ความแตกต่างระหว่างคนรวยจริงกับคนรวยปลอม

Ken Honda เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ออกหนังสือมาแล้วกว่า 50 เล่ม

ฮอนดะเคยทำการสำรวจเศรษฐี (millionaire) ชาวญี่ปุ่นจำนวน 12,000 คนและพบว่า ไม่ว่าเศรษฐีเหล่านี้จะมีเงินเท่าไหร่ พวกเขาก็ยังต้องการมากขึ้นอยู่ดี

ฮอนดะเคยสัมภาษณ์คนที่มีเงิน 1 ล้านเหรียญในธนาคารว่า “คุณรู้สึกว่าคุณร่ำรวยอย่างแท้จริงรึยัง” เขาตอบว่ายัง เพราะเขายังมีเงินไม่ถึง 10 ล้านเหรียญ

แต่พอฮอนดะไปถามคนที่มีเงิน 10 ล้านเหรียญ เขาก็ตอบว่ายังไม่รวยเช่นกัน เพราะอยากมีเครื่องบินส่วนตัว

แล้วพอฮอนดะไปถามคนที่มีเครื่องบินส่วนตัว เขาก็ตอบว่ายังไม่รวย เพราะเครื่องบินของเขานั่งได้แค่ 6 คน

ดังนั้นจำนวนเงินในกระเป๋า (หรือในธนาคาร) จึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่นำไปสู่ความรู้สึกว่าเรารวยแล้ว

ฮอนดะพบว่า ความแตกต่างระหว่างเศรษฐีที่ยังไม่รวยกับเศรษฐีที่รู้สึกว่ารวยแล้วนั้นมีอยู่อย่างเดียว นั่นคือโลกทัศน์ที่เปลี่ยนไป – a shift in worldview

คนที่รู้สึกว่าตัวเองรวยแล้วมองว่าเงินเป็นเหมือนอากาศที่มีอยู่ทุกที่ และเงินเหล่านี้ก็จะไหลผ่านเขาเมื่อถึงเวลาจำเป็น พวกเขาไม่มีเป้าหมายทางการเงิน ไม่มีเป้าหมายที่จะซื้อเครื่องบินส่วนตัว พวกเขาแค่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาเขาก็จะมีเงินที่จำเป็นต้องใช้เอง และเมื่อเขาเชื่อแบบนี้ เขาจึงสามารถตอบว่า “รวยแล้ว!” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

เป็นมุมมองที่น่าสนใจ เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง

เผื่อวันหนึ่งเราจะมองเงินเป็นเหมือนอากาศได้อย่างเขาบ้างครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Buddha and The Badass by Vishen Lakhiani

เมื่อรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดคือดอกเบี้ย

สำหรับบางคน รายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดของแต่ละเดือนคือดอกเบี้ย

ใครที่ผ่อนบ้านหรือคอนโด จะรู้ดีว่าช่วง 5-10 ปีแรกนั้น เงินที่ส่งแต่ละเดือนจะเป็นค่าดอกเบี้ยเกินกว่าครึ่ง

ผ่อนบ้านปีละ 500,000 บาท เป็นค่าดอกเบี้ยไปแล้ว 250,000 บาท

ส่วนคนที่เป็นหนี้บัตรเครดิต รูดจ่ายเดือนละ 20,000 บาทและชำระขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ภายในเวลา 1 ปีเราจะเสียดอกเบี้ยไป 20,234 บาทและเป็นหนี้อยู่ 143,077 บาท

และถ้าใครเป็นหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยก็จะมหาโหดยิ่งกว่านี้

เลยกลายเป็นว่า เราจ่ายดอกเบี้ยมากกว่าจ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าท่องเที่ยว หรือค่าโรงเรียนลูกเสียอีก

แน่นอนว่าสำหรับคนส่วนใหญ่ ดอกเบี้ยบ้านเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

