Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา

20170226_sapiens11

สองตอนที่ผ่านมา เราพูดถึงเงินที่ช่วยหลอมรวมโลกในเชิงเศรษฐกิจ พูดถึงจักรวรรดิที่หลอมรวมโลกในเชิงรัฐศาสตร์ วันนี้เราจะมาพูดถึงศาสนาที่หลอมรวมโลกในเชิงจิตวิญญาณนะครับ

ระเบียบสังคม (social order) เป็นสิ่งที่มนุษย์จินตนาการขึ้นมาทั้งนั้น เช่นการแบ่งคนออกเป็นวรรณะ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วในเชิงชีววิทยาเราแทบไม่มีอะไรต่างกันเลย

เมื่อระเบียบสังคมเป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้น มันจึงมีความเปราะบาง และยิ่งสังคมมนุษย์ขยายใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเปราะบางขึ้นเท่านั้น

บทบาทที่สำคัญของศาสนาก็คือ มันได้สร้างความชอบธรรมที่มาจากสิ่งที่อยู่เหนือมนุษย์ (superhuman legitimacy) ขึ้นมาช่วยลดความเปราะบางของระเบียบสังคมนี้

ศาสนาบอกว่ากฎกติกาหลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นตามอำเภอใจ แต่เป็นคำบัญชาจากเบื้องบน เมื่อคนส่วนใหญ่เชื่อในแนวคิดนี้ คนย่อมไม่กล้าที่จะตั้งคำถามหรือแข็งขืนกับกฎระเบียบ สังคมนั้นจึงมีเสถียรภาพ

นิยามของศาสนา
“ศาสนา” คือระบบที่กำหนดบรรทัดฐานทางศีลธรรมโดยตั้งอยู่บนความเชื่อในเรื่องเหนือมนุษย์

ศาสนาจึงมีเกณฑ์วัดอยู่สองข้อ

1.ศาสนายึดถือว่าโลกนี้มีกฎระเบียบที่มาจากสิ่งที่เหนือมนุษย์ (superhuman order) ฟุตบอลไม่ถือว่าเป็นศาสนา เพราะถึงแม้ว่าฟุตบอลจะมีกฎกติกามากมายแต่คนที่ตั้งกฎเหล่านี้ขึ้นมาคือฟีฟ่า และพวกเขามีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงกฎเองได้

2.ศาสนาเป็นตัวกำหนดว่ามนุษย์ควรจะประพฤติตนอย่างไร คนมากมายเชื่อในเรื่องผีสางนางไม้ (ซึ่งเป็นความเชื่อเรื่องเหนือมนุษย์) แต่ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมและความประพฤติ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นศาสนา

การที่ศาสนาใดศาสนาหนึ่งจะมีบทบาทในการหลอมรวมคนจำนวนมากได้นั้นยังต้องมีคุณลักษณะเพิ่มอีกสองข้อ นั่นคือกฎกติกาที่ศาสนากำหนดขึ้นมานี้ต้องเป็นสากล (universal) ที่ถูกต้องในทุกสถานในกาลทุกเมื่อ และคำสอนของศาสนานี้เป็นเรื่องที่พึงนำไปเผยแผ่ให้แก่มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม (missionary)

ศาสนาที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างคริสต์ อิสลาม และพุทธนั้นอ้างว่าคำสอนของตัวเองเป็นสากลและเป็นสิ่งที่ต้องนำไปประกาศให้ชาวโลกรับรู้

แต่ศาสนาส่วนใหญ่ในยุคแรกๆ นั้นมีคุณลักษณะตรงกันข้ามคือ มีความเป็น local และ exclusive

พวกเขาเชื่อในเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่เฉพาะละแวกนั้นๆ และไม่เคยคิดจะไปเผยแผ่ให้คนอื่นเห็นดีเห็นงามด้วย

วิญญาณนิยม (Animism)
ในยุคที่คนเรายังเข้าป่าล่าสัตว์กันนั้น ความเชื่อของพวกเขาจะยึดกับสิ่งที่อยู่ในพื้นที่ เช่นคนที่อยู่ริมแม่น้ำคงคาอาจจะมีความเชื่อว่าห้ามตัดต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ต้นนี้ ไม่อย่างนั้นภูติจะพิโรธ ขณะที่ชาวบ้านริมแม่น้ำสินธุอาจจะห้ามล่าจิ้งจอกหางขาวเพราะตำนานเล่าว่าจิ้งจอกหางขาวเคยมาบอกสถานที่เก็บขุมทรัพย์

