อยากเป็นศิลปินหรืออยากเป็นคนดัง

ผมได้ฟังรายการ ติดคุย ที่ “พุฒต้าเร” สัมภาษณ์ เจ มณฑล จิรา

เจ มณฑล เคยโด่งดังเป็นพลุแตกจากโฆษณาทเวลฟ์ พลัส โคโลญ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

เจเคยเป็นทั้งนายแบบและนักแสดง แต่สิ่งที่เขาจริงจังมากที่สุดคือเรื่องดนตรี เคยมีอัลบั้มของตัวเอง เคยไปทัวร์กับวงดนตรีเมืองนอก และเคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินหลายคน

ผมเพิ่งรู้จากรายการนี้ว่าเขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Wonderfruit Festival เทศกาลดนตรีสุดฮิป น้อง Gen Z หลายคนที่ผมรู้จักก็ไปงานนี้กัน

ผมชอบคำตอบในช่วงท้ายๆ ของรายการมากจนอยากจะเอามาบันทึกในบล็อกนี้ (นาทีที่ 52 เป็นต้นไป)

เจ: เราจะคิดไปว่า เรามาเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้เค้า เค้าอาจจะยังไม่เข้าใจตอนนี้ เค้าอาจจะไม่ชอบตอนนี้ แต่ว่าวันนึงเค้าอาจจะเห็นความตั้งใจของเรา ขอแค่เค้าไม่…ภาษาอังกฤษเค้าจะเรียกว่า clear the floor…แต่มันก็มีนะ เมื่อก่อนมีหลายช่วงเลย ที่เราออกไปเป็นดีเจ ตอนแรกคนจะเต็ม เล่นไปซักพักนึงคนจะโล่งเลย…ซึ่งบางครั้งถ้ามันไม่เกิดขึ้น แสดงว่าเราต้องทำอะไรผิด…มันต้อง clear the floor บ้าง ไม่อย่างนั้นแสดงว่าแนวเพลงเรามันอาจจะง่ายไป

ต้า: ความหมายก็คือ ถ้าเล่นแล้วคนยังอยู่ แสดงว่าลิสต์เพลงเราป๊อปไป ง่ายไป คนดูก็เลยยังอยู่ ต้องเล่นให้มันยากขึ้นให้คนเดินหนี (เจ: ใช่!) -ึงบ้ารึเปล่า?

ต้า: นี่แหละเดนตายเลยล่ะ รับรอง

เจ: ก็อย่าท้อสิ เรารู้ว่าถ้าเราเล่นเพลงง่ายๆ เดี๋ยวเค้าก็กลับมา แต่เพลงที่ง่ายน่ะ คนก่อนเรากับคนหลังเราเค้าเล่นอยู่แล้ว

เร: อันนี้คือรายการพื้นที่ชีวิต หรือ RAMA Channel รึเปล่า

เจ: เพราะเราเห็นหลายวงขึ้นเวทีไป พอเค้าลงมา เราถามว่าดีมั้ย? เค้าบอก ‘ไม่ค่อยดีว่ะ energy คนดูเค้าไม่ตาม’ แต่เราถามว่าการแสดงน่ะมันดีมั้ย เค้าบอก ‘ไม่ดีอ่ะ เพราะคนมันไม่ตาม’ – เกี่ยวอะไร มันวัดผิด บางคนจะบอกว่า ‘อ๋อ โคตรดีอ่ะ คนมันโคตรอินเลย’ – ไม่ๆ แต่การแสดงอ่ะ วงเล่นดีรึเปล่า มันคนละเรื่องกันเลย เราถามนักดนตรี กับเราถาม entertainer มันคนละอย่างกัน

ต้า: แต่กูก็ยังไม่บรรลุแบบมัน กูยังไม่กล้าพอที่จะเล่นให้คนหนี

เจ: เราไม่ได้พยายามจะเล่นให้คนหนี แต่เราแค่เห็นว่าสิ่งที่เราอยากจะเล่นน่ะมันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เค้าต้องการ

เจ: แต่ว่าตอนหลัง คนที่มา Wonderfruit เค้าจะแบบ ว้าว! ตอนนี้ทำไมมันเป็นสิ่งที่ต้องการแล้วล่ะ…ใช่มั้ย? มันต้องใช้เวลา

เร: ขออีกคำถามนึงสำหรับน้องๆ ที่เค้าอยากเป็นศิลปินมาก อาจจะออกผลงานมาเรื่อยๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เปรี้ยงซักที จะให้กำลังใจเค้ายังไงครับ?

