นั่งคุยกับพ่อ

วันพรุ่งนี้ 14 กันยายน 2563 พ่อผมจะมีอายุครบ 72 ปี

เย็นวานนี้เพื่อนฝูงของพ่อจึงจัดงานเลี้ยงให้พ่อหนึ่งงาน และเที่ยงวันครอบครัวก็จัดงานเลี้ยงให้พ่ออีกหนึ่งงาน

แขกที่มาร่วมงาน จะได้ของที่ระลึกกลับไปด้วย และหนึ่งในนั้นคือหนังสือชื่อ “นั่งคุยกับพ่อ” ซึ่งตั้งใจเขียนขึ้นมาสำหรับวาระพิเศษนี้โดยเฉพาะ

ในหนังสือ ผมเขียนคำนำเอาไว้ดังนี้


สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวของ ประสาร-กาญจน์ลดา มฤคพิทักษ์ ไม่คุ้นเคย ก็คือการจัดงานวันเกิด

ตั้งแต่ผมจำความได้ ทั้งพ่อและแม่ไม่เคยฉลองวันเกิดเลยสักครั้ง ส่วนผมกับน้องชายที่เกิดวันเดียวกันแต่ห่างกัน 4 ปีก็เคยจัดงานวันเกิดแค่ครั้งเดียวตอนที่ผมอยู่ม.1 ทุกวันเกิดที่ผ่านๆ มาจึงเป็นเหมือนวันธรรมดาอีกวันหนึ่ง อย่างมากเราก็แค่ส่งข้อความแฮปปี้เบิร์ธเดย์กันทางกรุ๊ปไลน์ของครอบครัว ส่วนพ่อจะพิเศษหน่อยคือเขียนคำอวยพรเป็นบทกลอนแต่ก็ยังส่งผ่านไลน์อยู่ดี

อย่างไรก็ตาม วันที่ 14 กันยายน 2563 เป็นวันเกิดที่พิเศษกว่าวันอื่นๆ เพราะพ่อจะมีอายุครบ 72 ปี กลุ่มเพื่อนพ้องของพ่อจึงนัดหมายเพื่อจะจัดงานเลี้ยงวันเกิดให้พ่อ ส่วนแม่ก็มองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะนัดคนในตระกูลรวมถึงเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เคยเกื้อกูลกันมามาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันสักมื้อ

เมื่อต้องมาเจอกัน เราเลยคิดว่าน่าจะดีถ้ามีของที่ระลึกติดไม้ติดมือให้แขกเสียหน่อย และของที่ระลึกที่เราคิดจะทำก็คือ “หนังสือ” แม้รู้ว่าคนอ่านหนังสือนั้นเหลือน้อยลงทุกที แต่หนังสือก็มีคุณค่าในแบบที่สื่ออื่นมอบให้ไม่ได้

ธรรมดาคนมีอายุครบ 6 รอบน่าจะอยากมีหนังสือที่บอกเล่าชีวประวัติของตัวเอง ว่าผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความสำเร็จและความล้มเหลวอะไรมาบ้าง แต่พ่อไม่ใช่คนแบบนั้น พ่อไม่ได้อยากเล่าเรื่องอะไรของตัวเองเลย พ่อจึงเลือกที่จะนำบทความที่เคยเขียนลงเฟซบุ๊คนับร้อยบทความมาคัดสรรเหลือ 72 เรื่องเป็นหนังสือชื่อ “หอมกลิ่นความดี”

แต่กระนั้น ผมก็คิดว่าน่าจะเป็นการดีที่จะบันทึกประสบการณ์ตลอด 72 ปีของพ่อเอาไว้บ้าง เพราะพ่อมีส่วนในเหตุการณ์สำคัญทางบ้านเมืองหลายต่อหลายครั้ง “ผึ้ง” ภรรยาของผมเลยบอกว่าทำไมผมไม่เขียนเองดูล่ะ น่าจะได้มุมมองที่น่าสนใจและได้อรรถรสดี

หนังสือเล่มนี้จึงเกิดขึ้นด้วยการไปนั่งคุยกับพ่อ ส่วนใหญ่จะเป็นตอนค่ำหลังมื้อเย็น ไล่เรียงตั้งแต่วัยเยาว์ที่พ่อเป็นสมาชิกวงอังกะลุง เป็นประธานชมรมที่สวนกุหลาบ เป็นนายฉันท์แก่นที่จุฬาฯ เป็นหนึ่งใน 100 คนที่ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญในปี 2516 เป็นสหายที่เข้าป่าจับปืน เป็นเจ้าของรายการชีวิตธุรกิจ เป็น ส.ส. สอบตก เป็นวุฒิสมาชิก เป็นคนร่วมถอดถอนรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่โดนนักการเมืองใหญ่ฟ้องร้อง เป็นผู้ปราศรัยบนเวที กปปส. จนกระทั่งมาเป็นปู่ของหลานสี่คนในวันนี้

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งคุยกับพ่ออย่างเจาะลึกในทุกแง่มุม ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เข้าใจในสิ่งที่เข้าใจผิดมาโดยตลอด ได้เห็นสิ่งที่เปลี่ยนไปและสิ่งที่ยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงของคนที่ผมเรียกว่า “พ่อ” มาทั้งชีวิต

ขอบคุณผึ้งที่เป็นเจ้าของไอเดีย ขอบคุณแม่ที่เข้ามาร่วมวงตอบคำถาม ขอบคุณรองที่ช่วยออกแบบปกหนังสือ ขอบคุณขวัญ ภรรยาของรองที่ช่วยรีวิวต้นฉบับ ขอบคุณกัลยาณมิตรของพ่อที่ร่วมเขียนมุมมองที่มีต่อพ่อด้วยไมตรีจิต