แต่ดอกเบี้ยบัตรเครดิตและดอกเบี้ยจากเงินกู้นอกระบบนั้น หากเรามีรายได้สม่ำเสมอแล้วยังมีหนี้เหล่านี้ ก็แสดงว่าเราอาจใช้เงินเกินตัวไปหน่อย

เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี เงินนั้นหามาได้ยากขึ้น แต่เวลาไหลออกนั้นง่ายดายแค่ปลายนิ้ว

เงินนั้นคือสิ่งที่เราเอาพลังชีวิตและเวลาอันจำกัดไปแลกมันมา

ยิ่งเราติดหนี้มากเท่าไหร่ เวลาในอนาคตของเราก็ยิ่งถูกยึดครองไปมากเท่านั้นครับ

คำแนะนำทางการเงินสำหรับลูกชายที่เพิ่งลืมตาดูโลก

Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money เคยเขียนบทความชื่อ Financial Advice for My New Son ลงใน The Motley Fool เมื่อวันที่ 13 October 2015

ผมเห็นว่ามีประโยชน์มากจึงขอนำมาแปลไว้ตรงนี้นะครับ


ภรรยากับผมเพิ่งต้อนรับลูกชายสู่โลกใบนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มันคือประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ใครคนหนึ่งจะมีได้

ตอนนี้สิ่งเดียวที่ลูกชายผมสนใจคือการไม่ยอมให้พวกเราได้นอนเลยตลอด 24×7

แต่วันหนึ่งในอนาคตอันยาวไกล ลูกจะหันมาสนใจเรื่องการเงิน และเมื่อถึงวันนั้น นี่คือสิ่งที่ผมอยากแนะนำ

1. ลูกอาจจะคิดว่าลูกอยากได้รถแพงๆ นาฬิกาหรูๆ และบ้านหลังใหญ่ แต่พ่อขอบอกลูกไว้เลยว่าลูกไม่ได้ต้องการสิ่งเหล่านั้นหรอก สิ่งที่ลูกต้องการคือความเคารพและความชื่นชมจากคนรอบตัว และลูกก็คิดไปเองว่าการมีของแพงๆ จะทำให้ได้สิ่งเหล่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วมันแทบไม่เคยนำพาสิ่งเหล่านั้นมาให้เลย โดยเฉพาะจากคนที่ลูกอยากให้เคารพและชื่นชมลูก

เวลาลูกเห็นคนขับรถเท่ๆ ลูกคงแทบไม่เคยคิดว่า “โห พี่คนนั้นเท่จังเลย” แต่ลูกจะคิดว่า “โห ถ้าเราได้ขับรถคันนั้นเราคงเท่น่าดู” เห็นความย้อนแย้งนี้มั้ย? ไม่มีใครสนใจคนที่นั่งอยู่ในรถหรอกนะ

จะซื้อของดีๆ มาใช้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ขอให้รู้ไว้ว่าสิ่งที่คนเราแสวงหานั้นคือความเคารพนับถือ และความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นจะสร้างความนับถือได้มากกว่าความจองหอง

2. เป็นเรื่องธรรมดาที่ลูกจะคิดว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวทางการเงินเป็นสิ่งที่สมควรกับแต่ละคนแล้ว แต่มันเป็นความจริงถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น

เพราะชีวิตคนเป็นเพียงภาพสะท้อนของประสบการณ์ที่เขาได้รับและผู้คนที่เขาได้พบ ซึ่งหลายครั้งก็เกิดจากโชค อุบัติเหตุ หรือความบังเอิญ

บางคนเกิดมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา ขณะที่บางคนเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้สนับสนุนเรื่องนี้ บางคนได้เกิดมาในประเทศที่เศรษฐกิจกำลังไปได้สวยและเต็มไปด้วยผู้ประกอบการ ขณะที่บางคนเกิดในประเทศที่มีสงครามและความแร้นแค้น