เจ: ก็ต้องดูว่าความสำเร็จที่เค้าต้องการมันคืออะไร – อยากจะดังใช่มั้ย? ถ้าอยากดัง ไปทำคลิป TikTok เต้นไปเต้นมา 15 วิก็พอ ไม่ต้องทำเพลงหรอก…แต่ถ้าอยากเป็นนักดนตรีที่ดี อยู่บ้าน ซ้อมเยอะๆ ฟังเพลงเยอะๆ แค่นั้นแหละ


Seth Godin เป็นหนึ่งในฮีโร่ของผมในการเขียนบล็อก เขาเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอมา 20 ปีแล้ว

เซธบอกว่าทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้ โดยศิลปิน (artist) ในนิยามของเซธ คือคนที่กล้าสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา อะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่เวิร์ค (something that might not work) แล้วก็แชร์สิ่งนั้นเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในใจให้กับคนอื่น

ด้วยนิยามแบบนี้ บล็อกเกอร์ก็นับเป็นศิลปินได้เช่นกัน

ผมจึงชอบแนวคิดของเจ มนฑล เป็นพิเศษ เพราะเขาเดินทางในวงการนี้มาหลายสิบปี และเข้าใจแล้วว่าแก่นของการเป็นศิลปินคืออะไร

ศิลปินต้องกล้าที่จะเสี่ยง ต้องกล้าทำอะไรบางอย่างที่มันอาจจะไม่เวิร์ค

ถ้าอยากจะเป็นศิลปินที่ดี ก็จงมุ่งมั่นฝึกปรือฝีมือของเราต่อไป แต่ถ้าอยากเป็นคนดัง มันมีวิธีที่ง่ายกว่านั้น ไม่ต้องเป็นศิลปินก็ได้

ดังนั้น ใครที่เลือกจะเป็น content creator หากงานของเรามันยังไม่ปัง ยังไม่เคยไวรัล ก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ ตราบใดที่เจตนาของเราคือการสร้างผลงานที่มีประโยชน์ คือการแบ่งปันสิ่งที่เรามีเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ผู้อื่น เราก็ควรจะภูมิใจกับตัวเองได้โดยไม่ต้องดูยอดไลค์กำกับ

สิ่งที่เราควรระมัดระวัง คือการโหยหาความยอมรับเสียจนเรายอมลดมาตรฐานหรือปรับแต่งผลงานของเพื่อให้ถูกใจ algorithm ของโซเชียลมีเดียและคนหมู่มาก เพราะเมื่อเราพยายามจะเอาใจคนอื่นเกินไป เราก็จะหลงลืมเหตุผลที่เราเริ่มทำสิ่งนี้ตั้งแต่แรก

งานบางอย่างต้องใช้เวลา บางคนเขาอาจจะยังไม่พร้อมตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ตอนนี้ “เพลง” ของเราอาจจะยังฟังยากสักหน่อย

“เพลงที่ง่ายน่ะ คนก่อนเรากับคนหลังเราเค้าเล่นอยู่แล้ว”

บรรเลงเพลงของเราให้ดีต่อไป แล้ววันหนึ่งจะมีคนเข้าใจเราแน่นอน

รีวิวการเปิดเพจบน Blockdit

สัปดาห์ที่ผ่านมา เพจ Anontawong’s Musings บน Blockdit มียอด followers ครบ 20,000 คน หลังจากที่ผมเปิดเพจบนแพลตฟอร์มนี้มาร่วม 2 ปี