คนยุคนั้นใช้เวลาทั้งชีวิตอยู่ในพื้นที่แค่ไม่กี่พันตารางกิโลเมตร สิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขาคือความรู้ความเข้าใจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่นั้นๆ เพื่อประพฤติตนให้เหมาะสม จึงมองไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องไปโน้มน้าวให้คนในพื้นที่อื่นต้องมาเชื่อตามเขา คนริมแม่น้ำสินธุจึงไม่เคยคิดไปบอกคนริมแม่น้ำคงคาว่าห้ามล่าจิ้งจอกหางขาวนะ

นี่คือศาสนาที่เรียกว่า “วิญญาณนิยม” (animism) หรือความเชื่อที่ว่าทุกสรรพสิ่งมีจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งก้อนหิน มนุษย์มองตัวเองว่าเป็นเพียงสมาชิกอีกคนหนึ่งในบรรดาสรรพสัตว์ และให้คุณค่ากับชีวิตของสัตว์และต้นไม้เท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์ของตน

แต่การมาถึงของการปฏิวัติเกษตรกรรมก็ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป เมื่อมนุษย์หันมาเพาะพืชและเลี้ยงสัตว์ พืชและสัตว์จึงถูกเปลี่ยนฐานะจากเพื่อนร่วมโลกมาเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลของมนุษย์แทน

ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าเริ่มเกิดในยุคนี้นี่เอง เพราะถึงแม้เขาจะดูแลข้าวในไร่ของตัวเองเป็นอย่างดี แต่หากมีภัยแล้งหรืออุทกภัย ไร่นาย่อมเสียหาย คนจึงเริ่มบวงสรวงเทพเจ้า ทำการบูชายัญด้วยลูกแกะ ฯลฯ เพื่อแลกกับความอุดมสมบูรณ์ของไร่นาและปศุสัตว์ที่เป็นสมบัติของพวกเขา

ศาสนาเทพเจ้าหลายองค์ (Polytheistic Religions)
ในสมัยที่คนยังอยู่ในพื้นที่จำกัด การมีเทพเจ้าท้องถิ่นคอยดูแลก็เพียงพอแล้ว แต่พออาณาเขตของบ้านเมืองเริ่มขยายใหญ่ขึ่นเรื่อยๆ เทพเจ้าในความเชื่อของมนุษย์จึงต้องมีพลังมากขึ้นเช่นกัน

นี่คือที่มาของศาสนาที่เชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ (polytheistic religions – poly = many, theos = god) โดยเทพเจ้าแต่ละองค์ก็จะมีความชำนาญที่แตกต่างกันไป เช่นเทพเจ้าแห่งฝน เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเทพเจ้าแห่งสงคราม

แต่อีกหนึ่งผลกระทบสำคัญของศาสนาหลายเทพเจ้าก็คือ มันได้ลดฐานะของสัตว์ต่างๆ เป็นเพียงแค่ตัวประกอบในโรงละครใหญ่ที่มีมนุษย์เป็นนักแสดงนำ

มนุษย์เริ่มมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้เป็นเพียงภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า หากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่จนสัตว์ตายเป็นเบือ นั่นก็เพียงเพราะว่ามนุษย์โง่ๆ บางคนไปทำให้เทพเจ้าโกรธเคืองเท่านั้นเอง

การเกิดขึ้นของศาสนาหลายเทพจึงไม่เป็นเพียงการยกระดับของเทพเจ้าเท่านั้น แต่เป็นการยกฐานะของมนุษย์ให้เหนือกว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงด้วย

ศาสนาหลายเทพเจ้าแตกต่างจากศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียวตรงที่เขาไม่ค่อยซีเรียสกับการไปเปลี่ยนศาสนาคนอื่น

ในยุคที่อาณาจักรโรมันเฟื่องฟู จักรพรรดิโรมันไม่เคยพยายามเปลี่ยนศาสนาของประชาชนในบ้านเมืองที่ท่านเข้าไปตีและยึดครอง ประชาชนในพื้นที่จะถูกคาดหวังให้เคารพเทพเจ้าของชาวโรมันแต่ไม่จำเป็นต้องเลิกเชื่อในเทพเจ้าที่ตัวเองเคยยึดถืออยู่ก่อน

ศาสนาเดียวที่กรุงโรมมีปัญหาด้วยคือศาสนาคริสต์ เพราะชาวคริสต์ปฏิเสธที่จะบูชาเทพเจ้าและจักพรรดิแห่งกรุงโรม ชาวโรมจึงเขียนเสือให้วัวกลัวด้วยการจับพระเยซูตรึงไม้กางเขน

ในช่วงระยะเวลา 300 ปีนับแต่นั้นจนถึงวันที่พระเจ้าคอนสแตนตินแห่งกรุงโรมเปลี่ยนมาถือคริสต์ ชาวโรมจับชาวคริสเตียนมาลงโทษและประหารไปไม่น้อย ตัวเลขน่าจะอยู่ในหลักสองพันถึงสามพันคน

