ถอดรหัสการทำงานของ ยอด Wongnai

20180508_yod

ผมรู้จักกับยอด ชินสุภัคกุล ซึ่งเป็น CEO และ co-founder ของ Wongnai มาตั้งแต่ปี 2005

ผมแก่กว่าและเข้า Thomson Reuters มาก่อนยอด เราได้รู้จักกันตอนที่ผมย้ายตำแหน่งจาก software engineer มาเป็น support consultant ซึ่งมียอดเป็นหัวหน้าทีมอยู่ (ด้วยอายุเพียง 22 ปี ยอดเป็นหัวหน้าทีมที่เด็กที่สุดใน Thomson Reuters ประเทศไทย)

พอปี 2007 ยอดก็ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการทีม (ที่เด็กที่สุดอีกแล้ว) และผมขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมแทนยอด พอปี 2008 ยอดก็ลาออกเพื่อไปเรียนต่อ MBA ที่ UCLA Anderson School of Management

ปี 2010 ยอดกลับมาเมืองไทยและมีเป้าหมายที่จะทำ startup เพื่อตอบโจทย์ว่าวันนี้กินอะไรดี ยอดชวนเพื่อนวิศวะคอมจุฬาอีก 3 คนมาร่วมกันทำ รวมถึงชวนผมและเพื่อนในวัยเด็กอีกคนมาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย

ช่วง 2-3 ปีแรก Wongnai ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่ในช่วง 5 ปีหลังสุด Wongnai ก็เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนตอนนี้มีพนักงาน 200 กว่าคนและมีรายได้ 150 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะยังไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องถือว่า Wongnai เป็น startup ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

ผมเองได้แต่คอยช่วย Wongnai อยู่ห่างๆ มาตลอด จนเมื่อต้นปี 2017 จึงเข้ามาทำที่ Wongnai เต็มตัวในฐานะ Head of People (ที่ Wongnai เราจะเรียกทีม HR ว่าทีม People)

มีสื่อมากมายที่มาขอสัมภาษณ์ยอดรวมถึงเชิญยอดไปพูดในที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องราวของ Wongnai และเล่าวิธีคิดวิธีทำงานของยอด แต่การสัมภาษณ์ทั้งหมดก็เป็นคำถามจากคนที่มองจากข้างนอกเข้ามา และคำตอบทั้งหมดก็มาจากปากของยอด ผมจึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ถ้า “คนวงใน” ที่เป็น “บุคคลที่สาม” อย่างผมมาเขียนเล่าให้ฟังว่า ยอดทำงานอย่างไรบ้าง

มาเริ่มกันเลยครับ

ทำงานเร็ว (#speed)

ทุกครั้งที่มีคนถามว่าจุดแข็งของยอดคืออะไร ยอดจะตอบเสมอว่าเขาเป็นคนทำงานเร็ว

“I’m not smarter than most of you, I’m just faster.”

ยอดบอกว่านี่ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า

เร็วในที่นี้เป็นความเร็วในหลายมิติด้วย หนึ่งคือเร็วที่จะลงมือทำ (คิดแล้วทำเลย) สองคือพอเริ่มลงมือทำแล้วก็ทำจนเสร็จอย่างรวดเร็ว สามคือพอเสร็จแล้วก็มีการวัดผลและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว มันคือ build-measure-learn in fast cycle ตามหลักของ Lean Startup และ #speed ก็เป็นหนึ่งใน core values ของ Wongnai

นอกจากเร็วเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวยอดก็เร็วด้วย ค่ำวันหนึ่งก่อนกลับบ้าน ผมบอกยอดว่าอยากจะให้ช่วยเขียนคำนิยมให้หนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ โดยเล่าให้ฟังว่าหลายเรื่องดึงมาจากในบล็อก Anontawong’s Musings เดี๋ยวจะเอาต้นฉบับมาให้อ่าน ปรากฎว่าคืนนั้นยอดก็ส่งคำนิยมมาให้ทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้ปริ๊นท์ต้นฉบับด้วยซ้ำ! เพียงแต่คำนิยมของยอดจะเขียนไปในเชิงความเห็นต่อตัวผมและข้อเขียนของผมในบล็อกแทนความเห็นในตัวหนังสือ

ต้นเดือนสิงหาคม 2017 หนังสือ Thank God It’s Mondayฯ ก็ตีพิมพ์เสร็จ ผมวิ่งไปเอาหนังสือมาจากสำนักพิมพ์คืนวันพฤหัส บ่ายวันศุกร์เอามาให้ยอด 1 เล่มเป็นการขอบคุณที่ช่วยเขียนคำนิยมให้ พอเช้าวันเสาร์ยอดก็อัพโหลดรูปหนังสือและรีวิวให้เสร็จสรรพ ยอดจึงเป็นคนแรกในประเทศไทยและคนแรกในโลกที่อ่าน Thank God It’s Mondayฯ จบเล่ม

To Do List ของยอด

ยอดไม่ได้ใช้ App อะไรที่หวือหวาเลย

To Do List หลักๆ ของยอดจะมีแค่สามอย่าง คืออีเมล, แอป Notes ในไอโฟน (ซึ่งซิงค์กับเครื่องแม็คบุ๊คที่ยอดใช้ทำงาน) และแอป Reminder

ที่ Wongnai เราจะใช้ G Suite ของ Google ดังนั้นอีเมลจึงเป็นระบบของ Gmail เวลามีเมลอะไรเข้ามาที่ต้อง take action ในภายหลัง ยอดก็จะ “ติดดาว” (star) เอาไว้

แอป Notes ยอดจะเอาไว้จดงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน (Q2) ที่น่าสนใจคืองานยากๆ จะอยู่บรรทัดแรกๆ ส่วนงานง่ายๆ จะอยู่บรรทัดล่างๆ แล้วยอดจะไล่ทำจากล่างขึ้นบน

ส่วนแอป Reminder เอาไว้จดงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (งาน Q3) เพื่อจะได้ไม่ลืมที่จะทำให้เสร็จภายในเวลานั้น-เวลานี้

เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือ ตั้งแต่ผมทำงานที่ Wongnai มาปีกว่าๆ ยอดเคยทำงานจน To do list กลายเป็น 0 ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งแล้ว ในขณะที่ผมยังไม่เคยทำอย่างนั้นได้เลยซักครั้งตลอดชีวิตการทำงาน

ลืมไม่ใช่ข้ออ้าง

ยอดไม่ใช้สมุดในการจดงาน เพราะมองว่ามีโอกาสตกหล่นสูง และขี้ลืมไม่ใช่เรื่องของนิสัยแต่เป็นเรื่องของความใส่ใจและวิธีการทำงาน

เวลาพูดคุยกันในที่ประชุม หรือคุยโทรศัพท์ หรือคุยกันทางแชท ยอดจะคิดทุกอย่างเป็น action แล้วใส่มันลงใน To do list ทันที

ออกจากการประชุมปุ๊ป ยอดจะ take action ปั๊ป เช่นส่งเมลสรุปหรือเดินไปสั่งงานปากเปล่า รวมถึงมีการจัดลำดับงานใหม่ (reprioritize) เพื่อให้แน่ใจว่างานทุกชิ้นจะยังส่งได้ตรงเวลา  

Inbox Zero เสมอ

ยอดจะพยายามไม่อ่านเมลซ้ำ (touch email only once) โดยเมลแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ

  • อ่านจนกระทั่งรู้ว่าไม่ต้องอ่านก็ได้
  • อ่านแล้ว take action ทันที
  • อ่านแล้ว take action ทีหลัง
  • อ่านทีหลัง

ยอดจะตอบเมลทุกฉบับภายใน 1 วัน ตอบสั้นๆ และขึ้นต้นด้วยใจความสำคัญที่สุดเสมอ

เวลาสั่งงานยอดก็มักจะสั่งผ่านเมลเพื่อจะได้ไม่ตกหล่นและติดตามผลได้ง่าย หรือบางครั้งก็ใช้การส่งเมลเพื่อย้ำการตัดสินใจหลังจากที่ได้พูดคุยตกลงกันไปแล้ว และหลายครั้งยอดจะใช้วิธีส่งเมลคุยกันมากกว่านัดประชุมเพราะเร็วกว่าจะมารอให้ทุกคนว่างตรงกัน