วันนี้เลยจะมาขอแชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเปิดเพจบนแพลตฟอร์มนี้ครับ

Blockdit คืออะไร
Blockdit บอกว่าตัวเองเป็น social network platform that connects all great ideas together. เป็นแอปที่สร้างโดยทีมงาน ลงทุนแมน พัฒนาโดยคนไทยเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ

ไม่มีนักเลงคีย์บอร์ด
สิ่งที่เห็นได้ชัดใน Blockdit ก็คือในสังคมนี้ไม่ค่อยมีการทะเลาะกัน ส่วนใหญ่จะมาคอมเมนท์กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้เข้ามาทุ่มเถียงเอาเป็นเอาตายเหมือนใน Facebook หรือใน Twitter เพจที่เปิดอยู่ในนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวที่มีสาระและให้ความรู้ ไม่ค่อยมีเนื้อหาดราม่าที่พาอารมณ์คนอ่านนั่งรถไฟเหาะ

สิ่งที่ Blockdit เด่นกว่า Facebook
ถ้าดูไวๆ Blockdit แทบจะเหมือนเฟซบุ๊คทุกอย่าง ทั้งเฉดสี เลย์เอาท์ ปุ่ม reaction ต่างๆ ส่วนในฐานะเจ้าของเพจก็มีปุ่มบู๊สต์โพสต์เพื่อให้คนเห็นบทความเรามากขึ้นด้วย

แต่ก็มีหลายฟีเจอร์ของ Blockdit ที่ไม่มีบนเฟซบุ๊ค เช่นเวลาโพสต์บทความ Blockdit เราสามารถแทรกรูปภาพในบทความได้หลายรูป ทำให้ประสบการณ์การอ่านนั้นดีกว่าบนเฟซบุ๊ค ที่รูปก็อยู่ส่วนรูป บทความก็อยู่ส่วนบทความ

Blockdit ยังเปิดให้เขียนเป็น Series ก็ได้ หรือจะโพสต์พอดคาสท์ก็ได้ ทั้งสองอย่างนี้ผมยังไม่ได้ลอง แต่เห็นเจ้าของเพจคนอื่นๆ ก็ใช้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

สิ่งที่ผมประทับใจที่สุดอีกอย่างก็คือ response time ของ Blockdit นั้นเร็วมาก ไม่ว่าจะอัพโหลดรูปหรือกดโพสต์ ข้อความของเราก็จะ live แทบทันที ซึ่งต่างจากเวลาที่ผมโพสต์ลงเฟซบุ๊คที่ตอนนี้เปลี่ยน interface ไปเป็นแบ็คกราวด์สีดำ พอกดโพสต์แล้วต้องนับ 1-10 ในใจกว่าบทความนั้นจะโพสต์สำเร็จ

เปิดโอกาสให้บทความเก่าๆ ได้ “เห็นเดือนเห็นตะวัน”
บนเฟซบุ๊คนั้น อะไรที่เก่าเกินหนึ่งสัปดาห์เราก็แทบจะไม่มีโอกาสได้เจอหน้ามันอีกแล้ว แต่บน Blockdit นั้น เมื่ออ่านไปจนจบบทความ มันจะมีบทความแนะนำที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันมาให้เราได้อ่านอีก ซึ่งบทความเหล่านั้นอาจจะถูกเขียนเอาไว้หลายเดือนแล้วก็ได้ บทความเก่าๆ ของผมหลายตอนเลยถูกคนนำมาแชร์ใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้แทบไม่เคยเกิดขึ้นบนเฟซบุ๊คเลย

ยอดไลค์โตเร็วกว่าเฟซบุ๊ค
ผมเปิดเพจ Anontawong’s Musings บน Facebook มาเกือบ 6 ปี มีคนตามเพจประมาณ 30,000 คน ส่วน Blockdit นั้นมีคนตามครบ 20,000 คนภายในเวลาไม่ถึงสองปี ดังนั้นคิดว่าภายใน 18 เดือนข้างหน้า ยอด followers บน Blockdit ก็น่าจะแซง Facebook ได้ไม่ยาก