แต่การสูญเสียนี้เทียบไม่ได้เลยกับการประหัตประหารของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันเอง

ชาวคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์เชื่อว่าพระเจ้าจุติลงมาเป็นมนุษย์และยอมโดนทรมานและตรึงกางเขน ดังนั้นจึงได้ไถ่บาปทั้งหมดและเปิดประตูสวรรค์เพื่อรับใครก็ตามที่เลือกนับถือศาสนานี้ แต่คริสต์นิกายแคธอลิคเชื่อว่าแค่ศรัทธาอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำความดีและเข้าโบสถ์ด้วย

ความแตกต่างในรายละเอียดของสองนิกายนี้มากพอที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายเข่นฆ่ากันเป็นจำนวนมากในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 และ 17 ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์สังหารหมู่วันเซนต์บาโธโลมิว (St. Bartholomew’s Day massacre) ที่ชาวคาธอลิกสังหารชาวโปรเตสแตนท์ในปารีสนับหมื่นคนภายในเวลาแค่ 24 ชั่วโมง

ศาสนาพระเจ้าองค์เดียว (Monotheistic religion)
ศาสนาแบบพระเจ้าองค์เดียวเกิดขึ้นในสมัยฟาโรห์แอเคนาเตนเมื่อ 350 ปีก่อนคริสตกาล

ฟาโรห์องค์นี้ได้ประกาศว่า หนึ่งในเทพเจ้าของชาวอียิปต์นาม “อาเต็น” (Aten) แท้จริงแล้วเป็นพระเจ้าผู้อยู่สูงสุดและปกครองทุกสรรพสิ่งในจักรวาล องค์ฟาโรห์จึงตั้ง “อาเต็น” เป็นศาสนาประจำชาติและคอยตรวจสอบการบวงสรวงเทพเจ้าองค์อื่นๆ แต่ภายหลังจากฟาโรห์องค์นี้เสด็จสวรรคตชาวอียิปต์ก็กลับไปนับถือเทพเจ้าหลายองค์ตามเดิม

การบุกเบิกครั้งยิ่งใหญ่เกิดในสมัยของศาสนาคริสต์ ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นลัทธิเล็กๆ ของชาวยิวที่ต้องการจะโน้มน้าวคนยิวว่าชายนามจีซัสแห่งนาซาเรธคือผู้มาโปรดที่ชาวยิวเฝ้ารอมานานแสนนาน โดยมีนักบุญพอลแห่งทาร์ซัส (Paul of Tarsus) เป็นตัวตั้งตัวตีในการเผยแผ่คำสอนของจีซัสไปทั่วโลก

อีก 700 ปีต่อมาลัทธิเล็กๆ ในคาบสมุทรอาหรับก็เดินตามรอยศาสนาคริสต์และเผยแผ่ไปได้รวดเร็วกว่าศาสนาคริสต์เสียอีก

คนที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว จะเชื่อว่าคำสอนในศาสนาของตนคือความจริงทั้งหมด จึงมีความอดทนต่ำต่อความเชื่อที่แตกต่าง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาศาสนาเหล่านี้จึงพยายามนำ “คนนอกศาสนา” มาเข้ารีต รวมถึงทำลายศาสนา “คู่แข่ง” ด้วย

ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ก็ได้ผลเป็นอย่างดี สองพันปีที่แล้ว แทบไม่มีใครนับถือศาสนาพระเจ้าองค์เดียวเลย แต่ปัจจุบันมนุษย์ส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่นอกเอเชียตะวันออกล้วนแล้วแต่นับถือศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียว

ในตอนหน้า เราจะมาพูดถึงศาสนาที่ตั้งอยู่บนกฎธรรมชาติ (ศาสนาพุทธ) และ “ศาสนา” ที่บูชามนุษย์อย่างศาสนาคอมมิวนิสต์ และศาสนานาซีครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari  (อ่านรีวิวได้ใน Amazon)

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน
Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
Sapiens ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม
Sapiens ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา
Sapiens ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ

7 thoughts on “Sapiens ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา

  1. ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ และการสรุปย่อเรื่อง Sapiens มาให้อ่านค่ะ (เรื่องนี้ฟังจาก audiobook ทางยูทูบ แล้วตามไม่ทัน มาอ่านจากเว็บของคุณทำให้เข้าใจได้) จะติดตามอ่านเรื่องอื่นไปเรื่อยๆค่ะ

    Like

  2. รอยต่อระหว่างอียิปต์กับคริสยังมีศาสนายิวด้วยนะครับ 2000 BC

    Like

  3. Pingback: Sapiens ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า | Anontawong's Musings

  4. Pingback: Sapiens ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้ | Anontawong's Musings

  5. Pingback: Sapiens ตอนที่ 12 – ศาสนไร้พระเจ้า | Anontawong's Musings

Leave a comment