และแต่ละวันยอดจะจัดการอีเมลจนเป็น Inbox Zero เสมอ

การใช้ Calendar

  • ใช้ calendar ทุกครั้ง สำหรับ appointments
  • ใช้ calendar สำหรับ deadline สำคัญๆที่พลาดไม่ได้
  • ใช้ calendar สำหรับ block เวลาไว้สำหรับ Q2 task (งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน)
  • ดู calendar ของวันพรุ่งนี้ ล่วงหน้า 1 วัน ทุกวัน
  • ดู calendar ของทั้งสัปดาห์ ตอนต้นสัปดาห์

Done is better than perfect

ยอดมักจะยกคำพูดนี้ของ Sheryl Sandberg มาเตือนพนักงานเสมอ

งานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยไร้ที่ติ ทำได้ซัก 80-90% ก็โอเคแล้ว โดยเราควรเข้าใจ the law of diminishing returns นั่นคือ เมื่อเลยจุดๆ หนึ่งไปแล้ว คุณภาพของงานที่ได้เพิ่มขึ้นมามันจะไม่คุ้มกับแรงที่ลงไปอีกแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการทำสไลด์ให้ดูดีประมาณ 80% อาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะทำให้เพอร์เฟ็คต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรทำหากสไลด์นั้นถูกใช้เพื่อการพูดคุยกันภายในบริษัทแค่ครั้งเดียว

แม้จะไม่ได้คาดหวังว่ามันต้อง 100% แต่ถ้าคุณทำมาต่ำกว่า 50% ก็จะโดนยอดไล่ให้กลับไปทำมาใหม่เช่นกัน มาตรฐานของเราควรอยู่ที่ประมาณ 70-80% เสมอ

Sometimes perfect is the only option

แต่สำหรับงานที่ต้องออกไปข้างนอก เช่นงานพรีเซนต์ลูกค้าหรือ Press Release ยอดจะซีเรียสมาก เคยมีครั้งหนึ่งที่น้องทีม PR ทำ Press Release ออกมาแล้วมีจุดสะกดผิดอยู่หลายจุด ยอดบอกกับน้องเลยว่า Press Release นี้จุดเดียวก็ห้ามผิด

เลื่อนเข้า

ถ้ามีงานชนกัน คนทั่วไปจะเลื่อนงานหนึ่งออกไป แต่ยอดจะให้เลื่อนงานเข้ามา

ธรรมดายอดจะกันเวลาเช้าวันศุกร์ไว้สัมภาษณ์ candidate ที่มาสมัครงานที่วงใน แต่ถ้าวันศุกร์ไหนยอดติดงานด่วนกะทันหัน แทนที่จะเลื่อนนัดสัมภาษณ์ออกไป ยอดจะขอให้เลื่อนสัมภาษณ์เข้ามาเป็นวันพุธหรือพฤหัสแทน

ห้ามใช้คอมในห้องประชุม

หากมีการประชุมหรือ training ยอดจะขอ (จริงๆ คือสั่ง) ไม่ให้คนใช้คอมเพื่อจะได้มีสมาธิกับการประชุม ถ้าใครมีงานด่วนและสำคัญมากจริงๆ  ยอดจะบอกว่าให้ออกไปนั่งทำงานข้างนอกให้เสร็จแล้วค่อยกลับเข้ามา

ตัวยอดเองเวลาเข้าประชุมที่ยอดไม่ต้องนำ ยอดก็จะไม่ใช้คอมเช่นกัน จะหยิบมือถือขึ้นมาจดเฉพาะตอนที่มี action ที่ยอดต้องเอาไปทำต่อเท่านั้น

มอบหมายงานให้เป็น

ยอดมองว่าการมอบหมายงานคือการให้โอกาสลูกทีม แต่คนที่มอบหมายงานก็ต้องบอกให้ครบด้วยว่าเราต้องการอะไร ส่งภายในเมื่อไหร่ เพราะว่าอะไร

ความยากของงานก็ควรจะเหมาะสมกับความสามารถของคนๆ นั้น หรือเลยความสามารถของเขาไปหนึ่งขั้น เมื่อมอบหมายแล้ว ก็ต้องคอยตรวจงานและให้ฟีดแบ็คอย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งคำสั้นๆ อย่าง “Well done” ก็สำคัญและมีความหมายต่อลูกทีมมาก

ยุ่งแค่ไหนก็ว่างสำหรับพนักงาน

ธรรมดายอดจะนั่งทำงานในห้องส่วนตัว แต่ก็ใช้ open door policy คือใครก็สามารถเดินมาเคาะกระจกหน้าห้องแล้วเข้าไปคุยกับยอดเรื่องอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ว่ายอดจะทำงานอะไรอยู่ ยอดก็จะพยักหน้าเชื้อเชิญให้เข้ามาคุยงานได้เสมอ

ห้องส่วนตัวคือห้องส่วนรวม

แม้จะเป็นห้องส่วนตัว แต่เวลาที่ยอดไม่อยู่ออฟฟิศ พนักงานคนไหนก็เข้ามาใช้งานได้ เช่นเอาไว้ประชุม สัมภาษณ์ หรือคุย one-on-one ถ้าระหว่างที่คุยอยู่ยอดกลับมาพอดี ยอดก็จะไปนั่งทำงานรออยู่ที่อื่นจนกว่าพวกเราจะใช้ห้องเสร็จ

เดินไปทั่ว

ยอดมักจะเดินทักทายคนนั้น แซวคนนี้ บางทีก็เดินลงไปชั้นอื่นๆ (ออฟฟิศ Wongnai ตอนนี้มี 5 ชั้น) เพื่อไปคุยกับคนหลายๆ แผนกและใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของออฟฟิศด้วย (ยอดมักจะเป็นคนแรกๆ ที่เดินมาบอกว่า ป้ายโลโก้ตรงนั้นหลุดแล้ว หรือต้องเรียกช่างมาซ่อมพื้นแล้ว)

Tough Love

ยอดจะคาดหวังสูงกับคนที่ทำงานด้วย และถ้าทำสิ่งที่เราทำไม่ดีพอ ยอดก็ไม่ลังเลที่จะบอกตรงๆ ซึ่งบางทีก็ตรงจนน่าตกใจ แต่นี่คือความปรารถนาดี เพราะหากน้องที่โดนตำหนิมีทัศนคติที่ถูกต้อง เขาก็จะเร่งพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อทำให้ได้ตามมาตรฐานในใจยอด

ระเบิดลง (บางทีก็โดยตั้งใจ)

บางครั้ง ถ้างานมันไม่เดินจริงๆ ยอดก็จะ “ระเบิดลง” ซึ่งหลายหนก็ตั้งใจทำอย่างนั้นเพื่อกระตุกและกระตุ้นให้คนทำงานกระตือรือร้นกว่านี้ รวมถึงเป็นการทดสอบด้วยว่าคนๆ นั้นแกร่งแค่ไหน โดนทุบแล้วหนีหน้าไปเลยหรือยังสู้อยู่

มีบ้างที่น้องบางคนโดนยอดดุจนหน้าเสียหรือร้องไห้ แต่ยอดจะหลังไมค์มาหาผมหรือหัวหน้าของน้องให้เข้าไปดูแลหน่อย เพราะยอดเล่นบท bad cop ไปแล้ว จำเป็นต้องมี good cop เพื่อรักษากำลังใจน้องเอาไว้

ไม่หนีปัญหา

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Wongnai ลองจัด Food Tour เป็นครั้งแรก พาคนไทย 30 ชีวิตบินไปโตเกียวเพื่อทานอาหารมิชลิน 1 ดาวถึงสามมื้อ

จบ Food Tour แล้ว เราขอให้ลูกทัวร์ตอบแบบสำรวจความพึงพอใจ เราได้คะแนนเฉลี่ย 7.8

น้องทีมงานที่จัดทัวร์บอกว่าคราวหน้าอยากจะลองพาไปซัปโปโร แต่ยอดไม่อนุญาต บอกว่าต้องกลับไปแก้มือที่โตเกียวให้ได้ 8.5 หรือ 9 คะแนนเสียก่อน ถึงจะย้ายไปทำทัวร์ที่อื่น

เสพติดชัยชนะ

น่าจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะบอกว่ายอดโปรดปรานการแข่งขันและชอบการเป็นที่ 1 เวลาทำธุรกิจก็เลยมุ่งมั่นมาก และทำให้คนอื่นๆ ติดเชื้อนี้ไปด้วย

ความต้องการเป็นที่ 1 ยังลามไปนอกเวลางาน เช่นตอนไป Outing ต่างจังหวัดแล้วมีการแบ่งทีมเก็บคะแนน ยอดจะบอกกับน้องในทีมว่า “คงรู้นะครับว่าผมคาดหวังอันดับที่เท่าไหร่” จนน้องๆ อดจะตัวเกร็งไม่ได้ โชคดีที่การไป outing ครั้งล่าสุด ยอดถอยตัวเองออกมาอยู่ในทีมผู้จัดงาน ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร

แต่เมื่อแพ้ ก็ยอมรับว่าต้องการความช่วยเหลือ

ทุกๆ สามเดือน เราจะมีการประชุมใหญ่ของ Wongnai โดยตัวแทนแต่ละทีมจะขึ้นมานำเสนอผลงานและพูดถึงสิ่งที่จะทำต่อจากนี้

พอจบการประชุม เราก็จะส่งแบบสอบถามเพื่อหาจุดผิดพลาด และสำรวจด้วยว่าพนักงานชอบการพูดของใครมากที่สุด ซึ่งยอดก็จะได้คะแนนเป็นที่ 1 ทุกครั้ง (โดยตระหนักดีว่าคะแนนกว่าครึ่งอาจจะได้มาเพราะเขาเป็น CEO)

หลังจากครองแชมป์มานาน ยอดก็ตกบัลลังก์เป็นครั้งแรกในการประชุม Q1 2018 แล้วก็มาบ่นกับผมว่าเขาประมาทไม่ได้แล้ว อยู่เฉยๆ คงโดนแซงแน่ (ยอดมีเขียนประสบการณ์นี้เอาไว้อย่างละเอียดในบทความ Insider’s Day (วันของคนวงใน) คืออะไร จัดทำไม

ปลายเดือนที่แล้ว เรามีการประชุมประจำ Q2 2018 ยอดเตรียมตัวมาดีมาก ผมว่าน่าจะเป็นการพรีเซนต์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของยอดที่ผมเคยฟังมาด้วยซ้ำ เพียงแต่เนื้อหาอาจจะไม่ได้ very happy ending เหมือนอย่างทุกๆ ครั้ง รอบนี้ยอดจึงชวดการเป็น top speaker อีกเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน

ยอดจึงตัดสินใจว่า ในการประชุม Q3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ยอดจำเป็นต้องมีโค้ชที่จะช่วยฟังยอดซ้อมและช่วยกันแก้ไขเพื่อให้การพรีเซนต์ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากแปะไว้ตรงนี้ คือตอนปี 2015 ยอดมาขอให้ผมช่วยเป็นโค้ชโครงการ Wongnai WeFit ซึ่งมีเป้าหมายช่วยให้พนักงาน Wongnai ลดน้ำหนัก โดยยอดเปรยกับผมว่า “ผมว่าผมเป็น CEO ที่อ้วนที่สุดในวงการแล้วพี่”

ก่อนหน้านั้นยอดเคยพยายามลดน้ำหนักเองมาหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่โครงการ WeFit ที่มีน้องๆ เข้าร่วมด้วยหลายคน ด้วยศักดิ์ศรีของ CEO ทำให้ยอดลดน้ำหนักจาก 92.5 เหลือ 80 กิโลกรัมภายในเวลา 3 เดือน (อ่านต่อได้ที่บทความ เมื่อ CEO Wongnai ตัดสินใจลดน้ำหนัก)

Work-Life Integration

ประโยค work-life balance ที่เราคุ้นเคยกันทำให้เราคิดว่า งาน กับ ชีวิต เป็นสองสิ่งที่แยกกันอยู่คนละฝั่งของตาชั่ง

แต่ยอดเคยบอกว่าสำหรับเขา งานกับเรื่องส่วนตัวมันกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่แปลกที่จะเห็นยอดยังทำงานและคุยแชทตอนห้าทุ่มหรือเที่ยงคืน (แต่ก็จะคุยกับกับเฉพาะเหล่า co-founders ด้วยกันเองเท่านั้นนะครับ ผมยังไม่เคยเห็นยอดสั่งงานน้องๆ ให้ทำอะไรตอนดึกๆ ดื่นๆ เลย)

Relax!

ทำงานที่ Wongnai นั้นเหนื่อยเพราะเราวัดผลกันจริงจัง น้องบางคนถึงกับเครียด มาบ่นกับผมว่าวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องทำงานเพราะรู้สึกว่าตัวเองแบกรับภาระเอาไว้มากมาย

ผมจะบอกกับน้องที่มาปรึกษาเสมอว่าภาระที่น้องแบกอยู่มันเป็นแค่หนึ่งในร้อยของที่ยอดแบกอยู่ แต่ยอดก็ยังยิ้มได้ ยังมีเวลาเล่นกับลูก พาแฟนไปกินข้าว ไปดูหนัง Avengers ได้ ดังนั้น งานหนักไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือน้องยังไม่รู้จักวิธีพักผ่อนหย่อนใจต่างหาก ซึ่งมันเป็นทักษะสำคัญที่ควรจะเรียนรู้ว่าเอาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ภาระหน้าที่ของเราจะมากกว่านี้

คุณชายเก็บขวด

ยอดมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ใช้ของแบรนด์เนม รสนิยมดี จนบางทีก็ถูกพนักงานกล่าวถึงโดยใช้สรรพนามว่า “คุณชาย”

เมื่อตอนต้นปีที่แล้วสมัยผมเข้ามาทำงานทีม People ใหม่ๆ เราได้ไปออกบู๊ธงาน job fair ที่จุฬา แล้วรายการสุดท้ายของวันนั้นเขาก็เชิญยอดมาสัมภาษณ์บนเวที ตอนที่ยอดพูดคนเริ่มซา และบริษัทก็เริ่มเก็บบู๊ธกันแล้ว ผมเองก็ช่วยเก็บบู๊ธกับน้องอีกคนหนึ่งที่มาด้วยกัน พอยอดลงมาจากเวที ก็มาช่วยพวกผมเก็บบู๊ธด้วยทั้งๆ ที่เขาจะกลับไปเลยก็ไม่มีใครว่าอะไร

ในงานประชุมใหญ่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เช่นกัน วันนั้นหลังจบงาน ผม ยอด หลุยส์ (COO) และแม็ก (CFO) ก็ยืนคุยกันว่างานวันนี้เป็นอย่างไร หันไปอีกทีก็เห็นว่าคนกลับไปหมดแล้ว ยอดเห็นขวดน้ำดื่มวางอยู่เกลื่อนกลาดในห้อง auditorium หลุยส์เลยเดินไปยกถังขยะใบใหญ่จากข้างนอกมา แล้วยอดก็ไล่ตระเวนเดินหยิบขวดน้ำที่วางอยู่ตามเก้าอี้ โดยมีพวกเราสามสี่คนช่วยกัน

จะมีซักกี่บริษัทที่ CEO ลงมาช่วยเก็บกวาดขวดน้ำที่พนักงานทิ้งเอาไว้

กล่าวโดยสรุป

ยอดเป็นคนทำงานเร็ว มาตรฐานสูงทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เน้นผลลัพธ์และรักลูกน้องด้วย tough love แต่แม้จะเป็นคนมุ่งมั่นและเด็ดขาด ยอดก็ยังมีมุมน่ารักๆ อยู่ กระทั่งแฟนผมที่ได้เจอยอดเพียงไม่กี่ครั้งก็ยังสังเกตเห็น และบอกว่ายอดเป็นเหมือนก้อนหินผูกโบว์

หวังว่าข้อเขียนนี้จะมีประโยชน์ และคุณผู้อ่านจะได้ข้อคิดอะไรบางอย่างไปปรับใช้ในการทำงานและในการใช้ชีวิตนะครับ