ถ้าบทความดังจน “ติดดาว” ก็จะได้ค่าตอบแทน
บทความติดดาวความว่าบทความนี้ได้รับความนิยมและ Blockdit ก็จะตอบแทนนักเขียนเป็นตัวเงิน โดยบทความที่ได้ดาวจะได้ค่าตอบแทนที่ประมาณ 80-120 บาท เมื่อรายได้สะสมเกิน 1,000 บาทก็สามารถขอให้ทาง Blockdit โอนเงินเข้าบัญชีเราได้ และมีหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายส่งมาให้ทางอีเมลด้วย

ตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมาผมโพสต์บทความไปทั้งหมด 656 โพสต์ เป็นบทความติดดาว 267 โพสต์ และได้ค่าตอบแทนจาก Blockdit รวมแล้วประมาณ 25,000 บาทครับ

ผมคิดว่า algorithm ในการติดดาวยังไม่ค่อยเสมอต้นเสมอปลายเท่าไหร่ บางบทความมีคนกดแชร์แค่ 3 ครั้งก็ได้ดาวแล้ว ในขณะที่บางอันมีคนแชร์เป็นสิบแต่กลับไม่ได้ดาว

ยอดไลค์/reach ไม่ได้โตตามจำนวน followers
อันนี้ผมค่อนข้างแปลกใจที่ยอด Like หรือ Reach ไม่ได้โตขึ้นตามจำนวน followers เท่าไหร่ ซึ่งผมเดาเอาเองว่าเป็นหลักการของทีมงาน Blockdit ที่ต้องการ “กระจายอำนาจ” ให้คนทำเพจ แม้จะเป็นเพจเล็กคนติดตามแค่ไม่กี่ร้อยคน ก็มี reach ที่ไม่ได้ต่างกับเพจใหญ่ที่คนติดตามเป็นหมื่นนัก ซึ่งก็น่าจะเป็นกำลังใจให้คนที่เริ่มทำเพจได้ไม่มากก็น้อย และผมก็เชื่อว่าถ้ามี active users มากขึ้น ยอด reach ของเพจใหญ่ก็น่าจะดีขึ้นกว่านี้

“Hot” Feed – อีกหนึ่งสิ่งที่เฟซบุ๊คไม่มี
บทความจะมีคนเห็นเยอะหรือไม่นั้น ผมคิดว่าปัจจัยหลักก็คือ engagement เบื้องต้นนั้นดีรึเปล่า ถ้า engagement ดี บทความนั้นจะถูกคัดสรรไปอยู่ในฟีด “ไฟลุก” ซึ่งหมายถึงบทความยอดนิยมประจำวันนั้นๆ ซึ่งแยกออกมาจาก Timeline ปกติ ถ้าบทความของเราได้ไปอยู่ในฟีดไฟลุกก็มีความเป็นไปได้สูงที่บทความจะมีคนกดไลค์เยอะ ได้ติดดาวพร้อมได้ตังค์ค่าขนมครับ

ถ้าในบทความมีแปะลิงค์ไปที่อื่นๆ reach จะตกลงอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าผมใส่ลิงค์ไปยังเว็บอื่นๆ ยอด reach จะต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ตรงนี้น่าจะเป็นมิติที่ผมขัดใจที่สุดในการใช้งาน Blockdit แม้จะเข้าใจว่าอยากจะให้ผู้อ่านอยู่บน platform ของตัวเองให้นานที่สุด แต่ผมเชื่อว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้

มีการ “ฝากร้าน” ค่อนข้างเยอะ
ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มที่เขียนแล้วได้เงิน จึงมีคนมาเปิดเพจบน Blockdit เพื่อหวังเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง สิ่งที่ตามมาก็คือเจ้าของเพจเหล่านั้นจะไปคอมเมนท์ตามเพจต่างๆ ประมาณว่าทิ้งชื่อเพจตัวเองไว้ตามบทความที่ดังๆ เพื่อหวังให้คนเห็นและให้คนตามมากดไลค์ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้ผลรึเปล่า ผลลัพธ์ก็คือคอมเมนท์ใต้โพสต์นั้นเกินครึ่งเป็นการฝากร้านมากกว่าเป็นการมาคอมเมนท์เพื่อแสดงความเห็นของผู้อ่านธรรมดา