และแน่นอน ต้องขอบคุณพ่อที่เป็นตาน้ำของเนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ในบทสนทนาและข้อความระหว่างบรรทัดจะทำให้ผู้อ่านได้แง่คิดอะไรบางอย่างที่จะนำมาสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง คนใกล้ตัว และสังคมต่อไป

ขอให้อ่านหนังสือให้สนุกครับ

รุตม์ – อานนทวงศ์ มฤคพิทักษ์
สิงหาคม 2563


ผมมีหนังสือนั่งคุยกับพ่อมาแจก 5 เล่ม

ใครอยากลุ้น ลองมาคอมเมนท์ครับว่า เรามีความประทับใจอะไรในตัวพ่อบ้าง

โดยจะแจกให้กับผู้ติดตามทางเพจเฟซบุ๊ค 3 เล่ม และทาง blockdit 2 เล่มครับ

คอมเมนท์ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 กันยายน และจะประกาศผลวันอังคารที่ 15 กันยายนครับ

เหตุผลที่เราอยากทำงานมากกว่าอยากดูลูก

20200412b

เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่โหยหาความสำเร็จ

เดือนที่ผ่านมา พ่อแม่ที่ทำงานที่บ้าน ย่อมเจอปัญหาคลาสสิคคือลูกมาชวนเล่นด้วย

จะเล่นกับลูกก็เสียงาน จะไม่เล่นกับลูกก็รู้สึกเหมือนเราเป็นพ่อแม่ที่ใช้ไม่ได้

แต่แม้เราจะไม่ได้ทำงานที่บ้าน เราก็ยังมีแนวโน้มที่จะเทเวลาให้กับงานมากกว่าจะเทให้กับลูกอยู่ดี

ศาสตราจารย์เคลย์ตัน คริสเตนเซน ผู้เขียนหนังสือ How Will You Measure Your Life ที่ผมเขียนถึงเมื่อวานนี้ ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า มันเป็นเพราะเราโหยหาความสำเร็จ

เราทำงานเสร็จหนึ่งชิ้นก็รู้สึกสำเร็จ

ได้ตอบสแล็คก็รู้สึกสำเร็จ

เช็คเมลใหม่ก็รู้สึกสำเร็จ

แม้กระทั่งอ่านบทความในเฟซบุ๊คจบก็รู้สึกสำเร็จเช่นกัน

แต่เวลาเราเล่นกับลูกเราจะไม่ค่อยได้สัมผัสความสำเร็จ

งานส่วนใหญ่ใช้เวลาแค่ไม่กี่นาทีหรือไม่กี่ชั่วโมงเพื่อทำให้มันเสร็จและเป็น achievement สำหรับเราได้

แต่การเลี้ยงลูกมันคืองานที่ต้องใช้เวลาเป็นสิบหรือยี่สิบปี กว่าที่เขาจะโตพอ ให้เรายืนเท้าสะเอวมองเค้าจากที่ไกลๆ แล้วรู้สึกภูมิใจกับตัวเองว่าเรานี่ก็เลี้ยงลูกใช้ได้เหมือนกันนะ

เรื่องนี้ไม่ได้มีทางออกให้ ผมแค่ชี้ทางเข้าให้เฉยๆ ว่าทำไมเราถึงมีแนวโน้มที่จะสนใจงานมากกว่าลูก

เมื่อระลึกถึงสาเหตุได้แล้ว จะได้เตือนตัวเองให้รักษาบาลานซ์ให้ดีๆ ครับ

—–

“ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมวางแผงแล้วนะครับ ถ้าช่วงนี้ไม่สะดวกไปร้านหนังสือ ก็ซื้อได้ที่ whatisitpress.com ครับ

ติดตาม Anontawong’s Musings ทาง LINE: https://lin.ee/2VZMu59

ทิ้งงานไว้หน้าบ้าน

20190122_work

ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ผมทดลองเปลี่ยนพฤติกรรมสองอย่าง

หนึ่ง เมื่อถึงบ้าน ผมจะเสียบมือถือชาร์จทิ้งไว้นอกห้องนอน

สอง เมื่อเข้าห้องนอนแล้ว ก็ไม่กลับออกมานั่งทำงานอีก

แต่ก่อน ถ้าเอามือถือเข้าไปในห้องนอน ผมอดไม่ได้ที่จะเล่นมือถือ ทั้งๆ ที่ลูกก็รอเล่นกับเรามาทั้งวัน และพอลูกหลับแล้ว บ่อยครั้งที่ผมจะเดินออกมาหยิบแล็ปท็อปออกจากเป้แล้วนั่งทำงานอีกนิดหน่อย ซึ่งบางทีก็เลยเถิดจนดึกดื่น ทำให้วันถัดมาไม่ค่อยสดชื่นเท่าไหร่

พอมาเดี๋ยวนี้ เมื่อเอามือถือไว้นอกห้องและทิ้งคอมไว้ในเป้ ก็รู้สึกว่าจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น

ถามว่าเสียโอกาสที่จะทำงานให้เสร็จมากขึ้นมั้ย ก็คงมีบ้าง แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าที่เราทำงานหนักๆ กันอยู่ นี่สุดท้ายแล้วเราทำไปเพื่อใคร

ถ้าไม่รู้จักขีดเส้นให้ตัวเอง งานและสิ่งเร้าก็จะคอยล้ำเส้นเราอยู่เรื่อยๆ จนเราหลงลืมสิ่งสำคัญที่แท้จริงครับ