พ่ออยากให้ลูกประสบความสำเร็จ และอยากให้ลูกได้มันมาอย่างคู่ควร แต่ขอให้เข้าใจว่าไม่ใช่ทุกความสำเร็จที่เกิดจากการทำงานหนัก และไม่ใช่ทุกความยากจนที่เกิดจากความขี้เกียจ ขอให้ระลึกถึงความจริงข้อนี้ทุกครั้งก่อนจะตัดสินใคร-รวมถึงตัวลูกเองด้วย

3. ข้อนี้อาจจะฟังดูแรงหน่อย แต่พ่อหวังว่าลูกจะมีช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีตังค์บ้าง

ไม่ถึงกับขนาดต้องดิ้นรนหรือทนทุกข์หรอกนะ แต่ไม่มีทางเลยที่ลูกจะได้เรียนรู้คุณค่าของเงินจนกว่าลูกจะเจอกับความขาดแคลนของมันด้วยตัวเอง

มันจะสอนให้ลูกเข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จำเป็นกับสิ่งที่อยากได้ มันจะบังคับให้ลูกต้องวางแผนการใช้เงินให้ดีๆ มันจะสอนให้ลูกมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ลูกจะได้เรียนรู้การซ่อมของที่เสียนิดหน่อยและซื้อของโดยมองที่ความคุ้มค่า ทุกอย่างนี้เป็นทักษะที่สำคัญเพื่อการอยู่รอดทั้งนั้น

หากลูกรู้จักการอยู่อย่างคนจนที่มีศักดิ์ศรี ลูกจะรับมือกับช่วงเวลาที่มีเงินและช่วงที่ไม่มีเงินได้โดยไม่ลำบากเกินไปนัก

4. เมื่อลูกโตขึ้น ถ้าลูกเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ ลูกจะมักคิดว่า “พอเรามีเงินเดือน/เงินเก็บถึง $X แล้ว ทุกอย่างก็จะเพอร์เฟ็กต์”

แล้วพอลูกมีเงินถึง $X ลูกก็จะเขยิบเป้าออกไป แล้วลูกก็จะเริ่มวิ่งไล่งับหางตัวเองอีกครั้ง มันคือวงจรที่น่าสงสารมาก

การเก็บออมและความก้าวหน้าเป็นเรื่องดี แต่ขอให้เข้าใจว่าลูกจะปรับตัวเข้ากับความสะดวกสบายใหม่ๆ ได้รวดเร็วกว่าที่ลูกคิด และเป้าหมายในชีวิตไม่ควรจะมีแต่เรื่องเงิน

5. อย่าทนทำงานที่ตัวเองเกลียดเพียงเพราะว่าลูกเลือกเรียนผิดคณะตอนอายุ 18

พ่อได้แต่ส่ายหัวเวลาเห็นเด็กปีหนึ่งต้องเลือกวิชาเอกที่มักจะกำหนดการทำงานของเขาไปทั้งชีวิต

เวลาคนเราอายุเท่านั้นแทบไม่มีใครรู้หรอกนะว่าตัวเองอยากทำอะไร บางคนอายุมากกว่านั้นสองเท่ายังไม่รู้เลย

6. ถ้าจำเป็นก็เปลี่ยนใจได้ (Change your mind when you need to.)

พ่อสังเกตว่าคนเรามักจะคิดว่าตัวเองเป็นเซียนการลงทุนตั้งแต่ตอนหนุ่มสาว พวกเขาจะเริ่มลงทุนตอนอายุ 18 แล้วพออายุ 19 ก็คิดว่าตัวเองเข้าใจทุกอย่างแล้ว ความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย

ความมั่นอกมั่นใจนั้นพุ่งเร็วกว่าความสามารถเสมอ โดยเฉพาะในคนหนุ่ม ดังนั้นจงเรียนรู้ทักษะการเปลี่ยนใจ กล้าทิ้งความเชื่อเดิมๆ และแทนที่มันด้วยความจริงชุดใหม่ๆ บ้าง

