ่ายหนึ่งถูก

ดูเผินๆ เหมือนจะบอกว่า ฉันมันผิดเอง เธอเป็นฝ่ายถูก ดังนั้นช่วยบอกฉันทีสิว่า ฉันผิดตรงไหน ฉันมันไม่ดียังไง

แต่ถ้ามองลงไปอีกชั้นหนึ่ง ก็จะพบว่าคนที่พูดคำนี้ คือคนที่มั่นใจว่าตัวเองทำดีมาทุกอย่าง ทำถูกมาทุกอย่างแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าทำไมเธอถึงยังไม่รักฉันอีก ดังนั้น เธอนั่นแหละที่ตัดสินใจผิด

ซึ่งอาจจะไม่ใช่เลยก็ได้

เพราะเรื่องบางเรื่องมันไม่เกี่ยวกับดีหรือไม่ดี มีแค่เหมาะหรือไม่เหมาะ

แทนที่จะถามว่า ฉันมันไม่ดีตรงไหน คำถามที่อาจสร้างสรรค์กว่าก็คือ เราไม่เหมาะกันตรงไหน

เปลี่ยนจากฉันเป็นเรา เปลี่ยนจากดีเป็นเหมาะ

แล้วคราวนี้มันก็จะไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก ไม่ใช่เรื่อง subjective แต่เป็นเรื่อง objective เช่นนิสัยบางอย่างหรือรสนิยมบางเรื่องที่ไม่ตรงกัน

เราไม่ได้ไปต่อด้วยกัน ไม่ใช่เพราะว่าเธอไม่ดี หรือฉันดีเกินไป แต่เพียงเพราะว่าเราไม่เหมาะกัน ก็เท่านั้นเอง

“เธอ” ในที่นี้อาจจะเป็นสาวงาม หนุ่มเซอร์ ลูกค้า หรือแม้กระทั่งบริษัทเราใฝ่ฝันอยากร่วมงานก็ได้

เพราะฉะนั้นเลิกถามได้แล้วว่าฉันมันไม่ดีตรงไหน หาให้เจอว่าเราไม่เหมาะกันยังไง ถ้าปรับได้ก็ปรับ แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็วางมันลงแล้วดำเนินชีวิตของเราต่อไปเท่านั้นเอง

—–

หาซื้อหนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ได้ที่ Zombie Books RCAร้านหนังสือเดินทาง ถ.พระสุเมรุ, ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S ศูนย์หนังสือจุฬา คิโนะคุนิยะ เอเชียบุ๊คส์  และร้านหนังสือทั่วไปครับ

ถ้าอยากให้คนจดจำ

20171029_remember

จงทำในสิ่งที่เราไม่ต้องทำก็ได้

เดือนกันยายน พ.ศ.2537 หลังจากเรียนจบม.3 เทอมต้นที่เตรียมพัฒน์ ผมก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปอยู่เมืองเล็กๆ ชื่อเทมูก้า ประเทศนิวซีแลนด์ ทันเปิดเทอมสองของที่นั่นพอดี

วิชาที่ได้เรียนก็เช่นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมศึกษา ฯลฯ รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เพราะทักษะภาษาอังกฤษของผมยังอ่อนด้อยยิ่งนัก

เรียนไปได้ไม่ถึงสามเดือน ก็ต้องสอบไล่ประจำปี (ที่นิวซีแลนด์ ปีการศึกษาจะจบกลางเดือนธันวาคม) ที่สำคัญคือข้อสอบนั้นมีเนื้อหาของเทอมแรกที่ผมไม่ได้เรียนอยู่ด้วย

ปรากฎว่าผมสอบตกทุกวิชา ยกเว้นวิชาเลข

ที่นิวซีแลนด์ เวลาตรวจข้อสอบเสร็จ อาจารย์เขาจะแจกกระดาษคำตอบคืนให้นักเรียนด้วย เห็นแต่ละวิชาที่ได้ไม่กี่สิบคะแนนจากคะแนนเต็มร้อยก็ปวดใจไม่น้อย

วิชาสุดท้ายที่ผมได้คะแนนสอบคืนมาคือวิชาเศรษฐศาสตร์ (Economics) ซึ่งสอนโดยมิสเตอร์แชนนอน (Mr.Shannon) ถ้าจำไม่ผิดผมน่าจะได้ประมาณสามสิบกว่าคะแนน

พอหมดชั่วโมงซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายของวัน แทนที่จะปล่อยให้ผมกลับบ้าน มิสเตอร์แชนนอนกลับบอกให้ผมอยู่ต่อ

หลังจากนักเรียนทุกคนออกจากห้องไปหมดแล้ว มิสเตอร์แชนนอนก็เดินมานั่งลงข้างๆ ผม แล้วชมว่า “You’ve done well, young man”

ในขณะที่ผมกำลังงงว่าหูฝาดไปรึเปล่า มิสเตอร์แชนนอนก็เปิดข้อสอบขึ้นมาให้ดูอีกครั้ง ชี้ไปที่กระดาษคำตอบของผม และอธิบายให้ฟังทีละข้อว่า ตรงไหนที่ผมทำถูก ตรงไหนที่ผมทำเกือบถูก หรือถ้ามีจุดที่ผมทำพลาดมันเกิดจากอะไร

มิสเตอร์แชนนอนใช้เวลากับผมร่วมครึ่งชั่วโมง เมื่อทบทวนคำถามข้อสุดท้ายเสร็จ เขาก็ทิ้งทวนว่า มาอยู่สามเดือนทำได้ขนาดนี้ถือว่าดีมากๆ แล้ว ไอมั่นใจว่าปีหน้ายูจะทำคะแนนได้ดีแน่นอน

ลองนึกภาพห้องเรียนที่มีเพียงอาจารย์ฝรั่งตัวโตคนหนึ่งใช้เวลาหลังเลิกเรียนนั่งอยู่กับเด็กตัวเล็กๆ จากแดนไกลเพื่อดึงความมั่นใจและความเคารพตัวเองของเด็กคนนั้นกลับคืนมา มันจะมีความหมายแค่ไหน?

ก็มีความหมายขนาดที่ว่า แม้เวลาจะผ่านไป 23 ปีแล้วผมยังจำภาพในวันนั้นได้ราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

และต่อให้เวลาผ่านไปอีกซักกี่สิบปี ผมก็มั่นใจว่าจะยังจำเหตุการณ์นี้ได้แน่นอน และคงจะเล่าให้ลูกให้หลานฟังด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเพราะอาจารย์คนหนึ่งได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องทำก็ได้

—–

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 บริษัทรอยเตอร์ซอฟท์แวร์ประเทศไทยกำลังจะมีอายุครบ 10 ปี

ผมคิดถึง “ฟิลลิป” และ “สจ๊วต” สองผู้บริหารระดับสูง ที่แม้ตัวจะอยู่ที่อเมริกาและอังกฤษ แต่ก็มีลูกทีมอยู่ในเมืองไทยร่วมพันคน

ผมคิดเล่นๆ ว่าถ้าในงานเลี้ยงครบรอบ 10 ปี พนักงานไทยได้รับข้อความแสดงความยินดีจากสองคนนี้ก็น่าจะเป็น “เซอร์ไพรส์” ที่ดี

ผมเลยส่งเมลหา “เมลินดา” ซึ่งเป็น Communication Manager ที่ดูแลแผนกของฟิลลิปและสจ๊วต ถามว่าพอจะเป็นไปได้มั้ยที่เธอจะช่วยขอให้ทั้งสองช่วยพูดอะไรซักหน่อย เอาแค่ง่ายๆ สั้นๆ แล้วใช้มือถือถ่ายส่งมาให้ก็พอแล้ว

ปรากฎว่าเมลินดาลงทุนประสานงานหาทีมถ่ายวีดีโอมืออาชีพ จัดหางบประมาณสำหรับการถ่ายทำและตัดต่อวีดีโอมาให้ เขียนสคริปต์เป็นเรื่องเป็นราว แถมยังกำกับฟิลลิปและสจ๊วตด้วยตัวเธอเองอีกต่างหาก และวีดีโอนั้นก็ได้ถูกเปิดในงานเลี้ยงครบรอบตามที่ตั้งใจไว้

ผ่านไป 5 ปีแล้ว ทั้งผมและเมลินดาต่างก็ออกจากรอยเตอร์มาซักพักแล้ว แต่ผมก็ยังจำการทำเกินหน้าที่และเกินคำขอของเมลินดามาได้จนถึงวันนี้