บทสรุป
Blockdit มีความมุ่งหมายที่จะเป็น social media ที่รวบรวมเรื่องราวดีๆ และสร้างสรรค์เพื่อคนไทย แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถเรียกตัวเองว่าเป็น social media ได้เต็มตัวเพราะ users ไม่ได้ connect กันเองเท่าไหร่ แต่เรื่องคอนเทนท์คุณภาพต้องยอมรับว่าทำได้ดีเลยทีเดียว

ในแง่ฟีเจอร์ Blockdit มีหลายๆ อย่างที่โดดเด่นกว่าเฟซบุ๊ค แถมคนเขียนยังได้เงินอีกด้วย แต่มันก็มี side effect ตรงที่มีคนอยากมาเปิดเพจเพื่อหาตังค์ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ users ที่เข้ามาอ่านเฉยๆ

ใครที่สนใจเปิดเพจใน Blockdit ผมก็แนะนำให้ทำนะครับ ยิ่งถ้ามีเพจอยู่ในเฟซบุ๊คอยู่แล้ว การเพิ่มคอนเทนท์ลงใน Blockdit นั้นแทบไม่ได้เสียเวลาเพิ่มเติมเลย เผลอๆ อาจจะกลายมาเป็นช่องทางที่มีคนติดตามเยอะที่สุดก็เป็นได้

ขอบคุณทีมงาน Blockdit ที่สร้างแอปดีๆ ให้เราได้ใช้กัน ขอเป็นกำลังใจให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ครับ

9 เรื่องที่สุดแห่งปี 59 ของ Anontawong’s Musings

20161230_59review

1. เศร้าใจที่สุด
การเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือเหตุการณ์สำคัญที่สุดในปีที่ผ่านมา คนไทยเศร้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และลุกขึ้นมาทำความดีกันคนละไม้คนละมือกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผมจำได้ว่าช่วงนั้นคนขับรถอย่างมีน้ำใจกันเป็นพิเศษ แต่ตอนนี้เหมือนคนไทยกำลังจะกลับเข้าสู่โหมดปกติอีกแล้ว ซึ่งจะเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากการสูญเสียครั้งนี้ไม่ได้นำพาเราไปสู่การปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเลย ผมเองมีความตั้งใจที่จะเขียนถึงท่านเรื่อยๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่ลืมความตั้งใจที่เราเคยมีในช่วงที่เกิดการสูญเสียใหม่ๆ ครับ (บทความเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9)

2. ภูมิใจที่สุด
คือการเขียนบล็อกวันละตอนตลอดปี 2559 รวมบทความนี้ก็จะได้ 366 ตอนพอดี (ปีนี้เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน)

แต่ต้องขอสารภาพว่า พอย้อนกลับไปดู จริงๆ แล้วผมขาดไปหนึ่งวันคือวันที่ 2 มีนาคม (ช่วงนั้นตารางชีวิตยังไม่เข้าที่) วันพฤหัสฯที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมาผมเลยเขียนสองตอนเพื่อชดเชยครับ

3. ดีใจที่สุด
คือ anontawong.com มียอดวิวครบ 1 ล้านวิว ในวันที่ 27 มิถุนายน ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญยิ่งสำหรับบล็อกเกอร์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง และคาดว่าภายในกุมภาพันธ์ 2560 น่าจะถึง 2 ล้านวิวครับ

4. อ่านเยอะที่สุด
บทความ 9 บทเรียนจาก 3 วันที่ผ่านมา ซึ่งเขียนขึ้นหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือบทความที่มีคนอ่านเยอะที่สุดคือ 478,000 ครั้งและแชร์ 129,000 ครั้ง (ส่วนแชมป์ปีที่แล้วคือเรื่องการจัดบ้านแบบคอนมาริ)

จริงๆ ผมเกือบจะไม่ได้เขียนบทความ 9 บทเรียนฯ นี้แล้วด้วยซ้ำ เพราะวันนั้นจำได้ชัดเจนว่าไม่มีกะจิตกะใจจะเขียนอะไรเลย ทำใจไว้แล้วว่าอาจจะต้องผิดคำพูดที่ว่าจะเขียนบล็อกทุกวัน แต่สุดท้ายก็คิดได้ ใจโล่งขึ้นและมานั่งลงที่โต๊ะตอนสามทุ่มกว่าๆ และเขียนเสร็จก่อนเที่ยงคืนเพียงนิดเดียว

5. มุ้งมิ้งที่สุด
บทความเรื่อง โชคดี ที่เขียนขึ้นตอนตีสองของเช้าตรู่วันวาเลนไทน์ โดยมีภรรยามานั่งให้กำลังใจ (และให้เรานวดเท้าให้) น่าจะเป็นบทความที่ “หวานออกอากาศ” ที่สุดประจำปีนี้

6. แรงที่สุด
คือประโยคที่ว่า

“คนโง่จะพูดอยู่สองอย่าง ไม่มีเวลา กับทำไม่ได้”

ของดร.วรภัทร ภู่เจริญในบทความชื่อ สองอย่าง ซึ่งมีคนแชร์ไปสี่หมื่นกว่าครั้ง และทำให้ผู้อ่านบางคนถึงกับเข้ามาคอมเม้นท์ในเพจ Anontawong’s Musings อย่างถึงพริกถึงขิง

7. ใช้พลังที่สุด
คือซีรี่ส์เรื่อง Sapiens ว่าด้วยประวัติศาสตร์และอนาคตของมนุษยชาติ ตอนนี้เขียนถึงตอนที่ 3 แล้ว (และน่าจะมีอีกประมาณ 30 ตอน) แต่ละตอนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงในการอ่าน ย่อยข้อมูล และเรียบเรียง ใครอยากเห็นภาพชัดขึ้นว่าเรามาถึงจุดๆ นี้ได้ยังไง และเราจะไปไหนกันต่อ อยากให้ลองอ่านดูครับ (อ่านบทความทั้งหมดได้ใน Category: Homo Sapiens )

8. น่ารักที่สุด
คือผู้อ่านทุกท่านที่ติดตาม เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แก้คำผิด รวมถึงแจ้ง(ฟ้อง)ผมเวลามีคนเอาบทความจากบล็อกนี้ไปใช้ที่อื่นโดยไม่ให้เครดิตครับ โดยเฉพาะผู้อ่านต่อไปนี้: Chan L., Piya P., Theerawoot B., Thanyaporn P.S., Julnarong W. รวมไปถึงครูณัชรเจ้าของเพจ ดร ณัชร สยามวาลา และ ปูเป้เจ้าของเพจ Stellar Balcony ครับผม

9.ขอบคุณที่สุด
ผึ้ง – ภรรยาที่ช่วยแชร์บทความของผมทุกตอน ต้องขอโทษด้วยที่บางครั้งเราใช้เวลากับบล็อกมากไปนิด จนมีเวลาช่วยผึ้งเลี้ยงปรายฝนน้อยไปหน่อย ขอบคุณที่เข้าใจและสนับสนุนเสมอมานะ

รอง – น้องชายที่ช่วยแชร์บทความทุกตอนเช่นกัน ใครสนใจเรียนรู้ทริคการใช้งาน Excel ลองเข้าไปตามอ่านได้ที่ kacharuk.com นะครับ

แม่กับพ่อ – ที่ช่วยผมแชร์บทความทั้งทางไลน์และเฟซบุ๊คและคอยส่งคำชมจากผู้ใหญ่มาให้ชื่นใจ

ขอบคุณทุกท่านอีกครั้งที่ติดตามและให้กำลังใจมาตลอดปี 2559

แล้วพบกันใหม่ปีหน้าครับ!



facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives
Download eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com