มันยากนะ แต่มันก็จำเป็น ไม่ต้องไปรู้สึกแย่ เพราะความสามารถในการเปลี่ยนใจเวลาที่รู้ว่าตัวเองผิดคือสัญญาณของคนฉลาด

7. สิ่งที่ดีที่สุดที่เงินจะซื้อให้ลูกได้คือการได้เป็นนายของเวลา มันจะทำให้ลูกมีทางเลือกและปลดแอกลูกจากเรื่องสำคัญของคนอื่น วันหนึ่งลูกจะเข้าใจว่าอิสรภาพเช่นนี้แหละที่จะทำให้ลูกมีความสุขได้อย่างแท้จริง

8. ถนนแห่งโศกนาฎกรรมทางการเงินนั้นถูกปูด้วยหนี้สิน-แล้วก็พวกเซลส์ที่มาขายของด้วย-แต่ส่วนใหญ่ถนนเส้นนี้ถูกปูด้วยหนี้สิน

ลูกจะตกใจว่ามีปัญหาด้านการเงินมากมายแค่ไหนที่เกิดจากการกู้ยืม การเป็นหนี้จะพรากอนาคตจากลูกไปเพียงเพราะลูกอยากได้ของบางอย่างในตอนนี้-ของบางอย่างที่ลูกก็จะชินกับมันอยู่ดี

แน่นอนว่าลูกคงต้องมีหนี้สินอย่างการกู้บ้าน อันนั้นไม่เป็นไร แต่พ่ออยากให้ลูกระแวดระวัง เพราะหนี้ส่วนใหญ่นั้นไม่ต่างอะไรกับยาเสพติด ที่ช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นแค่ประเดี๋ยวประด๋าว แต่ฉุดชีวิตลูกอยู่ได้อยู่หลายปี มันทำให้ลูกไร้ซึ่งทางเลือกเพราะถูกอดีตผูกมัดเอาไว้

9. ลูกจะมีเงินเก็บมากแค่ไหนนั้นไม่ค่อยเกี่ยวกับรายได้ แต่เกี่ยวกับรายจ่ายเป็นหลัก

พ่อรู้จักทันตแพทย์ที่ใช้เงินเดือนชนเดือนและใช้ชีวิตอยู่บนเส้นด้ายทางการเงิน และพ่อก็รู้จักคนที่รายได้เดือนละไม่กี่หมื่นแต่มีเงินเก็บเป็นกอบเป็นกำ ความแตกต่างนี้เกิดจากนิสัยการใช้จ่ายเงินล้วนๆ

รายได้ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าลูกจะมีเงินเก็บเท่าไหร่ และเงินเก็บที่ลูกมีก็ไม่ใช่ตัวกำหนดว่าลูกจำเป็นต้องมีอะไร

(How much you make doesn’t determine how much you have. And how much you have doesn’t determine how much you need.)

พ่อไม่ได้บอกให้ลูกต้องเป็นคนตระหนี่และเอาแต่เก็บเงินหรอกนะ แต่ขอให้รู้ว่าการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตแบบไม่ต้องใช้เงินเยอะนั้นคือทางที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการสร้างอนาคตทางการเงินของลูก

10. ถ้าลูกไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พ่อเขียนก็ไม่ต้องเชื่อพ่อ เพราะทุกคนล้วนต่างกัน โลกที่จะลูกจะเติบโตขึ้นมานั้นย่อมแตกต่างจากโลกที่พ่อรู้จัก ทั้งในเรื่องของโอกาสและชุดความคิด ที่สำคัญกว่านั้นก็คือลูกจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อลูกไม่เห็นด้วยกับใครบางคนและจำเป็นต้องเรียนรู้มันด้วยตัวเอง (แต่พ่อแนะนำว่าลูกควรเชื่อฟังแม่เสมอนะ)

เอาล่ะลูก ทีนี้ก็ปล่อยให้พ่อไปนอนได้แล้ว


ขอบคุณเนื้อหาจาก Morgan Housel: Financial Advice for My New Son