—–

วันนี้ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2560 เป็นวันสุดท้ายของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก

พระมหากษัตริย์ผู้ได้ทรงทำในสิ่งที่ท่านไม่ต้องทำก็ได้มาตลอด 70 ปีแห่งการครองแผ่นดินโดยธรรม

และด้วยเหตุผลนี้ แม้พระองค์ท่านจะเสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่ผมเชื่อว่าเรื่องราวของพระองค์จะยังคงถูกเล่าขานในโลกมนุษย์นี้ไปอีกนับร้อยนับพันปีครับ

ไม่มีใครอยากทำเลว

20170408_doright

“สุดท้ายแล้วสามัญสำนึกของเราเป็นคนดีเสมอ ผมไม่เชื่อว่าคนที่ทำเลวเพราะเขาอยากทำเลว แต่เป็นเพราะเขาเชื่อว่าการทำเลวของเขามันถูกต้อง มันจะมีเหตุผลสนับสนุนในจิตใต้สำนึกของตัวเองเสมอ คนเราไม่ได้ตั้งต้นด้วยความเลว”

– กันต์ กันตถาวร

a day BULLETIN issue 478 | 27 March 2017
เรื่อง ปริญญา ก้อนรัมย์, กมลวรรณ ส่งสมบูรณ์
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
สไตลิสต์: Hotcake


คำพูดของคุณกันต์ กันตถาวร พิธีกรรายการ The Mask Singer ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของผู้บริหารคนหนึ่งของ Workpoint เจ้าของรายการที่ฮอตฮิตที่สุดในชั่วโมงนี้

ผู้บริหารคนนั้นคือพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่เล่าพฤติกรรมการดูละครไทยของนักโทษในเรือนจำ

คนเหล่านี้ถูกสังคมหรือศาลตัดสินแล้วว่าเป็น “ผู้ร้าย” แต่เวลาดูละคร พวกเขาก็ยังเชียร์พระเอก-นางเอกอยู่ดี ไม่เห็นจะมีใครเชียร์ตัวโกงซักคน

นั่นแสดงว่า สำนึกผิดชอบชั่วดีของนักโทษเหล่านี้ยังทำงานปกติดีอยู่


Stephen Covey บอกว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น เป็นหนึ่งในต้นทุน 4 อย่างของมนุษย์ที่สัตว์ชนิดอื่นไม่มี

ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเปรียบเหมือนเข็มทิศที่ชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ

การที่คนๆ หนึ่งจะลงมือทำเรื่องที่ผิด จึงอาจไม่ใช่เพราะเข็มทิศของเขาเสีย แต่เป็นเพราะว่าชีวิตของเขามี “แม่เหล็ก” ชิ้นอื่นๆ มารายล้อม

เราถึงได้ยินเรื่องเด็กที่ขโมยยาไปช่วยแม่ที่ป่วย

เราถึงได้ยินเรื่องของคุณยายที่ทุบเขื่อนทำลายทรัพย์สินทางราชการ

เราถึงได้ยินเรื่องท่อน้ำเลี้ยงในพรรคการเมืองเพราะมีคนในสังกัดต้องดูแลและมีภาษีสังคมที่ต้องจ่าย

การที่คนๆ หนึ่งจะทำผิดต่อส่วนรวมหรือทำผิดต่อใครบางคน จึงไม่ใช่เพราะว่าเขาอยากทำเลว แต่เพราะเขาเชื่อว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องยิ่งกว่าต่างหาก

ผมไม่ได้จะให้ท้ายคนทำผิดนะครับ แค่จะบอกว่า ถ้าเราตั้งต้นด้วยความเชื่อที่ว่าไม่มีใครอยากทำเลวอย่างที่คุณกันต์บอก เราก็ยังพอมีหวังอยู่บ้าง

มีหวังที่จะเข้าใจหรือยอมรับเรื่องราวต่างๆ อย่างที่มันเป็น มากกว่าด่วนตัดสินด้วยข้อมูลที่อาจหมดอายุหรือจากอคติที่ซ่อนอยู่ในใจ

และหลังจากที่เราเข้าใจหรือยอมรับได้แล้วเท่านั้น เราถึงจะพอมีโอกาสเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นได้


ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก a day BULLETIN issue 478 | 27 March 2017

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives