หากเจอใครที่คิดว่าตัวเองค้นพบความจริงแล้ว จงหนีไปให้ไกลๆ
Walk with those seeking truth… Run from those who think they’ve found it.
-Deepak Chopra
อาจเป็นเพราะการมาถึงของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ทุกคนมีที่ยืนและประกาศตัวตนในโลกไซเบอร์ได้ (รวมถึงตัวผมเองด้วย)
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราจึงมี “กูรู” กำเนิดใหม่มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกูรูการตลาด กูรูการลงทุน กูรูความสวยความงาม กูรูรถ
รวมถึงกูรูด้านจิตวิญญาณและนักสร้างแรงบันดาลใจ
ในยุคที่กูรูแทบจะเดินไหล่ชนกัน คำถามสำคัญก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครตัวจริง ใครตัวปลอม?
มีคนเคยบอกว่า วิธีดูง่ายๆ ก็คือคนที่ออกมาสอนเหล่านั้นเขาเคยประสบความสำเร็จมาแล้วหรือยัง
ซึ่งแม้วิธีการนี้จะเป็นมาตรวัดที่ดี แต่ก็มีปัญหาสองอย่าง
หนึ่งคือการสืบว่าเขาสำเร็จแล้วหรือยังอาจไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น
และสอง (ซึ่งสำคัญกว่า) คนบางคนอาจจะเกิดมาเพื่อสอน ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำ
เช่น Jose Mourinho ซึ่งตอนเป็นนักฟุตบอลก็ได้เตะเพียงดิวิชั่นสองของโปรตุเกส แต่เขาก็ยังเป็นโค้ชที่คุมทีมระดับโลกอย่างแมนยูและเรอัล มาดริดได้
ส่วนบางคนแม้จะทำเก่ง แต่ก็ถ่ายทอดไม่เก่ง เช่น Sir Alex Ferguson ที่เป็นโค้ชที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง แต่หนังสืออัตชีวประวัติของเขานั้นผมอ่านแล้วจับใจความอะไรไม่ได้เลย
ดังนี้แล้ว เราจะดูได้อย่างไรอีกว่าใครตัวจริง ใครตัวปลอม?
คำตอบเดียวที่ผมพอคิดได้ คือ “ดูกันยาวๆ” ครับ
รู้มั้ยครับว่าตอนที่ Warren Buffett อายุ 60 ปี (หลังจากเป็นนักลงทุนมาทั้งชีวิต) เขามีทรัพย์สินเพียง 5% ของตอนนี้เท่านั้น ความมั่งคั่งอีก 95% ที่เหลือตามมาหลังจากเขาเลยวัยเกษียณไปแล้ว
ร้านค้าออนไลน์อย่างอเมซอนก่อตั้งเมื่อปี 1994 แต่กว่าจะเริ่มมีกำไรก็ต้องรอถึงปี 2003
Walk with those seeking truth… Run from those who think they’ve found it.
ในยุคที่ความจริงกับเรื่องแต่งนั้นแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ทักษะที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับเราในฐานะผู้บริโภค ก็คือการแยกแยะให้ออกว่าอะไรคือแก่น อะไรคือเปลือก
ฟังเขาได้ เรียนรู้จากเขาได้ รักเขาได้ แต่ขอให้รักอย่างมีสตินะครับ
facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives